โซเชียลเดือดกิตติภูมิค้านวาดภาพกราฟฟิตี้ตอม่อสะพานรัษฎา ยันเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ 101 ปี ไม่ควรนำสีมาแต่งแต้ม ขณะที่ผู้ว่าฯสั่งลบ
ภาพวาดลดความขัดแย้งในสังคมลำปาง เผยแนวคิดอยากให้ลำปางเป็นเมืองศิลปะ
ระดมศิลปินกว่า 20 ชีวิตแต่งแต้มกำแพงบ้านเก่าดึงดูดนักท่องเที่ยว
จากกรณีที่มีการวาดภาพสีสันลงบนตอม่อสะพานรัษฎาภิเศก
บริเวณถนนกาดกองต้า ต.หัวเวียง อ.เมือง จ.ลำปาง
ทำให้นายกเทศมนตรีนครลำปาง
ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางเฟสบุ๊กส่วนตัวว่าไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว
เนื่องจากสถานรัษฎาเป็นสะพานที่มีอายุเก่าแก่กว่า 101 ปี
ไม่ควรนำสีสันไปแต่งแต้มแต่อย่างใด
ขณะที่กระแสทางสื่อสังคมออนไลน์ลำปาง ต่างค้านกับความเห็นของนายกเทศมนตรี
เพราะเห็นว่าควรจะมีการวาดภาพสวยงาม ดีกว่าทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า
โดยที่ผ่านมามีกลุ่มคนมือบอนนำสเปรย์สีไปพ่นข้อความในบริเวณดังกล่าว การวาดภาพจึงไม่เห็นว่ามีความเสียหาย
นายกิตติภูมิ
นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง กล่าวว่า
สะพานรัษฎาภิเศกมีประวัติศาสตร์ 101 ปี
กว่าจะมาถึงปัจจุบันนี้ มีเรื่องราวให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้มากมาย แล้วการวาดภาพที่ฐานตอม่อ สามารถไปอธิบายประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสะพานรัษฎาภิเศกได้หรือไม่ ไม่ได้ต่อต้านโครงการของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง แต่ยกเว้นตอม่อสะพานรัษฎาภิเศก
เป็นสะพานที่เป็นประวัติศาสตร์ของลำปาง
รวมไปถึงสถานที่อื่นๆที่เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของลำปางตนก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน
ทางกระแสโซเชียลมีเดียบอกว่า ต้องการความสวยงาม จุดถ่ายรูปส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ที่ผ่านมาสะพานรัษฎาภิเศกเป็นจุดที่สวยงามอยู่แล้ว
ถ้าจะนำรูปภาพอะไรก็ตามไปติดที่ตอม่อของสะพานรัษฎาภิเศกไม่สมควรอย่างยิ่ง เหตุผลที่ต้องออกมาพูด
เพราะถ้าละเลยก็จะถูกมองว่าไม่รักบ้านเมือง ไม่ปกป้องสิ่งดีงามของคนลำปาง จึงต้องรีบออกมาดำเนินการ
ก่อนหน้านี้เทศบาลก็ไม่เคยได้รับการติดต่อประสานงานว่าจะมีการวาดภาพบนฐานตอม่อของสะพานรัษฎาภิเศก
ตอนนี้เป็นเรื่องของผู้ว่าฯว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ซึ่งตนเองได้ทำหน้าที่ของตนแล้ว ตนเองเห็นดีเห็นงามกับโครงการสตรีทอาร์ตของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
แต่ขอให้ทำในสถานที่ที่เหมาะสม
“ผมเองเคยเห็นศิลปะประเภทนี้มาเยอะ
แต่ไม่เคยเห็นที่ไหนเขาเอาโบราณสถาน หรือ สถานที่ทางประวัติศาสตร์มาทำเป็น Street
art ผมพอแล้วไม่ขอแสดงความคิดเห็นใด ๆ อีกแล้ว
เพราะความทันสมัยเป็นเรื่องที่เราปฏิเสธไม่ได้ แต่อย่าลืมว่า
เรามีสิทธิที่จะเลือกได้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร
ถ้าสังคมออนไลน์บอกว่าเหมาะสมก็ให้เป็นเรื่องของทางจังหวัดดำเนินการต่อไป” นายกเทศมนตรี กล่าว
ล่าสุด ทางนายทรงพล
สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้อนุมัติให้มีการลบภาพวาดดังกล่าวออกแล้ว
โดยนายชัยวัฒน์ เคนรัง ผู้จัดการโครงการ "Wall painting /
River street art"
ผู้ออกแบบภาพวาด และจัดหาศิลปินเข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า
เดิมภาพนี้เป็นภาพผลงานของศิลปินทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ ประมาณ 20 กว่าคน มารวมกันไว้ตรงจุดเดียวกัน
ซึ่งหลังจากเกิดกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ลำปาง ที่ค่อนข้างเป็นกลุ่มคนจำนวนมากเกิดการโต้เถียงกันขึ้นเกี่ยวกับความเหมาะสมของภาพวาดดังกล่าว
โดยไม่ว่าจะมีผู้เห็นด้วยกับภาพวาดมากหรือน้อยก็ตาม
แต่เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในสังคมลำปาง
ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีคำสั่งอนุมัติให้มีการลดภาพบริเวณฐานตอม่อสะพานรัษฎาภิเษกออก
โดยใช้วิธีนำน้ำยาลอกสีมาทาทับและขัดสีที่ใช้วาดออกทั้งหมด
จากนั้นจะนำสีขาวทาทับลงไปให้พื้นเป็นสีขาวเหมือนเดิม ส่วนภาพนี้จะมีการโยกย้ายไปวาดใหม่ บริเวณด้านหลังจวนผู้ว่าฯแทน
ในส่วนของพื้นที่อื่นๆซึ่งเป็นกำแพงบ้านเรือนของประชาชนได้มีการพูดคุยกับเจ้าของบ้านและมีการเซ็นยินยอมกันเรียบร้อยหมดแล้ว ในจุดตอม่อสะพานรัษฎานี้ตนเองก็ไม่ทราบว่าเกิดจากปัญหาใด
เพราะก่อนที่จะทำให้มีการมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ประสานงานกับทางเทศบาลแล้ว
แต่กลับไม่มีการประสานงานกันจึงเกิดปัญหาขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม
ทางกลุ่มศิลปินก็จะยังคงเดินทางสร้างสรรค์งานศิลปะในจุดอื่นๆต่อไปจนเสร็จ
ทั้งนี้ หลังจากลบภาพดังกล่าวออกจากฐานของสะพานรัษฎาภิเศก
ก็ยังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันไม่จบสิ้น เนื่องจากนายกิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรี
ได้มีการลบข้อความที่ได้โพสต์ไม่เห็นด้วยกรณีการวาดบริเวณฐานสะพานรัษฎาภิเศกออกไปจากเฟชบุ๊กส่วนตัว
พร้อมกันนี้ทางกลุ่มโซเชียลยังได้สืบค้นโครงการต่างๆที่นายกเทศมนตรียังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ
เช่น ศาลหลักเมือง มิวเซียมลำปาง บอกให้นายกเทศมนตรีกลับไปดำเนินการให้เสร็จก่อนที่จะมาคัดค้านในเรื่องนี้
เพราะประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการวาดภาพดังกล่าว
และยังมีการนำภาพจากสะพานเบอร์ลินมาเปรียบเทียบว่าเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์เช่นกัน
แต่ก็ยังมีการวาดภาพศิลปะลงไปได้ รวมไปถึงภาพเปรียบเทียบของฐานตอม่อสะพานรัษฎาเมื่อครั้งยังไม่ได้มีการวาดภาพกราฟฟิตี้
ก็มีกลุ่มคนมือบอนนำสเปรย์มาพ่นสีวาดภาพใต้ฐานสะพานรัษฎาจำนวนมาก เมื่อวาดภาพแล้วทำให้ดูสวยงามขึ้น
และมีประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ยังอาจจะสั่นคลอนไปถึงเก้าอี้นายกเทศมนตรีอีกด้วย
เนื่องจากมีประชาชนหลายคนที่แสดงความคิดเห็นในทิศทางว่าไม่ต้องการนายกเทศมนตรีที่มีวิสัยทัศน์คับแคบ
สำหรับ โครงการ
“สตรีทอาร์ต” นายทรงพล
สวาสดิ์ธรรม เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว
เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
ซึ่งได้พัฒนาย่านเมืองเก่าสงขลาให้เป็นสตรีทอาร์ตมีภาพปรากฏอยู่ริมถนนหลายสาย
แต่ละภาพจะเป็นการวาดภาพวิถีชีวิตคนสงขลาที่มีความสวยงาม โดยเฉพาะภาพชาย 3 คน
กำลังนั่งดื่มน้ำชา อ่านหนังสือพิมพ์ พูดคุยกันอย่างมีความสุข
ผลงานจิตกรรมรอยแตกของผนังอิฐ อาคารเก่าคลาสสิกสไตล์ชิโนโปรตุกีส อายุเกือบ 100 ปี
ซึ่งจำลองบรรยากาศร้านน้ำชาชื่อ "ฟุเจา" ของเมืองสงขลาในอดีต
ศิลปะแนวสตรีทอาร์ตชิ้นแรกในย่านเมืองเก่า กลายเป็นจุดขายใหม่ของเมืองสงขลา
ที่นักท่องเที่ยวพากันไปถ่ายรูปในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก
ส่วนโครงการ
“ รีเวอร์สตรีทอาร์ต” ตามแคมเปญ “ลำปาง
ปลายทางฝัน” ภายใต้ปฏิบัติการ “เดินหน้าลำปาง
สร้างสรรค์ปันสุข” 2561 บริเวณริมแม่น้ำวังฝั่งใต้ ระยะจากบริเวณสะพานช้างเผือกถึงบริเวณสะพานรัตนโกสินทร์
200 ปี และพื้นที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันในเขตเทศบาลและแหล่งท่องเที่ยวกาดกองต้า
ให้กลายเป็นจุดถ่ายภาพ นายทรงพล
สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้มีแนวคิดสร้างจุดสนใจและสีสันของการท่องเที่ยวในเขตตัวเมืองลำปางใหม่ๆ
ได้จัดสรรงบประมาณ
ตามแนวตามนโยบายด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวตามแผนงานส่งเสริมและพัฒนาจังหวัดลำปางและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ
วาระส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดลำปางเชิงสร้างสรรค์แบบบูรณาการ
ซึ่งมีสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปางเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลรับผิดชอบโครงการ
ในการจัดทำภาพเขียนสีและประติมากรรม บริเวณพื้นที่เป้าหมาย ตามกิจกรรมปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเดิมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม
สอดคล้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาท่องเที่ยวในเขตเมืองนานขึ้น
โอกาสในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นสีสันและ
นันทนาการการพักผ่อนของคนในชุมชน
โดยโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการวาดภาพเขียนสีตามผนัง
กำแพง และรั้ว ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเจ้าของบ้าน
อาคารหรือหน่วยงานท่องเที่ยวแก่ผู้ประกอบการในท้องถิ่น
เพื่อใช้เป็นพื้นที่สื่อภาพวาดเกี่ยวข้องกับไก่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดลำปาง
แบบไลฟ์สไตล์ร่วมสมัยหลากหลายแนว รวมถึงประติมากรรมงานปั้นทำจากโลหะผสม
เกี่ยวกับคนและไก่ที่สื่อถึงอัตลักษณ์ลำปาง
และยังเป็นกิจกรรมวาดภาพที่เกิดการมีส่วนร่วมของศิลปินในท้องถิ่นและนักศึกษาในพื้นที่
ตลอดจนเจ้าของบ้าน คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกภาพและสะท้อนมุมมอง
ความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 นี้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น