วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

สูดหรือดูด = เสี่ยงมะเร็งปอด

จำนวนผู้เข้าชม url and counting visits

“คนสูบบุหรี่ 1 คน พ่นควันพิษให้กับคนอื่นอีก 9 คน” คนที่สูบ 20 มวนต่อวัน ยิ่งมีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น ไม่เว้นแม่แต่พ่อที่สูบบุหรี่ขณะอยู่กับลูก ซึ่งอาจทำให้ลูกมีโอกาสป่วยเป็นหอบหืดถึงร้อยละ 20 - 40 ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ชนิดใด ๆ ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งนั้น เพราะมีสารพิษ ได้แก่ นิโคติน ทาร์ และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ 


ทั้งนี้ มีการพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่า “การสูบบุหรี่”  มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอดซึ่งผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 20-30 เท่า ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนและระยะเวลาที่สูบบุหรี่ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่จำเป็นต้องสูดควันบุหรี่จากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรือในบริเวณอับที่มีควันบุหรี่อยู่ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติถึง 1.2-1.5 เท่า  นอกจากนี้ ยังพบว่าการได้รับสารบางอย่างก็ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ด้วย เช่น ควันรถ มลภาวะในอากาศ สารแอสเบสตอส ซีลีเนียม

ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งปอดมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยที่เป็นในระยะเริ่มแรกจะสามารถรับการรักษาจนหายขาดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ยังพบว่าปัญหาใหญ่ของการรักษาโรคนี้อยู่ที่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์เมื่อเกิดการลุกลามและแพร่กระจายของเชื้อมะเร็งในร่างกายแล้ว นั่นเพราะหากป่วยในระยะเริ่มแรกมักจะไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยจึงไม่รู้ตัวว่าเกิดความผิดปกติในร่างกาย ซึ่งวิธีการรักษามีหลายวิธีดังนี้

           1. การวินิจฉัยในระยะแรกเริ่ม  แม้ว่าการตรวจเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะเพื่อหาเซลล์มะเร็งเป็นประจำทุกปีในผู้ที่มีความเสี่ยง จะไม่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ แต่ในผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งในระยะแรกเริ่มจะมีผลการรักษาที่ดีกว่า  ดังนั้น ในบางประเทศก็ยังแนะนำให้ใช้การตรวจชนิดนี้อยู่  นอกจากนี้ ยังมีความพยายามใช้การเอกซเรย์ที่มีความละเอียดสูงขึ้นร่วมกับการย้อมเสมหะด้วยวิธีพิเศษที่จะทำให้เห็นเซลล์ผิดปกติได้ง่ายขึ้นซึ่งแม้จะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังมีข้อจำกัดในการนำมาใช้กับประชากรทั่วไป
           2. การผ่าตัด นับเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน แต่จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อระยะของมะเร็งนั้นเป็นไม่มาก และไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง ขั้วปอด หรือกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ การพัฒนาเทคนิคของการผ่าตัดให้มีแผลผ่าตัดที่เล็กลงจากการส่องกล้องและใช้การผ่าตัดแบบสงวนปอด ช่วยให้ผู้ป่วยทนต่อการผ่าตัดได้ดีขึ้นและสามารถฟื้นจากการผ่าตัดได้อย่างรวดเร็ว
          3. ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีประโยชน์ทั้งเป็นการป้องกันการกลับเป็นใหม่และลดอาการที่เกิดจากโรค การค้นพบยาชนิดใหม่ ๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อยลงและได้ผลต่อโรคมากขึ้นและมียาบางชนิดสามารถให้ได้โดยการรับประทาน   ทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกมากขึ้น
          4. การฉายรังสี ยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคการฉายรังสีที่ทำให้ก้อนมะเร็งได้รับรังสีในขนาดที่สูงขึ้น โดยที่อวัยวะรอบข้างไม่ได้รับผลกระทบจากรังสีชนิดนั้น ๆ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีขึ้น เพราะผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียง
          5. การรักษาประคับประคอง เป็นวิธีที่พยายามช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงคนปกติที่สุด โดยอาศัยการควบคุมอาการต่าง ๆ ของโรค เช่น อาการเหนื่อย  ไอจนถึงขั้นไอเป็นเลือด ซึ่งทำได้โดยการดูแลสุขภาพพื้นฐานให้ดีที่สุด
           อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะสามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ แต่บุคคลกลุ่มนี้ก็ยังจะมีอัตราการเกิดโรคมะเร็งปอดที่สูงอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ในอดีต ดังนั้นการรณรงค์ให้มีการตรวจร่างกายเป็นประจำโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ที่มีอาการผิดปกติทางการหายใจ เช่น มีอาการไอเรื้อรัง ไอจนเป็นเลือด อาจทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอดในระยะต้นซึ่งจะทำให้ผลการรักษาดีขึ้น


บทความโดย ผศ.นพ.แจ่มศักดิ์  ไชยคุนา
ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ด้วยความปรารถนาดีจาก โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง “ใส่ใจค้นหา บำบัดรักษาโรคมะเร็งให้คุณ”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 054 335262-8 ต่อ 187 , 160

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1177 วันที่ 4 - 10 พฤษภาคม 2561) 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์