ปรากฏการณ์เงาพระธาตุที่ทำให้วัดในจังหวัดลำปางกลายเป็นหมุดหมายหนึ่งที่ผู้มาเยือนปักหมุดไว้
เพื่อให้ได้มาสัมผัส มาดูด้วยตาสักครั้ง
ปรากฏการณ์นี้ในสมัยโบราณอาจดูเป็นเรื่องมหัศจรรย์
หากแต่สามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์
เงาพระธาตุเป็นภาพสะท้อนจากภายนอกที่เรียกว่า
Camera
Obscura คือ ปรากฏการณ์หักเหของแสงในหลักการเดียวกันกับกล้องรูเข็ม แบบที่เราเคยทำการทดลองสมัยเรียนวิชาวิทยาศาสตร์
กล้องรูเข็มนี้ใช้กระดาษสีดำปิดปลายด้านหนึ่งแล้วเจาะรูเล็กๆไว้ ส่วนปลายอีกด้านปิดกระดาษไข
จากนั้นเอากล้องไปส่องกับเทียนไข ก็จะปรากฏภาพเทียนไขหัวกลับให้เห็นบนกระดาษไข
การปรากฏของเงาพระธาตุก็คล้ายกับกล้องรูเข็ม
คือ ตัววิหารที่มืดสนิทเป็นตัวกล้อง รูบนผนังคือรูบนกล้อง ส่วนผ้าขาวที่รับภาพคือกระดาษไข
และที่เป็นภาพหัวกลับได้ ก็เพราะรูเล็ก ๆ บนกล้อง หรือที่ผนัง ทำหน้าที่เหมือนเลนส์กล้องถ่ายภาพ
บีบบังคับให้แสงหักเห เกิดภาพกลับในทิศทางตรงกันข้ามกับของจริง ส่วนยอดมาอยู่ล่าง
ส่วนล่างกลับไปอยู่บน
กล้องรูเข็มนี้
ค้นพบโดยชาวอาหรับเมื่อ 3,000
กว่าปีมาแล้ว โดยเขาสังเกตเห็นภาพอูฐเดินหัวกลับบนผนังกระโจมด้านที่อยู่ตรงกันข้าม
ดูเป็นทฤษฎีง่ายๆ
ไม่ซับซ้อนอะไร ทว่าความแปลกมหัศจรรย์ของการเกิดเงาพระธาตุนั้น อยู่ตรงความเหมาะเจาะในระยะห่างระหว่างองค์พระธาตุกับวิหาร
อุโบสถ หรือมณฑป โดยเฉพาะตำแหน่งของรูเล็ก ๆ บนผนัง ซึ่งต้องอยู่ในระดับความสูงพอดิบพอดีที่จะทำให้เกิดภาพในสถานที่นั้นๆ
ถ้ารูอยู่สูงหรือต่ำเกินไป ก็อาจไม่มีใครสังเกตเห็น อีกทั้งรูยังต้องมีขนาดพอเหมาะจริงๆ
ถ้าเล็ก หรือใหญ่เกินไป คงไม่ได้เห็นเช่นกัน
เรียกได้ว่า
การเงาพระธาตุนั้น ขึ้นอยู่กับความลงตัวของหลายปัจจัยเลยทีเดียว
ซึ่งเงาพระธาตุเมืองลำปางเรายังซับซ้อนเข้าไปอีก เพราะมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบหัวกลับ
หัวตั้ง และซ้อนชั้น
เงาพระธาตุที่
วัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งโด่งดังเลื่องชื่อจนเป็น Unseen in Thailand ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยมีอยู่ถึง 2 แห่ง แห่งแรก คือ ภายในมณฑปพระพุทธบาท (เข้าชมได้เฉพาะผู้ชาย) เวลาเข้าชมต้องปิดประตูให้สนิท
แสงจากภายนอกจะลอดผ่านรูเล็กๆบนผนังเข้ามา โดยทางวัดได้นำผืนผ้าสีขาวมาวางรับภาพไว้
เราจึงเห็นเงาพระธาตุและเงาพระวิหารในลักษณะหัวกลับปรากฏอย่างคมชัดสวยงาม
รวมทั้งภาพผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาด้วย
เงาพระธาตุหัวกลับนี้
ถูกค้นพบโดยบังเอิญเมื่อปี พ.ศ. 2541 โดยพระที่เข้าไปทำความสะอาดภายในมณฑป
อย่างไรก็ตาม
ผู้หญิงสามารถเข้าไปดูได้ในวิหารพระพุทธ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน โดยเงาพระธาตุที่ลอดผ่านรูผนังมาปรากฏบนผืนผ้าภายในวิหารพระพุทธนั้น
เป็นเงาพระธาตุหัวตั้งที่มีสีสันเหมือนพระธาตุองค์จริงทุกอย่าง เพียงแต่ไม่ชัดเจนเท่ากับในมณฑปพระพุทธบาทเท่านั้น
นอกจากนี้ ความมหัศจรรย์เงาพระธาตุหัวกลับยังมีให้เห็นตามวัดอีกหลายแห่งในเมืองลำปาง
วัดพระธาตุจอมปิง อำเภอเกาะคา
เป็นอีกวัดหนึ่งที่ชื่อเสียงในเรื่องเงาพระธาตุที่กล่าวกันว่ามีความสวยงามและชัดเจนกว่าทุกที่
โดยเงาพระธาตุจะปรากฏให้เห็นภายในอุโบสถ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระธาตุเจดีย์สีเหลืองทอง
ทั้งนี้ หน้าต่างของอุโบสถจะมีรูเล็กๆ ที่แสงลอดเข้ามาทำให้เกิดเงาพระธาตุทาบลงบนพื้นตลอดเวลาที่มีแสง
ต่อมาทางวัดได้นำกรอบผ้าขาวมาเป็นฉากรับภาพให้เห็นได้ชัดขึ้น โดยมีขนาดและสีเหมือนพระธาตุองค์จริงอย่างน่าทึ่ง
สำหรับวัดที่ปรากฏเงาพระธาตุให้เห็นมากที่สุดถึง
5
เงา คือ วัดพระธาตุดอยน้อย อำเภอเกาะคา ที่นี่ปรากฏเงาพระธาตุในวิหารหลังเปียง
โดยปรากฏอยู่ทางฝั่งขวาของวิหารในกรอบเดียวกันถึง 5 เงา ลักษณะเป็นเงาของพระธาตุหัวตั้งซ้อนกันเป็นชั้น
ๆ 4 เงา และเงาที่ด้านข้างเล็ก ๆ ส่วนบนอีก 1 เงา ส่วนทางฝั่งซ้ายยังปรากฏเงาพระธาตุหัวตั้งอีก 1 เงา
และมีความชัดเจน ทั้งนี้ องค์พระธาตุที่ปรากฏเงาให้เห็นนั้น
ตั้งอยู่ทางด้านหลังของวิหาร องค์พระธาตุมีสีดำ ส่วนยอดมีสีทองอร่าม
มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับองค์พระธาตุลำปางหลวง
เงาพระธาตุที่วัดพระธาตุดอยน้อยถูกค้นพบอย่างบังเอิญโดยเจ้าอาวาสเมื่อปี
พ.ศ. 2548
ขณะท่านนั่งสมาธิอยู่ในวิหารแล้วเห็นเงาของนกที่บินไปมาทางด้านนอก
จึงนำผ้าขาวมาขึงตรงที่มีรูบริเวณหน้าประตู ก็เห็นเงาพระธาตุ หลังจากนั้นท่านได้ไปดูเงาพระธาตุที่วัดพระธาตุจอมปิง
ซึ่งก็ปรากฏว่าเป็นเงาพระธาตุในลักษณะเดียวกัน
วัดอักโขชัยคีรี อำเภอแจ้ห่ม
ก็ปรากฏเงาพระธาตุให้เห็นในวิหารพระยืน โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนทางทิศตะวันออกเสมอ
แม้ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนคล้อยไปทางใดก็ตาม เงาพระธาตุก็จะปรากฏให้เห็นในตำแหน่งเดิมเสมอ
ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “เงาพระธาตุศักดิ์สิทธิ์”
เทคนิคในการชมเงาพระธาตุ
ก็คือ ช่วงใกล้เที่ยงนับเป็นเวลาที่ดีที่สุดในการดูเงาพระธาตุ
และภายในวิหารต้องมืดสนิทด้วย
เงาพระธาตุที่วัดลำปางยังมีอีกหลายแห่งที่รอผู้มาเยือนไปเยี่ยมชมความงาม
เพราะลำปาง....ปลายทางฝัน ยังมีปลายทางที่หลากหลายให้เราไปชื่นชมความสวยงาม
“ลำปาง...เมืองต้องห้ามพลาด”
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1177 วันที่ 4 - 10 พฤษภาคม 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น