วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ลำปาง...เมืองไก่ขาว เสน่ห์เมืองเขลางค์

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

ทำไมลำปางต้องมีไก่ขาวเป็นสัญลักษณ์ เครื่องหมายดวงตราประจำจังหวัดลำปาง

ไก่ขาวหรือไก่เผือกซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับตำนาน "กุกกุฎนคร" ที่แปลว่าเมืองไก่ขัน เรื่องราวเล่าขานถึงการกำเนิดของเมืองลำปาง มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ทรงประทับแรมที่เมืองลำปาง เมื่อพระอินทร์ได้ทราบข่าวจึงแปลงกายเป็น ไก่ขาวเพื่อคอยขันปลุกพระพุทธเจ้าให้ตื่นขึ้นมาปฏิบัติภารกิจ จะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า และเกรงว่าชาวบ้านชาวเมืองจะตื่นใส่บาตรพระพุทธเจ้าไม่ทัน จึงเนรมิตตนเองเป็นไก่ขาว คอยขันปลุกชาวบ้านชาวเมืองให้รีบหุงหาอาหารเพื่อใส่บาตรและให้ทราบว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องตื่น เพื่อทำงานตามหน้าที่ ที่ตนเองรับผิดชอบ

ถ้าสังเกตเครื่องหมายตราประจำจังหวัดลำปาง จะเห็นว่ามีรูปไก่ขาวเป็นสัญลักษณ์สำคัญยืนอยู่ในซุ้มมณฑปพระธาตุลำปางหลวง หมายถึง "ไก่เผือก" เป็นสัญลักษณ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยเมืองกุกกุฎนคร ส่วนซุ้มมณฑปที่วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นศิลปกรรมล้านนาที่งดงามมาก  อีกทั้งวัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองลำปางมีองค์พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าและเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก และเครื่องหมายไก่ขาวคู่กับดวงตราแผ่นดินในสมัยศาลากลางหลังแรก ในปี พ.ศ.2452

นอกจากนี้หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า แล้วที่เรียกลำปางว่า เขลางค์นครละ มันมีที่มามาจากไหนกัน ซึ่งคาดว่าคนลำปางส่วนหนึ่งก็อาจไม่รู้เรื่องราวชื่อเรียกเมืองลำปาง

จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดที่มีความเก่าแก่และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาแล้วไม่น้อยกว่า 1,300 ปี ตั้งแต่สมัยหริภุญชัย (พระนางจามเทวี) คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 13 ชื่อของเมืองเขลางค์อันเป็นเมืองในยุคแรกๆ และเมืองนครลำปาง ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ทั้งจากตำนานศิลาจารึกพงศาวดาร และจากคำที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปอย่างแพร่หลาย ได้แก่ตำนานจามเทวี ชินกาลบาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเจ้าเจ็ดตน พงศาวดารโยนก

คำว่า “ละกอน” หรือ “ละคร” (นคร) เป็นชื่อสามัญของเมืองเขลางค์ที่นิยมเรียกกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในตำนานและภาษาพูดโดยทั่วไป แม้แต่จังหวัดใกล้เคียงเช่น แพร่ น่าน เชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ มักจะเรียกชาวลำปางว่า จาวละกอนซึ่งหมายถึง ชาวนคร คำว่าละกอนมีชื่อทางภาษาบาลีว่า เรียกว่า “เขลางค์” เช่นเดียวกับ ละพูรหรือลำพูน ซึ่งทางภาษาบาลีเรียกว่า “หริภุญชัย” และเรียกลำปางว่า “ลัมภกัปปะ” 

ดังนั้น เมืองละกอนจึงหมายถึง บริเวณอันเป็นที่ตั้งของเมืองเขลางค์ คือเมืองโบราณรูปหอยสังข์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง ใน ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง

ส่วนคำว่า “ลำปาง” เป็นชื่อที่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดแจ้งในตำนานพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “ลัมภกัปปนคร” ตั้งอยู่บริเวณลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศใต้ตามแม่น้ำวังประมาณ 16 กิโลเมตร อันเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน ตัวเมืองลัมภกัปปนครมีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่

ตามตำนาน วัดพระธาตุลำปางหลวง (ฉบับสาขาสมาคม เพื่อการรักษาสมบัติวัฒนธรรมประจำจังหวัดลำปาง) ได้กล่าวถึงเรื่องราวของเมืองลำปางไว้ว่า

“พระพุทธเจ้าได้เสด็จด้วยลำดับบ้านใหญ่เมืองน้อยทั้งหลาย พระพุทธเจ้าไปรอดบ้านอันหนึ่งชื่อ ลัมพการีวัน พระพุทธเจ้านั่งอยู่เหนือดอยม่อนน้อย สูงสะหน่อย ยังมีลัวะ ชื่ออ้ายคอน มันหันพระพุทธเจ้า เอาน้ำผึ้งใส่กระบอกไม้ป้างมาหื้อทานแก่พระพุทธเจ้า กับหมากพ้าว 4 ลูก พระพุทธเจ้ายื่นบอกน้ำผึ้งหื้อแก่มหาอานนท์ถอกตกปากบาตร พระพุทธเจ้าฉันแล้ว ชัดบอกไม้ไปตกหนเหนือ แล้วพระพุทธเจ้าทำนายว่า สถานที่นี้จักเป็นเมืองอันหนึ่งชื่อ “ลัมภางค์”

ดังนั้นนามเมืองลำปาง จึงหมายถึงชื่อของเมืองอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน

จังหวัดลำปางเดิมชื่อ "เมืองนครลำปาง" จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ ศิลาจารึก เลขทะเบียน ลป.1 จารึกเจ้าหมื่นคำเพชรเมื่อ พ.ศ.2019 และศิลาจารึกเลขทะเบียน ลป.2 จารึกเจ้าหาญสีทัต ได้จารึกชื่อเมืองนี้ว่า “ลคอร” ส่วนตำนานชินกาลมารีปกรณ์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเมืองเชียงแสน ตลอดจนพงศาวดารของทางฝ่ายเหนือ ก็ล้วนแล้วแต่เรียกชื่อว่า เมืองนครลำปาง แม้แต่เอกสารทางราชการสมัยรัตนโกสินตอนต้น ก็เรียกเจ้าเมืองว่า พระยานครลำปาง นอกจากนี้จารึกประตูพระอุโบสถวัดบุญวาทย์วิหาร ก็ยังมีข้อความตอนหนึ่งจารึกว่า เมืองนครลำปาง แต่เมื่อมีการปฏิรูปบ้านเมืองจากมณฑลเทศาภิบาลเป็นจังหวัด ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 ปรากฏว่า ชื่อของเมืองนครลำปาง ได้กลายมาเป็นจังหวัดลำปาง มาจนกระทั่งทุกวันนี้

ไม่ว่าจะกี่ชื่อเรียกขาน กี่ตำนานเรื่องเล่า เหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องราวและเสน่ห์ที่ทำให้ลำปางเป็นเมืองที่น่าค้นหา หาใช่เป็นแค่เมืองผ่านและเมืองที่ไม่หมุนไปตามกาลเวลา เพราะคุณจะหลงรักลำปางหากได้มาเยือนสักวัน


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1180 วันที่ 25 -31 พฤษภาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์