
ปัญหาสับปะรดเรื้อรังนับ
10 ปี เกษตรกรลำปางช้ำหนัก เจอปัญหาซ้ำซ้อน ราคาต่ำเหลือกิโลกรัมละ 1 บาทก็ยังไม่มีคนมารับซื้อ
และยังพบปัญหารถกระบะผู้รับซื้อสับปะรดถูกตำรวจจับปรับ พ.ร.บ.จราจร ทำให้ไม่มีใครอยากมาซื้อ
วอนส่วนราชการช่วยหาทางออก ขณะที่จังหวัดลำปางจัดงานเทศกาลสับปะรดช่วยระบายผลผลิต
ในพื้นที่
อ.เมือง จ.ลำปาง มีพื้นที่ปลูกสับปะรด 21,971
ไร่ เกษตรกร 1,622
ราย ซึ่งขณะนี้ผู้ปลูกสับปะรด
ยังประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกษตรกร ต.บ้านเสด็จ อ.เมืองลำปาง
ต้องตัดสับปะรดออกจากสวนทุกวันเพื่อนำมาวางขายริมทาง เพราะหากไม่ตัดออกมาสับปะรดก็ต้องเน่าคาต้น โดยบริเวณถนนซุปเปอร์ไฮเวย์สายลำปาง-งาว
เริ่มตั้งแต่เข้าเขตพื้นที่ ต.บ้านเสด็จ อ.เมืองลำปาง จะเห็นว่าทั้งสองฝากฝั่ง
จะมีชาวสวนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด นำผลผลิตสับปะรดผลสดมาวางขายเรียงรายตลอดเส้นทางยาวหลายกิโลเมตร
ซึ่งจะขายกิโลกรัมละ 1 บาทเท่านั้น
ส่วนสับปะรดน้ำผึ้งจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 3-5 บาท แต่แทบจะไม่มีผู้สนใจเข้ามาจอดรถเลือกซื้อ
ทำให้บรรยากาศเงียบเหงาเป็นอย่างมาก แม้ทางภาครัฐทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือแก้ไข
แต่ปรากฏว่า ปัญหาดังกล่าวก็ไม่คลี่คลายลง อีกทั้งยังพบว่าราคาตกต่ำมากที่สุดในรอบหลายสิบปี
ซึ่งในปีนี้ราคาส่งโรงงานอยู่ที่ กิโลกรัมละ 70 สตางค์ แต่ทางโรงงานก็ยังรับซื้อไม่หมดและขณะนี้ก็ไม่รับซื้อแล้ว
นางไหว
สุขยิ่ง เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด บ้านห้วยยาง หมู่ 6 ต.บ้านเสด็จ อ.เมืองลำปาง กล่าวทั้งน้ำตาคลอว่า
ผลผลิตสับปะรดที่ตนเองปลูกมีประมาณ 20 ไร่ ตั้งแต่ต้นฤดูกาลเก็บผลผลิตปี 2561
ก็ประสบปัญหาคาคาตกต่ำมาโดยตลอด
แม้ทางจังหวัดจะเข้ามาจัดกิจกรรมและเข้ามาช่วยเหลือ แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงทั้งหมดเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกสับปะรด
ผลผลิตออกมาแต่ละครั้งหลายสิบตัน ทางจังหวัดเข้ามาช่วยเหลือ บางครั้ง 500
กิโลกรัมต่อ 1 ครัวเรือน ก็เท่ากับได้เงิน 500 บาท
ที่เหลือผลผลิตหลายสิบตันก็ต้องหาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ตนและครอบครัว รวมทั้งเพื่อนบ้านได้นำสับปะรดผลสดมาวางจำหน่ายที่สองข้างถนน
เพื่อที่จะได้มีรายได้เข้ามาช่วยเหลือครอบครัวและผ่อนปรนหนี้สินได้บ้าง
โดยที่ผ่านมาได้มีพ่อค้าแม่ค้าจาก
จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน เข้ามาซื้อสับปะรด โดยใช้รถยนต์กระบะ หากไม่ติดโครงเหล็กด้านหลัง
ก็จะบรรทุกได้ครั้งละ 800-1,000 กิโลกรัม แต่หากติดโครงเหล็กหลังกระบะ
ก็จะบรรทุกสับปะรดได้ครั้งละ 1,500-2,000
กิโลกรัม เพื่อที่จะให้คุ้มค่ากับการขนส่งและช่วยเหลือเกษตรกรไปด้วย
แต่ทว่า กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อโดยใช้รถยนต์กระบะ
ต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร จับกุม ในเรื่อง พ.ร.บ.จราจรทางบก ถูกปรับครั้งละ
300-400 บาท ทำให้ไม่มีใครอยากมาซื้อสับปะรดลำปาง
เพราะถูกตำรวจจับ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ลดจำนวนลงและบางคนไม่มาอีกเลย เพราะไม่คุ้มค่าทั้งการเดินทางและต้องมาถูกจับเสียค่าปรับ
นางไหว
สุขยิ่ง เกษตรกรผู้ปลูกสับปะระบ้านห้วยยาง จึงขอวิงวอนร้องผ่านขอให้ทางสวนราชการที่เกี่ยวข้องหรือใครก็ตามที่มีอำนาจ
ช่วยหาทางออกหรือหาทางผ่อนปรนในเรื่องการบรรทุกสับปะรด ในช่วงนี้ออกไปก่อน เพราะนอกจากราคาสับปะรดตกต่ำแทบขายไม่ออกแล้ว ยังต้องมาเจอปัญหาในเรื่องนี้อีกอยากให้ช่วยหาทางออกร่วมกันด้วย
เช่นเดียวกับ
นายเกษม จันทร์สืบ เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด บ้านเสด็จ หมู่ 5 ต.บ้านเสด็จ ที่ประสบปัญหาเดี่ยวกันคือ
ราคาตกต่ำกิโลกรัมละ 1 บาท
แต่ก็ต้องมาเจอปัญหาพ่อค้าคนกลางไม่มารับซื้อเพราะกลัวถูกจับและเสียค่าปรับไม่คุ้มค่าการมารับซื้อสับปะรดไปขาย
จึงขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยหาทางออกร่วมกันด้วย
เพราะทุกวันนี้หากมีพ่อค้าคนกลางขับรถยนต์กระบะมารับซื้อ
ทางเกษตรกรชาวสวนก็ช่วยเหลือกันโดยได้
นำสับปะรดของแต่ละเจ้ามาเฉลี่ยขายให้พ่อค้าคนกลาง
ร่วมกันเพื่อเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันไปก่อน

สำหรับปัญหาสับปะรดล้นตลาดราคาตกต่ำ
เกิดขึ้นมานานนับ 10 ปีแล้ว โดยที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งที่เกิดปัญหาในช่วงเดือน
พ.ค.-มิ.ย. ของทุกปี โดยช่วงเดือน มิ.ย.
ปี 2549 จังหวัดลำปางได้ช่วยเหลือซื้อสับปะรดทั้งหมด 24 ตัน
โดยจัดส่งให้ช้าง 4 ตัน ที่เหลือ 20 ตัน ทำลายทิ้งหมด โดยวิธีการขุดหลุมขนาดใหญ่และฝังกลบเพื่อให้สับปะรดสลายเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติ
ปี 2549
นายมัธยม นิภาเกษม ประธานชมรมเฮาฮักลำปาง ในขณะนั้น
ได้เปิดจุดรับซื้อสับปะรดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดที่มีผลผลิตล้นตลาด
และราคาตกต่ำ ในพื้นที่ตำบลบ้านเสด็จ อ.เมืองลำปาง
โดยเปิดซื้อสับปะรดในปริมาณ 100,000 กิโลกรัม
ในราคาเท่ากับรัฐบาลที่มีการรับซื้อ กิโลกรัมละ 1 บาท
ค่าขนขึ้นรถกิโลกรัมละ 10 สตางค์
และค่าบริหารการจัดการของสหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรดลำปางกิโลกรัมละ 10 สตางค์
ในวันที่สองของการเปิดจุดรับซื้อได้มีพ่อค้าแม่ค้ากลุ่มหนึ่ง ประมาณ 20
คน มาขับไล่ เหตุจากมีพ่อค้าจากต่างจังหวัดเข้ามาขอซื้อสับปะรดไปขาย
จำนวน 3 ตัน ที่จุดรับซื้อ
เนื่องจากไม่อยากไปตระเวนหาซื้อหลายที่
ทำให้แม่ค้าในกลุ่มบริเวณนั้นไม่พอใจและได้มาประท้วง
จึงต้องปิดจุดรับซื้อไป
ต่อมาในช่วงเดือน พ.ค. ปี 2554 กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในพื้นที่
ต.บ้านเสด็จ ต.บ้านแลงและ ต.บุญนาคพัฒนา อ.เมืองลำปาง กว่า 100
คนได้ถือผลสับปะรดมาเรียกร้องให้ทางจังหวัดเข้าช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร
เนื่องจากขณะนี้ผลผลิตออกมาแล้วแต่ไม่มีตลาดรับซื้อทำให้ผลผลิตเสียหาย ขายได้ในราคาเพียง 2.80 บาทต่อผล ขาดทุนกันเป็นจำนวนมาก การแก้ไขเบื้องต้น
ทางท้องถิ่นจังหวัดลำปางได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยัง อบต. และเทศบาลทุกแห่ง
ให้จัดงบรับซื้อสับปะรดในครั้งนี้ก่อนรวมกว่า 500 ตัน
เดือน พ.ค.ปี 2555 ม็อบชาวไร่สับปะรด จ.ลำปางกว่า 500 คน ปิดถนน สายลำปาง-พะเยา
จี้รัฐช่วยรับซื้อ เกษตรกรชาวไร่สับปะรดยืนยันให้รัฐบาล
มารับซื้อผลผลิตสับปะรดในพื้นที่ โดยให้รับซื้อเต็มราคา
หรือต้องไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 3 บาท
เนื่องจากขายผลผลิตสับปะรด ได้เพียงกิโลกรัมละ 2 บาท
เท่านั้น
ปี 2560
ราคาสับปะรดขายส่งเป็นกิโลกรัม เนื้อหวานปกติยังคงอยู่ที่กิโลกรัมละ
1.50-2 บาท
ส่วนเนื้อน้ำผึ้งกิโลกรัมละ 4-5 บาท เท่านั้น ซึ่งราคาไม่ต่างจากปีนี้มากนัก
แต่ยังดีกว่าคือมีรถเข้ามารับซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยจังหวัดลำปางได้เร่งให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด
โครงการ “คนลำปางไม่ทิ้งกัน” โดยจัดหาสถานที่วางจำหน่ายให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งประสานขอความร่วมมือไปยัง
อบจ. เทศบาล และ อบต. ในพื้นที่ ช่วยสนับสนุนและจัดหาตลาดให้กับเกษตรกร โดยทำหนังสือถึงจังหวัดใกล้เคียงขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์และรับซื้อสับปะรดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
ซึ่งมีหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ช่วยรับซื้อสับปะรด
นำมาแจกจ่ายให้ประชาชน
สามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น
ทั้งนี้
มีเพียงปี 2558 เท่านั้น
ที่สับปะรดราคาพุ่งสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 10-12 บาท
ซึ่งเป็นรอบ 40 ปีก็ว่าได้
แต่ต่อมาก็ราคาตกต่ำลงไม่เกินกิโลกรัมละไม่เกิน 5
บาทเท่านั้น ซึ่งปัญหานี้ยังไม่สามารถแก้ไขได้จนถึงปัจจุบัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น