วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ปันสุขบ้านแม่ช่อฟ้า เปลี่ยนข้าวโพดเป็นไม้ผล

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

จังหวัดเดินหน้ายุทธศาสตร์  ลำปางสร้างสรรค์ปันสุขเร่งกระจายการพัฒนา สาธารณูปโภคพื้นฐานหมู่บ้านห่างไกล ขานรับขับเคลื่อนแนวคิดรัฐบาล  เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อที่หลายจังหวัดในภาคเหนือ ยังมีหมู่บ้านห่างไกลความเจริญ เขตภูเขาสูงบางแห่งยังไม่ไฟฟ้าใช้ หรือไม่ก็ ถนนหนทางลำบาก และยังพึ่งพาน้ำกินน้ำใช้จากฟ้าฝนและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ  และปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ เพราะยังขาดการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมที่มีมูลค่า ไปทดแทนการทำไร่เลื่อนลอยของซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา

จากการเดินทางร่วมไปกับคณะของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เมื่อครั้งไปเยี่ยมเยือนหมู่บ้านยากจน บ้านแม่ช่อฟ้า สาขาแม่จอกฟ้า หมู่ที่ 5 ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง นับว่าเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้าน ห่างไกลความเจริญ เส้นทางสัญจรเข้าถึงพื้นที่ค่อนข้างลำบากโดยเฉพาะในฤดูฝน เนื่องจากยังเป็นถนนลูกรัง เมื่อฝนตกถนนจะเป็นโคลนลื่น นอกจากนี้ยังไม่มีไฟฟ้าพื้นฐานจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  ประชาชนทั้งหมู่บ้านใช้ไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ และใช้น้ำประปาภูเขา ตลอดจนชาวบ้านในพื้นที่ยังมีฐานะยากจน รายได้จากการทำเกษตรกรรมไม่แน่นอน


จากการรายงานข้อมูลของปกครองท้องที่อำเภอแจ้ห่ม และเทศบาลตำบลทุ่งผึ้ง ได้ขอให้จังหวัดลำปางได้อนุมัติงบพัฒนาจังหวัดพ.ศ.2561 ให้แก่หมู่บ้านเพื่อใช้ดำเนินการซ่อมแซมถนนในหมู่บ้านที่ชำรุดทรุดโทรม โดยอาศัยแรงงานในหมู่บ้านช่วยกันดำเนินการ ตลอดจนส่งเสริมอาชีพเพื่อยกระดับรายได้ต่อครัวเรือนผ่านโครงการส่งเสริมการเลี้ยงหมูหลุม ปรับเปลี่ยนจากการปล่อยธรรมชาติ ให้มีเล้าแบบหมูหลุม และ เล้ายกพื้นมีหลังคา ให้กับราษฎรในหมู่บ้านเกือบ 50 ครัวเรือน  งบประมาณกว่า 3 แสนบาท

ล่าสุดวันที่ 15 มิถุนายน 2561 นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม และให้กำลังใจในการสร้างถนน คอนกรีต เข้าหมู่บ้าน ช่วงที่มีความลาดชัน และเยี่ยมชมการเลี้ยงหมูหลุม ตลอดจนพบปะเยี่ยมเยือนและสำรวจสภาพความเป็นอยู่ ความต้องการของประชาชนในพื้นที่  พบว่าในพื้นที่ยังมีความต้องการวัสดุในการก่อสร้างและปรับปรุงถนนเพิ่มเติม ตลอดจนการเร่งรัดผลักดันการขยายเขตไฟฟ้าพื้นฐานเข้าถึงหมู่บ้าน ซึ่งทางจังหวัดได้ประสานหน่วยงาน มอบให้สำนักงานจังหวัดประสานการดำเนินงานเรื่องโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นการเร่งด่วน


ในส่วนของการส่งเสริมอาชีพนั้น ผู้ว่าฯ ทรงพล ได้ขอความร่วมมือในการลดใช้สารเคมีในไร่ข้าวโพด พร้อมหารือแนวทางส่งเสริมเพิ่มเติมการปลูกพืชเศรษฐกิจประเภทไม้ผลยืนต้น เช่นเงาะ ส้มเขียวหวาน อะโวคาโด แมคคาเดเมีย  ซึ่งดูแลง่าย ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดและราคาสูง ไม่ยุ่งยากต่อการดูแล เก็บเกี่ยวง่ายไม่เน่าเสียระหว่างเก็บเกี่ยวและขนส่งระยะทางไกล  แนะนำให้เลือกปลูกพืชอย่างไดอย่างหนึ่งก่อน ปลูกหลายๆรายก็จะมีผลผลิตรวบรวมผลผลิตออกไปขายคุ้มราคา โดยจังหวัดได้มอบหมายมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัด จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกผลไม้ เงาะ ส้มเขียวหวาน และ แมคคาเดเมีย

ขณะที่ชาวบ้านเองก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมา มีการปลูกต้นกาแฟแซมในพื้นที่ป่าธรรมชาติ ซึ่งไม่ต้องถางป่าทำแบบพืชไร่ก็เริ่มได้ผลผลิต แต่ก็ยังไม่นับว่าเป็นอาชีพเสริมที่ทำรายได้ ส่วนหนึ่งเพราะ ปริมาณการปลูกนั้นยังไม่มากพอจะคุ้มค่าต่อการนำออกไปขายเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชทางเลือกใหม่ หากจังหวัดหรือหน่วยงานใดเข้ามาสนับสนุนให้เขาปลูกพืชแนวใหม่ ทดแทนการปลูกข้าวโพดและ “ข้าวดอย” หรือข้าวไร่ ที่ปลูกลัดเลาะตามไหล่เขาเป็นนาขั้นบันได พวกเขาก็พร้อมจะรับการพัฒนาเปลี่ยนแปลง เพราะการทำไร่นั้นนอกจากจะเหนื่อยยากจากขนาดของพื้นที่จำนวนมาก แต่ได้ผลผลิตที่มีรายได้น้อย  หากมีพืชทางเลือกที่ปลูกง่าย เก็บเกี่ยวแล้วไม่เสี่ยงต่อการเน่าเสียระหว่างการขนส่งไปขาย น่าจะเป็นผลดีต่อการยกระดับอาชีพและรายได้ของพวกเขาอีกทางหนึ่ง


เช่นเดียวกับอีกหลายหมู่บ้านที่ยังขาดการพัฒนา เช่น บ้านห้วยวาด ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สูงที่มีการทำไร่เลื่อนลอย รอการพัฒนา และให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภค ตามยุทธศาสตร์จังหวัดลำปาง ได้มอบหมายให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) ให้ดำเนินโครงการขยายพื้นที่ ป่าต้นน้ำ  สนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชน อนุรักษ์พันธุ์ไม้และพืชมีค่าทางเศรษฐกิจ ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามศาสตร์พระราชาเพื่อทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือการทำไร่เลื่อนลอยเช่นกัน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1184 วันที่ 22 - 28 มิถุนายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์