วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561

วาทะ โทษประหาร ! โลกสวยปะทะตาต่อตา ฟันต่อฟัน

จำนวนผู้เข้าชม .

มื่อฐานคิดต่างกัน บริบททางสังคมต่างกัน หนทางที่ทั้งฝ่ายชูประเด็นสิทธิมนุษยชน และฝ่ายที่เชื่อในวิธีการแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน กรณีการประหารชีวิตนักโทษชายธีรศักดิ์ หลงจิ  จึงยากจะมาบรรจบกันได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงนี่คือโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ประกอบด้วยการริบทรัพย์ ปรับ กักขัง จำคุก จนกระทั่งโทษสูงสุด คือประหารชีวิต  

ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288)

ฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน หรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289)

และเมื่อต้องโทษประหารชีวิตแล้ว ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18,19)

ดังนั้น นี่คือการปฎิบัติโดยปกติตามขั้นตอนของกฎหมายที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาใดๆ หรือต้องมีคำตอบว่า คดีอุกฉกรรจ์ต่างๆ ที่สังคมรับรู้ เช่น คดีฆ่าหั่นศพ หรือคดีความผิดต่อชีวิตในเรื่องอื่นๆ เหตุใดผู้กระทำความผิดจึงไม่ถูกประหาร เพราะมีรายละเอียดเฉพาะคดีที่แตกต่างกัน เช่น คดียังไม่ถึงที่สุด อยู่ระหว่างฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ฯลฯ

อีกทั้งมิได้เกี่ยวข้องกับคำถาม ถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ที่ยังไม่ได้รับความเชื่อถือ ยังมีแพะ ยังมีการลงโทษผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดจริง  ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องไปแก้ไขกัน ไม่ได้แปลว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยเสียหายใช้การไม่ได้ทั้งหมด

เฉพาะกรณี นายธีรศักดิ์ หลงจิ ที่ฆ่าผู้อื่น โดยการกระทำทารุณโหดร้าย ถึงแม้นายธีรศักดิ์ จะปฏิเสธและต่อสู้คดีมาทั้งสามศาล แต่คดีก็มีประจักษ์พยานเพียงพอที่จะลงโทษได้  จึงไม่มีเหตุต้องสงสัยในกระบวนการยุติธรรมทางศาล เมื่อฟังความได้ครบองค์ประกอบความผิด  โทษประหารสถานเดียว จึงเหมาะควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

แต่หากมองในมิติของหลักสิทธิมนุษยชน  ชีวิตๆหนึ่งย่อมมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ โดยปราศจากการทำร้าย หรือเข่นฆ่า สังหาร เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ฉะนั้น การคัดค้านโทษประหารของแอมเนสตี้ จึงพอมีเหตุผลรับฟังได้

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด  ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด งานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม”

หากแต่จังหวะเวลา และความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติของสังคมไทย ของแอมเนสตี้เบาบางเกินไป ประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป  การเรียกร้องชุมนุมแสดงจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมไว้อาลัยแด่การตัดสินโทษประหารชีวิต หน้าเรือนจำกลางบางขวาง เมื่อบ่ายวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อยืนยันหลักการปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงกลายเป็นการปกป้องการประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ หลงจิ ไปอย่างช่วยไม่ได้

และในขณะเดียวกับที่นางปิยนุช  โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อธิบายเหตุแห่งการคัดค้านว่า โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการลงโทษทีโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็ย้อนแย้งกับภาพที่นายธีรศักดิ์ ใช้มีดกระหน่ำแทงเหยื่อถึง 24 แผล เพื่อชิงโทรศัพท์มือถือและกระเป๋าสตางค์ จนกระทั่งเหยื่อถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ

คำถามจึงกระหึ่มดังขึ้นว่า เหยื่อของนายธีรศักดิ์ ซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ม.5 อายุเพียง 17 ปี เขามีสิทธิที่จะมีชีวิตตามปฎิญญาสากลนั้นหรือไม่ และการลงมือสังหารอย่างโหดเหี้ยม ถือว่าเป็นการกระทำของมนุษย์ ต่อเพื่อนมนุษย์อย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาหรือไม่

เรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องใช้ความพยายามอีกมากในการทำความเข้าใจ  แต่เรื่องสิทธิของมนุษย์คนหนึ่ง ที่จะได้รับการเยียวยาแก้ไขความรู้สึกสูญเสีย อย่างน้อยก็เป็นพ่อ แม่ ญาติพี่น้องเหยื่อของนายธีรศักดิ์ เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายกว่า

ไม่มีใครบอกได้แน่ชัดว่า ระหว่างการประหารชีวิต กับการไม่มีโทษประหารชีวิต จะส่งผลอย่างไรต่อสถิติคดีอาชญากรรม  ถึงแม้จะมีงานวิจัยสนับสนุนอยู่จำนวนหนึ่ง เพราะมีปัจจัยแวดล้อมมากมาย ที่ทำให้เกิดคดีอาชญากรรม สำคัญที่สุด คือ “สันดานของความเป็นมนุษย์” ที่แตกต่างกัน ความยับยั้งชั่งใจที่แตกต่างกัน  จิตสำนึกที่แตกต่างกัน

แต่กฏเกณฑ์ชนิดเดียวที่สังคมยอมรับ และใครก็ตามที่กระทำความผิดก็ต้องยอมรับ คือ “กฎแห่งกรรม” เมื่อกระทำสิ่งใด ก็สมควรต้องได้รับสิ่งนั้นตอบแทน กล่าวถึงที่สุดก็คือ ระบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน คนดี คิดดี เข้าใจและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น  ไม่มีใครต้องเดือดร้อน ไม่ว่าโทษประหารจะมีหรือไม่มีก็ตาม
   
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1184 วันที่ 22 - 28 มิถุนายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์