
ริมแม่น้ำวังฝั่งทิศตะวันออก
บริเวณที่คนสมัยก่อนเรียกกันว่า ‘วังย่าเฒ่า’ มีอนุสาวรีย์แห่งหนึ่งตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก
ยังตำแหน่งที่ตั้งของวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักนางสุชาดา
แต่กับคนเก่าแก่ในเมืองลำปาง ต่างเคยได้ยินเรื่องเล่าของนางสุชาดา
ซึ่งถูกตัดสินโทษประหารชีวิตอย่างไม่ได้รับความเป็นธรรม
ทั้งยังเกี่ยวพันไปถึงพระแก้วดอนเต้า วัดสุชาดาราม และวัดนางเหลียวอีกด้วย
ตามตำนานกล่าวว่า
มีนางเทวดาตนหนึ่งลงมาเกิดเป็นมนุษย์ ชื่อว่านางสุชาดา เพื่อที่จะอุปัฏฐากพระมหาชินธาตุเจ้า
ครั้งหนึ่งพระมหาเถรเจ้า เจ้าอาวาสผู้ปกครองวัดนั้น
ดำริจะแกะสลักพระด้วยไม้แก่นจันทร์ แต่หาไม่ได้
พญานาคจึงได้เนรมิตแก้วมรกตไว้ในแตงโม และนำไปวางไว้ในสวนดอกไม้ของนางสุชาดา
เมื่อนางสุชาดาพบจึงนำแตงโมไปถวายพระมหาเถรเจ้า พระมหาเถรเจ้าจึงพบแก้วมรกต
และจะสลักพระพุทธรูปด้วยมรกตที่พบในผลแตงโมนั้น
พระอินทร์จึงได้จำแลงมาขันอาสาสลักให้ และเนรมิตให้เป็นองค์พระปฏิมากรแก้วมรกตงดงาม
ทว่าต่อมานางสุชาดากลับถูกท้าวพระยาผู้ครองเมืองสั่งให้ประหารชีวิต
เพราะมีข้อครหาว่าประกอบมิจฉาจารกับพระมหาเถรเจ้า ก่อนถูกประหาร
นางสุชาดาได้อธิษฐานว่า หากนางบริสุทธิ์ ขอจงอย่าให้โลหิตตกลงพื้นดิน
เมื่อเพชฌฆาตลงดาบ เลือดของนางได้หายไปในอากาศ
ท้าวพระยาผู้ครองเมืองก็เกิดธรรมสังเวชอกแตกตาย
เหตุนี้
พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวจึงได้ชื่อว่าพระแก้วดอนเต้า ก็เพราะสลักจากหินรัตนชาติ
หรือมรกต ที่ชาวล้านนานิยมเรียกรวมๆว่าแก้ว โดยหินแก้วนี้อยู่ในผลแตงโม
ภาษาพื้นถิ่นเรียกว่าบะเต้า ดังนั้น
พระแก้วดอนเต้าก็หมายถึงพระแก้วดอนแตงโมนั่นเอง
และวัดที่เชื่อว่าเป็นที่กำเนิดของพระแก้วดอนเต้านี้ จึงมีชื่อเรียกว่า วัดพระแก้วดอนเต้า
ทั้งนี้ ภายหลังบ้านเมืองเกิดความอดอยาก พระมหาเถรเจ้าได้ไปอยู่ที่เมืองลัมพกัปปะ
ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน
และได้นำเอาพระแก้วมรกตดอนเต้าไปอยู่ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวงตั้งแต่นั้นมา
หลังเหตุการณ์ประหารชีวิตที่สั่นสะเทือนผู้คนไปทั้งเมือง
ก็ได้มีการสร้างวัดสุชาดารามขึ้นบริเวณที่เชื่อกันว่าเป็นบ้านของนางสุชาดา
เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของนาง นอกจากนี้ วัดนางเหลียวที่อยู่ถัดไปไม่ไกล
ก็ถูกสร้างขึ้นตรงจุดที่นางสุชาดาเหลียวกลับมามองบ้านของตนเองเป็นครั้งสุดท้าย
นี่อาจเป็นตำนานที่หลายคนลำปางอาจลืมเลือนไปบ้างแล้วว่าเหตุการณ์เหล่านี้คือที่มาของชื่อวัดนางเหลียว
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม หากแต่จดจำได้เพียง ‘คำสาปของนางสุชาดา’
ที่ได้สาปแช่งให้เจ้าเมืองผู้หลงผิดคิดร้ายต่อนาง
อย่าได้ตายดี ขอให้กรรมตามทันลูกหลานผู้สืบเชื้อสายเจ้าเมืองผู้ครองนครลำปางทุกคน
ขออย่าให้มีความสุขความเจริญ มีแต่ภัยพิบัติหายนะตลอดกาลนาน หากผู้สืบเชื้อสายเจ้านครลำปางคนใดเชื่อว่านางไม่ผิด
และไม่ต้องการต้องคำสาป ก็ขอให้นำลูกขนุนลูกแรกที่ปลูกได้นำไปถวายพระสงฆ์
อุทิศกุศลให้นางแล้วกล่าวขออโหสิกรรม นางก็จะอโหสิกรรมให้
หากไม่แล้วทุกคนต้องพบคำสาปชนิดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ด้วยวิธีใดๆ
สำหรับบริเวณสถานที่ประหารชีวิตนางสุชาดานั้น
หลวงพ่อเกษม เขมโก ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าเมืองลำปาง ได้ให้เจ้าประเวทย์ ณ ลำปาง
และลูกหลานสกุล ณ ลำปาง ร่วมกันบอกบุญสร้างอนุสาวรีย์เจ้าแม่สุชาดาในปี พ.ศ. 2517 และต่อมานายประเวทย์
ณ ลำปาง ก็ดำเนินการใช้ทุนทรัพย์จากหลวงพ่อเกษม เขมโก สร้างสะพานเสตุวารี สะพานข้ามแม่น้ำวังใกล้กับอนุสาวรีย์เจ้าแม่สุชาดา
ในปี พ.ศ. 2527 เพื่ออุทิศกุศลผลบุญทั้งหมดให้กับนางสุชาดา
และเพื่อเป็นการขออโหสิกรรม ทั้งยังเป็นการถอนคำสาปที่มีต่อตระกูล ณ ลำปาง
จะได้หมดสิ้นลงไปเสียที นอกจากนี้
ภายในวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามยังมีศาลเจ้าแม่สุชาดาขณะถวายแตงโมแด่พระมหาเถรเจ้า
รวมถึงรูปปั้นนางสุชาดายืนถือแตงโมอยู่ด้านหน้าโรงเรียนวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามอีกด้วย
เรื่องราวเรื่องราวเหล่านี้...ถูกเล่าต่อๆกันตัดทอนลงมาเหลือเพียงเรื่อง
‘คำสาปเมืองลำปาง’ แม้จะผ่านมานานหลายร้อยปีแล้ว
แต่เราก็ได้แต่โทษว่าลำปางไม่พัฒนาเหมือนจังหวัดอื่นๆนั้นเป็นเพราะคำสาปนางสุชาดา
หากแต่ความเป็นจริงแล้ว ลำปางก็มีเสน่ห์ในตัวเอง และที่ลำปางยังพัฒนาในแบบที่ไม่ได้ดั่งใจคนลำปางนั้น
เราอาจต้องมาพิจารณาว่าเป็นเพราะ “คำสาป” หรือ เพราะ “คำคน”
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1181 วันที่ 1 - 7 มิถุนายน 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น