วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561

สะพานโยง เมืองงาว สะพานแขวนแห่งแรกของไทย

จำนวนผู้เข้าชม .

จะว่าไปแล้ว เมืองลำปางเรามีสะพานรูปทรงเป็นเอกลักษณ์อยู่หลายสะพาน ซึ่งก็ล้วนแต่เก่าแก่อายุอานาม 100 ปี ตั้งแต่สะพานขาว หรือสะพานรัษฎาภิเศก ที่อยู่คู่อำเภอเมืองฯ มา 101 ปี สะพานดำแถวตลาดเก๊าจาวในตำบลสบตุ๋ย สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำวัง โครงสร้างเหล็กแบบโครงถัก สันนิษฐานกันว่า สะพานแห่งนี้คงสร้างขึ้นไม่ก่อนไปกว่าปี พ.ศ. 2464 ซึ่งเป็นปีที่รถไฟวิ่งไปถึงจังหวัดเชียงใหม่แล้ว แต่ที่แน่ๆ สะพานดำถูกซ่อมและสร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2509

ห่างออกไปจากอำเภอเมืองฯ ราว 83 กิโลเมตร ที่อำเภองาว ที่นั่นมีสะพานเก่าแก่อีกสะพานหนึ่งที่คนเมืองงาวรู้จักกันดี รวมไปถึงบรรดาผู้ที่ถวิลหาอดีตและช่างภาพก็ชื่นชอบ

เมืองงาวเป็นเมืองเก่าแก่มาแต่โบราณ มีอายุมากกว่า 700 ปีมาแล้ว แรกเริ่มเมืองงาวมีเจ้าผู้ครองนครที่ขึ้นต่ออาณาจักรหิรัญนครโยนกเชียงแสน ประมาณปี พ.ศ. 1780 เมืองนี้ได้เป็นที่ตั้งหลักแหล่งของชาวเชียงแสนที่อพยพหนีภัยจากการรุกรานของพวกไทยใหญ่ลงมาตามลำน้ำงาว โดยเริ่มตั้งหลักแหล่งที่ดอยห้วยอุ้ม ดอยปากบอก ดอยผาแดง ดอยบ่อสี่เหลี่ยม และดอยผาไท หัวหน้าคนสำคัญของเมืองนี้ในครั้งนั้น ได้แก่ แสนเมือง ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับพ่อขุนงำเมือง เมืองพะเยา เจ้าแสนเมืองได้สร้างคุ้มหลวงขึ้น เนื่องจากที่ตั้งอยู่บนที่สูง จึงเรียกว่าเวียงบน และได้สร้างวัดแห่งแรกของเมืองงาวขึ้น ให้ชื่อว่าวัดพระธาตุตุงคำ ปัจจุบันคือวัดศรีมุงเมือง

ในยุคนั้นบ้านเมืองช่างสมบูรณ์พูนสุข อุดมไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร การค้าขายก็รุ่งเรืองเฟื่องฟู ในเวลาต่อมาจึงได้รับการเรียกขานว่าเมืองเงิน ในปี พ.ศ. 2302 เมืองเงินกลายเป็นเมืองหน้าด่านของลำปาง มีนายทหารคนสำคัญ ซึ่งครั้งหนึ่งยกทัพไปรบเมืองเชียงตุง ได้ง้าวเงินเล่มหนึ่งมามอบให้เจ้าผู้ครองนครลำปาง เจ้าเมืองลำปางจึงมอบยศเจ้าเมืองง้าวเงินให้กับนายทหารผู้นี้ และให้เรียกเมืองเงินเสียใหม่ว่าเมืองง้าวเงิน ต่อมาภายหลังเมื่อมีการทำไม้ เมืองงาวเป็นแหล่งไม้สักสำคัญ มีการล่องซุงผ่านแม่น้ำงาวลงมา ชื่อเมืองจึงเปลี่ยนไปตามลำน้ำ กลายเป็นเมืองงาวในที่สุด

เมืองงาวมีแลนด์มาร์กอยู่ที่สะพานโยง เช่นเดียวกับที่ตัวเมืองลำปางมีสะพานรัษฎาภิเศก สะพานโยงเป็นสะพานแขวนกลางเมือง อยู่ระหว่างตำบลหลวงใต้กับตำบลหลวงเหนือ มีที่มาจากการล่องซุงในแม่น้ำงาวและการตัดถนนพหลโยธิน นั่นคือประมาณปี พ.ศ. 2458 ถนนพหลโยธินตั้งต้นสร้างจากกรุงเทพฯ เรื่อยมาถึงเมืองงาว แล้วก็พบว่ามีแม่น้ำงาวขวางกั้นอยู่ จะสร้างสะพานแบบธรรมดาก็ไม่ได้ เพราะในแม่น้ำมีซุงไม้สักทองต้นใหญ่ ๆ ล่องผ่านมากมาย สะพานคงจะพังเสียก่อน แล้วซุงไม้สักก็คงล่องต่อไปลงแม่น้ำยมไม่ได้ เช่นนั้นสะพานข้ามแม่น้ำงาวจึงถูกกำหนดสเปคขึ้นใหม่ให้เป็นสะพานแขวนแห่งแรกของประเทศไทย ออกแบบก่อสร้างโดยนายช่างชาวเยอรมัน ควบคุมการก่อสร้างโดยขุนเจนจบทิศ ส่วนเจ้าของโครงการคือ กรมทางหลวงแผ่นดิน ในความดูแลของขุนขบวนบถดำริห์

สะพานโยงเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2469 ใช้เวลาในการสร้าง 18 เดือน เปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2471 มีความยาว 80 เมตร กว้าง 4 เมตร เสากระโดงสองฝั่งสูง 18 เมตร เป็นสะพานเหล็กแขวนที่ใช้รอกดึง ไม่มีเสากลาง วางโครงเหล็กเหมือนทางรถไฟ ใช้ไม้หมอนเรียงเป็นลูกระนาด ปูไม้กระดานทับเฉพาะช่วงล้อรถยนต์ มีทางเท้าทั้งสองฝั่ง ใช้สลิงยึดตลอดตัวสะพาน

เดิมทีสะพานโยงไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่กรมทางหลวงแผ่นดินเรียกว่าสะพานข้ามลำน้ำแม่งาว ทำหน้าที่เชื่อมการเดินทางด้วยถนนพหลโยธินจากภายนอกไปสู่เมืองพะเยาและเมืองเชียงรายอยู่หลายสิบปี กระทั่งมาเลิกใช้เพราะมีการสร้างเส้นทางถนนพหลโยธินสายใหม่ขึ้น เป็นเส้นทางบายพาส ไม่ผ่านเข้ามาในตัวเมือง แต่กระนั้นสะพานโยงก็ได้รับการบูรณะหลายครั้ง ทว่าปัจจุบันเปิดให้เฉพาะการเดินข้ามฟากเท่านั้น ไม่อนุญาตให้รถยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ผ่าน เนื่องจากจะทำให้ตัวสะพานทรุด

สำหรับนักท่องเที่ยว สะพานโยงคือไฮไลต์ที่ต้องหยุดถ่ายภาพ บางคนก็มารอใส่บาตรบนสะพาน เพราะจะมีพระสงฆ์ออกบิณฑบาตโดยเดินผ่านบนสะพานโยงทุกเช้า

สำหรับคนเมืองงาว เกือบศตวรรษแล้วที่สะพานแห่งนี้ยืนหยัดอยู่อย่างคงทน นี่คือประวัติศาสตร์ของคนยุคหนึ่ง ยุคที่ทันเห็นซุงไม้สักขนาดมหึมาล่องผ่านหน้าไป ยุคแห่งความแร้นแค้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงอาจเรียกว่า สะพานแห่งนี้เป็นสะพานคู่บ้านคู่เมืองโดยแท้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1184 วันที่ 22 - 28 มิถุนายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์