วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ก้าวของ ‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ การเมืองในอุดมคติไม่มีจริง

จำนวนผู้เข้าชม .

นฐานะคนลำปาง ร่ำเรียนจบการศึกษาชั้นต้นที่อัสสัมชัญ ลำปาง ไปสร้างชื่อ สร้างเสียง ในระดับประเทศ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมควรได้รับการยกย่อง ยินดี จากคนลำปาง เป็นความภาคภูมิใจได้ว่า ศักยภาพ ความรู้ ความสามารถ การยอมรับในคนลำปาง ไม่ได้อ่อนด้อยไปกว่าคนจากถิ่นฐานอื่น

แนวคิด “สองนคราประชาธิปไตย” ที่บอกว่า คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพล้มรัฐบาล อันเป็นทฤษฏีของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์นั้น  สะท้อนแนวคิด ความเข้าใจการเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง เพราะในกาลต่อๆมา ก็เป็นเช่นนั้น นับจากที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร นำพรรคไทยรักไทยก้าวบาทมาบนถนนการเมือง

เขานับเป็นนักรัฐศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง เป็นนักวิชาการที่เอาการเอางาน และคนต้องฟัง เป็นนักวิชาการที่พรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ขาดแคลน โดยเฉพาะเป็นนักวิชาการที่เข้าใจการเมือง ถึงกระนั้นก็ควรตั้งข้อสังเกตว่า นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ น่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิชาการ ที่ไม่ค่อยสำเร็จทางการเมืองมากนัก

เราชื่นชม ยินดี ในความเป็นนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์  แต่เราก็เห็นว่า การเมืองในแบบนักวิชาการ การเมืองแบบอุดมคติ ที่พยายามเสนอทางเลือกใหม่ๆ เหมือนคราวที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์  แปลงพรรคราษฏร มาเป็นพรรคมหาชน  และเสนอพรรคมหาชนเป็นทางเลือกที่สามนั้น น่าจะเป็นบทเรียนที่ควรเก็บรับ และไม่ทำให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก

ครั้งนั้น นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นหัวหน้าพรรคมหาชน ประกาศตัวเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า ส.ส.พรรคมหาชน จะต้องมีจำนวนมากพอในการสนับสนุนหัวหน้าพรรค หรือมีจำนวนมากพอที่จะเป็นข้อต่อรองทางการเมืองได้ แต่ผลการเลือกตั้ง พรรคมหาชนได้ ส.ส.เพียง 2 คน และต่อมาได้เพิ่มจากการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดพิจิตร อีก 1 คน รวมเป็น 3 คน ในขณะที่หัวหน้าพรรค และพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคไม่ได้เป็น ส.ส.เพราะคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่ถึง 5 %

ครั้งใหม่นี้ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ปรากฏตัว ร่วมเปิดตัวพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) เป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งคาดหมายกันว่า ตำแหน่งหัวหน้าพรรคจะเป็นของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ โดยนายเอนก กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดตัวว่า

 “พรรคของเราต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยต้องเริ่มจากในพรรค ดังนั้น ตอนนี้ หัวหน้า กรรมการของพรรคจึงยังไม่มี  จะมีต่อเมื่อมีสมาชิก และสมาชิกลงคะแนนเสียงโดยไม่มีใครจัดตั้ง ไม่มีใครสั่งการทั้งสิ้น เขาเลือกผมเป็นอะไรผมก็จะเป็นอันนั้น ใจผมอยากเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพรรค เพราะเห็นว่าพรรค รปช.ต้องไม่เป็นพรรคที่แสวงหาอำนาจ..”

ความเป็นจริง การเลือกต่อสู้ทางการเมือง โดยผ่านระบบพรรคการเมือง การเสนอทางเลือกที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มก้าวหน้า กลุ่มสนับสนุนเผด็จการ และกลุ่มอื่นๆ แทนการใช้การเมืองนอกระบบ ใช้กำลัง ใช้การยุยงปลุกปั่น เช่น การเมืองในแบบที่กดดันจนกระทั่งได้รัฐบาลแบบ คสช.มา เรียกว่าเป็นการเลือกหนทางการต่อสู้ที่ถูกต้องแล้ว

การอวดอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแท้ เป็นการเมืองแบบไม่ต้องการอำนาจ เป็นการพูดแบบ “ตีนลอย” ที่ไร้สาระ  ทุกพรรคเมื่อลงเลือกตั้ง ก็ย่อมแสดงว่ามีความเป็นประชาธิปไตย พร้อมให้ประชาชนพิสูจน์  และเมื่อเลือกตั้งได้จำนวนที่มากพอ ก็เป็นช่องทางในการเข้าสู่อำนาจ อย่าได้รังเกียจอำนาจ

ประเด็นอยู่ที่การใช้อำนาจว่า จะใช้ธรรมเป็นอำนาจ หรืออำนาจเป็นธรรมเท่านั้น
           
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1182 วันที่ 8 - 14 มิถุนายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์