วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561

โศกนาฏกรรมแห่งยุคสมัย บนซากปรักหักพังของทีวีดิจิทัล

จำนวนผู้เข้าชม .

ับเป็น “ชัยชนะของผู้แพ้” ก็ว่าได้ เมื่อผ่านมา 4 ปี ผู้ทุ่มเงินมหาศาลชนะประมูลทีวีดิจิทัลมาได้ เกือบทั้งหมดกลายเป็นคนป่วยหนัก รอวันตาย ในขณะที่ผู้แพ้ประมูลครั้งนั้น เช่น โพสต์ทีวี หรือตัดสินใจไม่ร่วมประมูล เช่น ค่ายมติชน ที่คาดการณ์อนาคตได้แม่นยำ ยังอยู่ในภาวะที่พอเอาตัวรอดได้ ในสถานการณ์ที่อุตสาหกรรมสื่อทั้งระบบ ถูกกระทบจากกระแสออนไลน์

“จอกอ” พยากรณ์มาก่อนหน้านี้แล้วว่า หนทางรอดของทีวีดิจิตอล ริบหรี่ และอาจถึงกาลอวสานไม่นานนัก มิใช่เพราะขาดคน ขาดเครื่องมือ แต่เพราะการเล็งผลเลิศ ว่าสามารถนำเสนอเนื้อหาใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งเค๊กโฆษณามาจากฟรีทีวีเดิมได้ แต่เอาเข้าจริงก็คิดแบบเดิม ทำแบบเดิม รวมทั้งทำตามช่องทีวีที่เขาประสบความสำเร็จแล้ว เช่น ช่องบันเทิง รายการเกมส์โชว์ วาไรตี้ แต่มือไม่ถึง

เมื่อเริ่มตีธง ออกสตาร์ทของทีวีดิจิทัล  บรรทัดต่อจากนี้ คือภาพอนาคตที่ “จอกอ”มองเห็น

ไม่เกิน 5 ปีจากนี้  24 ช่อง จะเหลือไม่ถึง 10 ช่อง

แม้จะมีคำสั่งมาตรา 44 ยืดชีวิต พักชำระค่าใบอนุญาตไปแล้วก็ตาม

ความคมชัด ของภาพและเสียงอันเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นของ  การส่งสัญญาณผ่านระบบดิจิทัล มาช้ากว่ากาลเวลา เพราะในโลกที่เทคโนโลยีการสื่อสาร เปลี่ยนแปลง ก้าวหน้านับกันเป็นนาที ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร สาระบันเทิงในช่องทางที่คม ชัด หลากหลาย โดยไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของเวลาและสถานที่อีกต่อไป  ทีวีดิจิทัลก็กลายเป็นเพียงช่องทางหนึ่งที่ล้าสมัย และไม่พัฒนา

สมาร์ทโฟน เป็นช่องทางสำคัญ ในการเลือกรับสาร ในมหาสมุทรแห่งข้อมูล ข่าวสาร ทีวีดิจิทัลเป็นเพียงฟองอากาศเล็กๆที่ล่องลอยอย่างไร้จุดหมาย

ทุกวันนี้ คนดูยังไม่เห็นเนื้อหาที่แตกต่างของทีวีดิจิทัล ที่คุยกันคำโตก่อนประมูลคลื่น เพราะสุดท้ายแล้ว เกือบทุกๆช่องก็ทำเหมือนกัน มีเกมโชว์เหมือนกัน มีประกวดร้องเพลงในช่วงก่อนไพรม์ไทม์เหมือนกัน  มีชกมวยเหมือนกัน มีรายการเล่าข่าวเหมือนกัน ผ่านมาระยะหนึ่ง พวกเขาก็พบความจริงว่า เกมโชว์และความบันเทิงนั้นคือเนื้อหาที่ครองใจคนส่วนใหญ่ และพยายามทำให้เหมือนเขา แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะหรือแชร์ส่วนแบ่งบันเทิง จากรายการหรือ ช่องบันเทิงดั้งเดิมที่แข็งแกร่งได้

ความแข็งแกร่งของช่องข่าว ถูกลดทอนด้วยรายการเกมส์โชว์ และบันเทิง ในขณะที่ช่องบันเทิง ก็พยายามสร้าง brand awareness เรื่องข่าว คล้ายให้รู้ว่าไม่ใช่มีเพียงบันเทิงเริงรมย์เท่านั้น หากยังมีความเข้มข้นของข่าวอยู่ด้วย แน่นอนว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก โดยเฉพาะเมื่อจับดารา เซเลบทั้งหลายมานั่งอ่านข่าว แต่ไม่เข้าใจเรื่องข่าว หรือแม้กระทั่งความคาดหวังในผู้ประกาศข่าวที่ เชื่อว่าจะเป็น “แม่เหล็ก” ดึงดูดผู้คนได้ แต่ไม่ลึกซึ้งเรื่องข่าว

กระนั้นเมื่อความคาดหวังของผู้บริโภคข่าวสารอยู่ที่เกมส์โชว์ และความบันเทิง เรื่องข่าวก็เป็นมูลค่าเพิ่มที่ไม่ได้เสียหายอะไร มีก็ได้ ไม่มีก็ไม่เป็นไร เพราะรอบตัววันนี้ก็ท่วมท้นไปด้วยข้อมูล ข่าวสารที่วิ่งมาชนตัวเราตลอดเวลาอยู่แล้ว

ดังนั้น จึงไม่แปลก ที่ผลประกอบการกลุ่มทีวีดิจิทัล ที่อยู่ในตลาดหุ้น ขาดทุนกันโดยทั่วหน้า โดยเฉพาะช่องข่าวที่เคยฝันว่าจะเป็นเบอร์หนึ่งในวงการ 

ทั้งหมดนี้เป็นบางส่วน ที่ได้เคยวิเคราะห์ไว้  แน่นอนมีความคลาดเคลื่อนไม่ได้ถูกทั้งหมด แต่ประเด็นการทำซ้ำๆ ทำตามๆกัน โดยไม่รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร กำลังเปลี่ยนแปลง และก็ชัดขึ้นว่า การเลือกกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ น่าจะเป็นหนทางรอด เช่น ช่อง MONO 29 การหวลกลับมาเป็นช่องสารคดี ของ NEW  18 หรือการอาศัยจังหวะที่คนข่าวระดับฮาร์ทคอร์ เช่น สรยุทธ สุทัศนะจินดา เพลี่ยงพล้ำ กลับมาสร้างเรทติ้งข่าวให้กับช่อง 34 อมรินทร์ทีวี โดยมีพุทธ อภิวรรณ เป็นตัวชูโรง

แน่นอนว่า ในความโกลาหลของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลนั้น ช่อง 7 35HD , 23 Workpoint ซึ่งเป็นเพียง 2 ช่องที่ชำระหนี้ตามกำหนด ไปต่อได้แน่นอน เพราะพวกเขารู้ว่า ใครคือคนดู

ความล่มสลายของทีวีดิจิทัล อันเป็นโศกนาฎกรรมครั้งร้ายแรงที่สุดของนักข่าวตัวเล็กตัวน้อยในอุตสาหกรรมสื่อ เป็นผลอันเนื่องมาจากการทำงานแบบ “ทีวีตาบอด” คือหาจุดขายของตัวเองไม่ได้ ลองผิดลองถูก มีแต่ความฝัน  แต่ไร้ฝีมือในการบริหาร และมองอนาคตบนพื้นฐานของความเป็นจริง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1182 วันที่ 8 - 14 มิถุนายน 2561)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์