วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

การทำข่าว 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง ไม่ซ้ำเติม ไม่ดราม่า

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

จะถอดบทเรียน จะสรุปบทเรียน จะเรียกขาน ใช้คำอย่างไรก็ตาม แต่ปรากฏการณ์ข่าว 13 ชีวิต ติดถ้ำหลวงครั้งนี้ ได้อธิบายภาพความจริงชัดเจนมากขึ้น ในความแตกต่างระหว่างสื่ออาชีพ กับคนที่เป็นเพียงคนใช้สื่อ โดยเฉพาะเส้นแบ่งการทำงานของสื่อที่ยึดหลัก “เคารพความจริง” กับสื่อออนไลน์ เพจ ที่ท่วมท้นไปด้วย Fake News

ถึงกระนั้นก็ยังต้องทบทวนบทบาทของสื่ออาชีพ ที่อาจล้ำเส้นการทำข่าว จนไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น หรือซ้ำเติมผู้ประสบเคราะห์กรรม ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ อีกทั้งสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย  ได้ประกาศแนวทางการเสนอข่าวช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ การกู้ภัย-ส่งกลับ ผู้ประสบภัยถ้ำหลวง เป็นไกด์ไลน์ สำหรับการทำข่าวในสถานการณ์อ่อนไหวเช่นนี้

ไม่มีคำตำหนิ วิพากษ์ วิจารณ์ การทำข่าวของนักข่าวภาคสนาม หลายร้อยคนที่ถ้ำหลวง พวกเขาเหล่านั้น ส่วนหนึ่งไม่ต่างอะไรไปจากคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมข่าว ทำงานเป็นหนูถีบจักร  รายงานทุกเรื่อง สัมภาษณ์ทุกคน ทุกแง่ทุกมุมที่เขาจะทำได้อย่างละเอียดที่สุด  เพราะนั่นเป็นหน้าที่ และคำสั่งของสถานี ของเจ้าของ ผู้ประกอบการ ที่อาจมีเป้าหมายแตกต่างกัน

เมื่อมีคำถามหลายครั้ง จากนักข่าวทั้งที่ในห้องส่ง ทั้งที่มาสัมภาษณ์ที่บ้าน ประเด็นปัญหาและทางออกกรณีสื่อละเมิดจริยธรรม คำตอบของ “จอกอ” คือ ปัญหาไม่ได้มาจากนักข่าวฝ่ายปฏิบัติการ ไม่ใช่นักข่าวตัวเล็กตัวน้อย ที่นายกฯชี้หน้า ดุด่าว่ากล่าวเอาอยู่เสมอ แต่ปัญหาสื่ออยู่ที่เจ้าของ ผู้ประกอบการ หรืออย่างน้อยบรรณาธิการ ที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายทางธุรกิจ จำนวนคนอ่าน คนดู คนฟัง มากกว่าเป้าหมายเชิงอุดมการณ์

ถ้าไม่ใช่รายการสด หรือเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ คำตอบเหล่านี้ ไม่เคยได้รับการเผยแพร่เลย

คล้ายเราจะหลงประเด็น หรือมองสภาพความเป็นจริงไม่ออก เพราะทุกคำเตือน คำเสนอแนะ ไม่ว่าจะมาจากองค์กรวิชาชีพสื่อ องค์กรภายนอก หรือนักวิชาการ เหมือนสายลมพัดผ่าน เพราะคำเตือนเหล่านั้น ข้อเสนอเหล่านั้น ไปไม่ถึงคนที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย หรือผู้ปฏิบัติที่ฟังนายทุน ฟังเจ้าของ มากกว่าคนอื่น

แต่ก็ควรให้กำลังใจ องค์กรวิชาชีพ โดยเฉพาะสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่มักเป็น “หนังหน้าไฟ” รับคำวิพากษ์ จากผู้บริโภคข่าวสารอยู่เสมอ รวมทั้งนักวิชาการ และคนอื่นๆที่ปรารถนาจะเห็นการทำงานของสื่อที่เคร่งครัดในหลักการ

“จอกอ” ทำข่าวมานาน รู้เห็นความเป็นไป และไม่ปรารถนาให้คนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อ โดยมองข้าม ความเป็นจริงไป แน่นอนว่า ต้องอดทน ต้องยืนยันว่า สื่อต้องเชื่อถือ และวางใจได้ และต้องทำให้สังคมนี้ปฏิเสธ ไม่อ่าน ไม่ดู ไม่ฟัง สื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบ

มิใช่ทำข่าวมาก่อน มีประสบการณ์ยาวนานกว่า จะเก่งกว่า จะเชี่ยวชาญ และแม่นยำในประเด็นข่าวมากกว่า แต่อย่างน้อยสี่สิบปีบนเส้นทางข่าว อาจมีบางแง่มุมที่ช่วยเติมความคิด แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้บ้าง

แน่นอนว่า ข่าวการค้นพบ 13 ชีวิตเจ้าหมูป่า เป็นข่าวที่มี News Values หรือคุณค่าข่าว ครบองค์ประกอบเกือบทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องความสำคัญ ความสดใหม่ ความใกล้ชิด ความต่อเนื่อง ความมีเงื่อนงำ ความผิดปกติ และสำคัญสุดคือ Human Interest

การทำให้คนสนใจ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่สื่อแต่ละสำนักจะต้องพยายาม ฉีกแนว หาประเด็นที่แตกต่าง ตั้งแต่ดราม่า 9 วันในถ้ำหลวง อารมณ์ ความรู้สึกของผู้คนที่เกี่ยวข้อง และทุกสำนักจะต้องพุ่งเป้าไปที่แหล่งข่าวพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีมเจ้าหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 ชีวิต

หากจะต้องยกเว้น ความเป็นส่วนตัว หรือ สิทธิส่วนบุคคล ของแหล่งข่าวเหล่านี้ เพื่อให้โอกาสพวกเขาได้ฟื้นฟูจิตใจได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดี โดยรายงานข่าวเฉพาะเหตุการณ์ สัมภาษณ์ เก็บข้อมูลเอาจากแหล่งข่าวปฐมภูมิที่รู้เห็นเรื่องราว โดยไม่ต้องอ้างแหล่งข่าว ก็สามารถได้ข่าว รายงานพิเศษ หรือบทวิเคราะห์คุณภาพชิ้นหนึ่งได้

ด้วยความเคารพในความคิด ความอ่านของคนข่าวรุ่นใหม่ ผู้บริหารสำนักข่าวทั้งหลาย เราสามารถทำให้ผู้คนให้การยอมรับนับถือ ให้เกียรติ ให้ความเคารพในวิชาชีพนี้ได้ ถ้าเราเข้าใจ และตระหนักว่า เราเองก็เป็นหน่วยหนึ่งในสังคม ที่ต้องมีความรับผิดชอบและเข้าใจถึงหัวจิตหัวใจของเพื่อนมนุษย์เช่นเดียวกัน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1186 วันที่ 6 - 12 กรกฎาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์