วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เกษตรเลือดใหม่พลิกผืนดินปลูก เมลอนเสริมงาม ลูกพลับเมืองปาน

จำนวนผู้เข้าชม

การแข่งขันการตลาดยุคนี้ สินค้าทั่วโลกปรับทิศทางหันไปสู่การขายผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยจากเคมีอันตราย และสินค้าปลอดภัยที่ได้มาจากธรรมชาติ เพราะตั้งแต่ผู้บริโภคทั่วไป ไปจนถึงผู้มีกำลังซื้อในตลาดบน ล้วนแต่จะให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าปลอดภัย โดยเฉาะในกลุ่มสินค้าเกษตรทั้งหลายยังมีความต้องการทางตลาดเติบโตขึ้นต่อเนื่อง

โลกของเกษตรกรเองก็ต้องปรับแนวคิดกันใหม่ในเรื่องของการปลูกพืชให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดสารเคมี ใช้พื้นที่น้อยแต่ได้สร้างรายได้มาก เกษตรทางเลือกจึงเป็นหนทางเป้าหมายใหม่ของเกษตรกรรุ่นใหม่ จะว่าไปแล้วก็เข้าหลักเกษตรแบบพอเพียง คือ การบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่ให้สร้างผลผลิตที่ทำรายได้เลี้ยงครอบครัวได้โดยไม่เปลืองทุนและแรงงานเหมือนการทำพืชไร่ในสมัยก่อน เพราะแม้แต่นาข้าวในปัจจุบัน คนทำนาคุณภาพก็สามารถกำหนดราคาข้าว กิโลละหลักร้อยบาทขายให้กับคนที่จะซื้อของดีมีคุณภาพตัวจริง โดยไม่ง้อโรงสีพ่อค้าคนกลาง

เช่นเดียวกับเกษตรกรหลายรายที่เราได้เคยนำเสนอในลานนา Bizweekไปนักต่อนัก ฉบับนี้เรามีตัวอย่างเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่หันหลังให้การทำงานเป็นลูกจ้างมาเป็นเกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ขายแบบพอเพียงที่น่าสนใจ

อย่าง กิตติพงษ์ ยะเปียง หนุ่มวัย 35 อยู่บ้านสบเสริม หมู่ 9 อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ที่ลงทุนทำโรงเรือนปลูกเมลอนญี่ปุ่น และเมลอนเกาหลี เพียง 8 โรงเรือน สร้างรายได้หลักแสนในเวลาอันสั้น   

กิตติพงษ์ เล่าว่า จากประสบการณ์ที่เขาไปรับจ้างแรงงานในสวนแตงโม และเมลอนที่ประเทศเกาหลี กว่า 3 ปีทำให้เขารักและหลงใหลการปลูกแตงหลากหลายชนิด และพบว่าการปลูกเมลอนไม่ยากอย่างที่คิด มีเพียงพื้นที่สร้างโรงเรือน และเมล็ดพันธ์คุณภาพดี อยู่ที่การดูแลเอาใจใส่สามารถขายผลผลิตในราคาสูง เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าที่บ้านของเขามีที่ดิน และอยู่ในโซนที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งแหล่งน้ำและสภาพอากาศที่ดีเป็นทุนเดิม ประกอบกับความรู้ประสบการณ์ปลูกเมลอนและพืชขายส่งห้างที่เขาทำในเกาหลี มาเป็นวิชาต่อยอดกับความสนใจด้านเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิด เพื่อลงทุนสร้างโรงเรือนปลูกเมลอน 8 หลัง โดยปลูกทีละโรงเรือนเพื่อวางแผนระยะเวลาเก็บเกี่ยวได้ต่อเนื่องทั้งปี

“เมลอนเป็นผลไม้ที่นิยมในกลุ่มคนทุกวัย ห้างร้านขนาดใหญ่ที่มีกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อต้องการมาก ที่สำคัญเมลอน ปลูกขึ้นง่าย แต่ต้องอาศัยการดูแลใส่ใจก่อนการเก็บเกี่ยวค่อนข้างพิถีพิถัน เพื่อให้ติดดอกติดผลที่ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ ผมมีความสนใจด้านเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นหลักการเกษตรที่ไม่ต้องพึ่งพาเคมีเป็นพื้นฐาน เพียงเอามาต่อยอดกับเทคนิคการปลูกตามประสบการณ์ทีได้จากเกาหลี ทำให้ผมสามารถเก็บเกี่ยวเมลอนรุ่นแรกเป็นเมลอนคุณภาพดี ตอนแรกคิดว่าจะทำแจก แต่เมื่อผลผลิตดีผมจึงประกาศขายในเฟซบุ๊ค ส่งสินค้าผ่านเคอรี่ ปรากฏว่าขายหมดในชุดแรก จากนั้นผมจึงและหาแหล่งขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในตัวเมืองลำปาง เช่นตลาดวีมาร์เกต และขายท่องทางออนไลน์อื่นๆ ขณะนี้มียอดขายและจองล่วงหน้าทั้งปี

นอกจากเมลอนแล้ว เขายังปลูกฟักทองเกาหลี โฮบัก ผักสลัดในโรงเรือนอื่นๆสลับกับแตงเมลอน ส่วนพื้นที่ระหว่างโรงเรือนนั้นได้ดัดแปลงเป็นร่องกั้นตาข่ายหัวท้าย ปลูกผักบุ้ง เลี้ยงกบ ไว้กินและขายเป็นรายได้เพิ่มเติม นี่คือผลผลิตของเกษตรกรรุ่นใหม่ใจกล้า อาศัยเกษตรทางเลือกใหม่เป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างมั่นคง  

ดวงแก้ว สิริกุลพิพัฒน์  บ้านห้วยเมี่ยง ม.8  ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง เกษตรกรรุ่นใหม่ที่หันมาทำเกษตรทางเลือกใหม่ๆ แทนการทำไร่ข้าวโพด โดยนำเมล็ดพันธ์จากญาติที่เคยปลูกลูกพลับโครงการหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่มาเพาะและปลูกในที่สวนเขตห้วยเมี่ยง ซึ่งตนก็ได้นำต้นพันธุ์มาปลูกในสวนของตัวเองเริ่มปลูกและขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆขณะนี้ได้ 4 ปีแล้ว มีต้นพลับทั้งที่ยังไม่ให้ผลและเก็บผลได้แล้วแล้ว รวมประมาณ 100 ต้น  ซึ่งข้อดีของการปลูกต้นพลับคือดูแลง่ายมาก ไม่ต้องใช้สารเคมีคุมโรคหรือแมลงใดๆ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะพื้นที่บริเวณห้วยเมี่ยงอากาศไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป และดินอุดมสมบูรณ์โดยรอบเป็นป่าต้นน้ำ ทำให้ต้นพลับเจริญเติบโตได้ดี ลูกผลโตกรอบหวาน

“ครอบครัวผมเคยทำไร่ข้าวโพดแล้วรู้สึกว่าเหนื่อยมากต้องทำในพื้นที่ป่าเขาที่เราขอทำกินแต่กลับได้ผลกำไรน้อย เมื่อผมหันมาปลูกกาแฟ และลูกพลับ สลับกับสตรอว์เบอร์รีในสวนซึ่งดูแลง่ายกว่า ไม่ต้องใช้แรงงาน ทำเองได้ในครอบครัว ลูกพลับจะมีธรรมชาติวงจรที่ไม่ยุ่งยาก ฤดูร้อนจะผลัดใบออกทั้งต้น จากนั้นก็เริ่มออกดอกผลและเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม หนึ่งต้นให้ผลดกมาก รวมแล้วใน 1 ปี ผลผลิตประมาณ 10,000 กิโลกรัม ส่วนการตลาดนั้นขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง และออกไปขายเอง ที่ถนนคนเดินกาดกองต้า และตลาดในจังหวัดลำปาง มีรายได้ปีละประมาณ 1 แสนบาท เมื่อปลูกสลับกับพืชอื่นๆ แบบผสมผสานก็มีรายได้เลี้ยงครอบครัวแบบพอเพียง”

อีกหนึ่งความภูมิใจของหนุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ ใช้แนวคิดการทำเกษตรทางเลือกแบบทำผสมผสานในพื้นที่น้อย แต่มีรายได้มาก แทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นพืชไร่แต่ได้ราคาต่ำ เมื่อหนทางของการเปลี่ยนเส้นทางการเกษตรแนวใหม่เป็นอาชีพหลัก ประจักษ์ได้ว่าทำแบบพอเพียงก็เลี้ยงครอบครัวได้มั่นคง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับ 1189 วันที่ 27 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์