วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

หลักนิติธรรม ถ้ำหลวง เมื่อสื่อฝรั่ง เป็นอภิสิทธิ์ชน !

จำนวนผู้เข้าชม

ผ่านสถานการณ์ข่าว ถ้ำหลวง ขุนน้ำ นางนอน มาแล้ว เรื่องราวของหมูป่า ก็ยังไม่จบ โดยเฉพาะการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ถึงแม้จะมีการแถลงข่าวทางการ เปิดใจ 13 หมูป่า รับรู้เรื่องราวที่เป็นสาระสำคัญ ในห้วงระยะเวลา 17 วันที่พวกเขาอยู่ในถ้ำมาแล้วก็ตาม แต่โดยธรรมชาติของความเป็นสื่อ ก็จะต้องติดตาม สัมภาษณ์ เป็น “เอ็กซ์คลูซีพ” ต่อไป เพราะการแข่งขันเป็นตัวกำหนด

ในระหว่างแถลงข่าว นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ย้ำว่าเขาได้ให้สหวิชาชีพ พ.ม.และฝ่ายปกครอง ไปดูแลเด็ก ไม่ให้สื่อละเมิดกฎหมายคุ้มครองเด็กแล้ว นั่นก็เสมือน คำประกาศของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้สื่อไม่ว่าเชื้อชาติ สัญชาติไหน ได้รับรู้และรับปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน ไม่มีข้อยกเว้น

น่ายินดีว่า ถึงสื่อไทยจะมีความพยายามติดตาม สังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของหมูป่า ซึ่งอาจมาจากคำสั่งของต้นสังกัดอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีสำนักไหนที่ดื้อดึง ละเมิดข้อห้าม เข้าไปถึงตัวเด็ก เหมือนเช่นที่ นายเจมส์ ลองแมน ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอบีซีนิวส์ สหรัฐอเมริกา บุกไปสัมภาษณ์ ด.ช.ชนินทร์ วิบูลย์รุ่งเรือง อายุ 11 ปี 1 ในทีมหมูป่าติดถ้ำ

ประเทศไทยไม่ได้มีสิทธิสภาพเหนืออาณาเขต เหมือนในยุคโบราณ ที่คนสังกัดชาติอื่น อยู่ภายใต้กฎหมาย และการพิจารณาความโดยศาลแห่งตน  ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติไหน มีถิ่นฐานอยู่ที่ใด เมื่อกระทำความผิดตามกฎหมายไทย ก็ต้องถูกดำเนินคดีโดยไม่ละเว้น

กรณีละเมิดสิทธิหมูป่า ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมหรือไม่ก็ตาม ย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อ ในการแพร่ภาพ หรือรายงานข่าวเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ตามกฎหมายเด็กหมายถึงผู้ที่อายุไม่เกิน 15 ปี และเยาวชน อายุเกิน 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี

เจตนารมณ์ในการตรากฎหมายฉบับนี้ ก็เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ  และวิธีปฎิบัติต่อเด็ก และเยาวชน เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก มิให้ถูกทารุณกรรม ตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หรือถูกเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงของสถาบันครอบครัว

มาตรา 27 ของกฎหมายฉบับนี้ เขียนคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการเผยแพร่ข่าว ภาพข่าว ไม่ว่าในสื่อใดว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชน หรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ”

กฎหมายมุ่งให้ความคุ้มครองกับเด็กและเยาวชน เพราะในเชิงจิตวิทยาแล้ว เด็กและเยาวชนยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอในความคิด การตัดสินใจ ซึ่งอาจผิดพลาด และส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขาในอนาคตได้ ไม่ได้เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเรื่อง เฉพาะกรณี หรือตัดสินเอาเองตามความรู้สึก ตามภาพที่เห็น ตามเสียงที่ได้ยิน เมื่อกฎหมายให้การคุ้มครอง ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม หากสภาพจิตใจของเด็ก กลับสู่ภาวะปกติ ด้วยการวิเคราะห์ทางหลักวิชาของนักจิตวิทยาแล้ว เด็กก็อาจใช้เสรีภาพในการแสดงความคิด ความเห็นได้ และสื่อมวลชนก็อาจทำหน้าที่ของเขาต่อไปได้ตามปกติ

สื่อมวลชนอาจรู้สึกสับสนในการเสนอข่าว และภาพเด็ก แต่หากได้ศึกษากฎหมายเกี่ยวกับเด็กทั้งสองฉบับ คือพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว  พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ก็จะเข้าใจว่าข้อจำกัดในการเสนอภาพและข่าวเด็กนั้น มิใช่การจำกัดเสรีภาพ แต่เป็นการให้ความคุ้มครองกับเด็กที่ยังมีวุฒิภาวะไม่เพียงพอที่จะปกป้องสิทธิของตัวเอง

เช่นเดียวกับกรณีนายเจมส์ ลองแมน ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า เขาสัมภาษณ์นุ่มนวลอย่างไร เด็กรู้สึกอย่างไร หรือเด็กตอบคำถามอย่างไร แต่สาระสำคัญอยู่ที่เขาละเมิดข้อห้าม ที่ทางการไทยกำหนดให้สื่อไทยปฎิบัติ โดยอาศัยอำนาจของกฎหมายคุ้มครองเด็ก และนายเจมส์ ลองแมน ก็ไม่ได้มีอภิสิทธิ์ใดๆเหนือสื่อไทย  


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับ 1189 วันที่ 27 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์