วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

วังเหนือ‘ทำสาว’ลำไย ลูกใหญ่เนื้อแน่นขายนอกฤดู

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

ฤดูกาลเก็บเกี่ยวลำไยในช่วงเดือนกรกฎา-สิงหาคม เริ่มใกล้เข้ามาถึงแล้ว ในท้องตลาดแข่งขันกันทั่วประเทศ แต่ถ้าพูดถึงภาคเหนือ แหล่งปลูกลำไยส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ จึงไม่แปลกที่มีสงครามราคาลำไยถล่มทับกัน ทำให้บางปีราคาลำไยร่วงลงมาเหลือ กิโลกรัมละ 10 บาทต้นๆ แต่อย่างไรก็ตามลำไยคุณภาพเกรด  A ก็มีน้อยลง เพราะเกษตรกรหันไปปลูกเชิงปริมาณ ขายเหมายกสวนกันมากกว่า

แต่รู้ไหมว่า ที่ลำปางก็มีสวนลำไยหลายแห่ง แต่ที่ปลูกกันมากแบบเชิงพาณิชย์ ก็เหลืออยู่ที่อำเภอวังเหนือ และที่น่าสนใจคือเกษตรกรเริ่มหันมาใช้เทคนิคตัดแต่งกิ่ง พัฒนาผลผลิตลำไยเกรดส่งออก และ ทำผลผลิตนอกฤดูกาลกำลังจะเริ่มเก็บเกี่ยวขาย โกยรายได้ช่วงเทศกาลปีใหม่และ ตรุษจีนที่จะถึงนี้

จ่าสิบเอก สมพล ทะหลวย หรือ ลุงสมพล เกษตรกรต้นแบบแห่งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.วังเหนือ จ.ลำปาง หนึ่งในเกษตรกรผู้หาญกล้าในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำสวนลำไย ด้วยการตัดแต่กิ่งที่เรียกว่า “ทำสาว” ต้นลำไยจากเดิมต้นสูงใหญ่ ให้ผลผลิตลำไยลูกเล็ก ไม่มีคุณภาพ แต่เมื่อตัดใจริดกิ่ง แต่งพุ่มให้กลายเป็นลำไยต้นเตี้ย ดูแลและเก็บเกี่ยว  ง่ายได้ผลผลิตลูกโต ขนาด AA  


ลุงสมพลเล่าว่า ก่อนหน้านี้ทำสวนแบบผสมผสาน ปลูกทั้งลำไย มะขามยักษ์ มะม่วงสับปะรดรวม 150 ต้น  ผลผลิตลำไยขายไม่ได้ราคา เพราะเราปลูกแบบยุคโบราณ ลำต้นสูง เก็บเกี่ยวยาก บางปีลูกดกแต่ขนาดเล็กไม่เป็นที่ต้องการตลาด ขายสู้ลำไยเชียงใหม่ลำพูนไม่ได้ กระทั่งปี 2559 เกษตรอำเภอวังเหนือเห็นว่าที่วังเหนือมีสวนลำไยกระจายอยู่เยอะ เลยมี “โครงการเกษตรแปลงใหญ่ลำไยคุณภาพ”  ให้แต่ละสวนร่วมกันพัฒนาผลผลิตมาตรฐานเดียวกัน โดยใช้เทคนิคตัดแต่งกิ่ง แต่งช่อ เป้าหมายให้ได้ผลผลิตเกรด AA  และลำไยนอกฤดูกาล การเข้าโครงการนี้ต้องตัดสินใจอย่างหนัก เพราะต้องตัดกิ่งต้นลำไยทุกต้นที่มีอยู่ ตามหลักวิชาการเกษตรด้านการแต่งกิ่ง แล้วทำตามาตรฐานการการให้ปุ๋ยชีวภาพ ลดเคมีเกินความจำเป็น หรือไม่ใช้เลยยิ่งดี เมื่อตัดสินใจแล้วในปีแรก ไม่ได้ผลผลิตตามที่คาดหวัง แต่ในปีที่ 2 เริ่มเห็นผล ขายได้ราคากิโลกรัมละ ไม่น้อยกว่า 30 บาท  

“การตัดแต่งกิ่งลำไย แบบเทคนิคทำสาว เป็นเรื่องของการสู้กับใจที่เราต้องยอมตัดกิ่งให้เหลือต้นเตี้ยๆ แต่เมื่อทำแล้วพบว่ามีผลดีหลายด้าน ตั้งแต่เรื่องต้นทุนซึ่งไม่ต้องพึ่งไม้ค้ำยันกิ่ง ประหยัดไปปีละหลายพันบาท  การให้ปุ๋ยก็น้อยลง ระบบน้ำและการดูแลระยะออกดอกผล จนถึงเก็บเกี่ยว ที่สำคัญคือเรื่องแรงงาน ลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน จากเดิมต้องใช้ผู้ชายปีนขึ้นไปเก็บ แต่เมื่อเป็นต้นเตี้ย สามารถใช้แรงงานผู้หญิง หรือผู้สูงอายุในชุมชนที่ยังทำงานได้ ไม่ต้องรอจ้างแรงงานนอกพื้นที่  ส่วนผลผลิตปีนี้คาดว่าจะสามารถเก็บได้ไร่ละ ประมาณ 200 กิโลกรัม”

ยุพา คนเที่ยง เกษตรกรผู้ปลูกลำไย บ้านใหม่ หมู่ ต.วังเหนือ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง เล่าว่า หลังจากเกษตรกร อ.วังเหนือได้รวมตัวกันเป็น ลำไยแปลงใหญ่ร่วมกัน ตนมีพื้นที่ปลูกประมาณ 15 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ ทำผลผลิตผลไยคุณภาพ AA ขายในฤดูกาล และ ลำไยนอกฤดูกาล ให้สามารถเก็บเกี่ยวขายในช่วงปลายเดือน มกราคม ถึง ช่วงเทศกาลตรุษจีนเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งการทำผลผลิตที่แตกต่างเรื่องคุณภาพ และช่วงเวลานอกฤดูกาล ทำให้ราคาขายส่ง ขยับสูงขึ้น 25-30 บาท ส่วนราคาขายปลีกน่าจะเกือบ 50 บาท  ซึ่งตลาดกลุ่มนี้อยู่ที่กรุงเทพ และห้างสรรพสินค้ารวมถึง กลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวคนจีน     

เบญจวรรณ  สิทธิตุ่น เกษตรอำเภอวังเหนือ บอกเล่าว่า จากนโยบายการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกลำไยของกรมส่งเสริมการเกษตรและยุทธศาสตร์เกษตรสุขภาพ เกษตรคุณภาพ ซึ่งมีเป้าหมายให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเน้นคุณภาพ ในพื้นที่ขนาดเล็กแต่ขายได้ผลกำไรกว่าการทำพืชไร่ ซึ่งมีส่วนในการลดพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว หรือไร่ข้าวโพดในอำเภอวังเหนือ  โดยการทำลำไยคุณภาพสามารถทำผลผลิตได้มากถึง 200 ก.ก./ไร่ ในปีนี้มีเป้าหมายเกษตรกรรวมกัน 10 รายพื้นที่รวม ไม่น้อยกว่า  200 ไร่ และขยายผลไปปี 2562 ให้ได้ 500-600 ไร่ 


ธวัชชัย สิทธิวีระกุล เกษตรจังหวัดลำปาง ระบุว่าจากข้อมูลการปลูกลำไย 2559 – ปี 2560  เกษตรจังหวัดลำปาง  พบว่าจังหวัดลำปางมีพื้นที่ปลูกลำไย จำนวน  27 แปลง  เกษตรกรจำนวน  3,183  ราย พื้นที่ปลูกลำไย จำนวน 24,250 ไร่  ซึ่งมีความพร้อมที่จะขยายผลในการผลิตลำไยคุณภาพ และในฤดูกาลผลิต ปี 2561 นี้ จังหวัดลำปางมีพื้นที่การปลูกลำไยในฤดู 18,903 ไร่ มีผลผลิตลำไยในฤดูประมาณ 6,249 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 398  กิโลกรัมต่อไร่

ในปี 2561 นี้พบว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2561 ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาลำไยให้มีคุณภาพในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอวังเหนือ  อำเภอเกาะคา และ อำเภอเมืองลำปาง  จำนวนเกษตรกร 252 ราย พื้นที่ปลูก 1,247 ไร่ ผลผลิต 400  ตัน 
  
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1186 วันที่ 6 - 12 กรกฎาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์