ศาลจังหวัดลำปาง สั่งคดี “อมลยา” ฟ้อง “ลานนาโพสต์” ไม่มีมูล ชี้สื่อเสนอตามข้อเท็จจริง ไม่ใช้อารมณ์ ความรู้สึก บรรณาธิการลั่นฟ้องกลับ ข้อหาฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน ยืนยันสื่อต้องทำหน้าที่ตามหลักการ เสนอข้อเท็จจริง อย่างครบถ้วนและรอบด้าน ไม่มีอคติในการเสนอข่าว หากผิดพลาดต้องแก้ไขโดยพลัน
ศาลจังหวัดลำปาง
ใช้เวลาราว 20
นาที ในการอ่านคำสั่งคดีที่นางสาวอมลยา เจนตวนิชย์
ทายาทโรงแรมทิพย์ช้าง ฟ้องหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ และบรรณาธิการ เป็นจำเลยต่อศาล
ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยได้ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญทั้งในข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริง อย่างละเอียด
ทั้งนี้ ศาลได้อ่านคำสั่งเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม
หลังจากมีการไต่สวนมูลฟ้องเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา
คำสั่งโดยสรุป
ระบุว่า จำเลยได้เสนอข่าวไปตามข้อเท็จจริง โดยไม่ได้ใช้อารมณ์ ความรู้สึก
เป็นที่ตั้ง อีกทั้งเป็นการเสนอข้อเท็จจริงว่า มีการขอหมายจับ ซึ่งยังไม่มีหมายจับ
(รายละเอียด คำสั่งศาลฉบับเต็ม จะเสนอต่อไป)
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า
จำเลยได้นำเอาข้อความอันเป็นเท็จใส่ความโจทก์ หมิ่นประมาทโจทก์ต่อบุคคลที่สาม
และประชาชนโดยทั่วไป ในข้อความที่ตีพิมพ์โฆษณาว่า
“ขอหมายจับลูกทิพย์ช้างรุกที่โรงแรม” และได้นำข้อมูลอันเป็นเท็จ
เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อโจทก์
“หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์
ฉบับดังกล่าวนี้มีวางขายและจำหน่ายให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปในจังหวัดลำปาง
และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งข้อความดังกล่าวในคำฟ้อง ซึ่งได้ถูกนำมาตีพิมพ์และโฆษณานี้นั้น
ล้วนแต่เป็นข้อความที่เป็นการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์
ซึ่งเมื่อได้อ่านข้อความโดยตลอดแล้ว จะทำให้ผู้อื่นและประชาชนโดยทั่วไป
เข้าใจว่าโจทก์ถูกศาลออกหมายจับ และบุกรุกที่ดินพิพาท ซึ่งไม่มีความจริงแต่อย่างใด
เนื่องจากคดีในที่ดินพิพาทนั้น
อยู่ระหว่างดำเนินคดีในชั้นศาล และคดียังไม่ถึงที่สุด
ซึ่งความเข้าใจของผู้อ่านและประชาชนดังกล่าวนี้ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์
ทั้งในด้านชื่อเสียงเกียรติยศ ทางทำมาหาได้ ฐานะทางสังคม...”
ตอนหนึ่งในคำฟ้องระบุ
นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ กล่าวว่า
คำสั่งศาลครั้งนี้ เป็นการยืนยันหลักข้อยกเว้นตามกฎหมาย คือการเสนอข้อเท็จจริง
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 330 ที่ว่า
ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง
ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ซึ่งในนโยบายข่าวของลานนาโพสต์ ก็ชัดเจนว่า
จะต้องยึดหลักการเสนอข่าวบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน
คำว่ารอบด้านหมายถึง จะต้องให้ผู้ที่ถูกอ้างถึงในข่าว ได้มีโอกาสพูด และชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย
ซึ่งในข่าวชิ้นนี้ ก็ได้เปิดพื้นที่ให้โจทก์ได้อธิบายเหตุผลด้วย อย่างไรก็ตาม
ถ้าได้เสนอข่าวไปตามหลักการแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฟ้องหรือไม่
นายจักร์กฤษ
กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ทำหน้าที่บรรณาธิการมาเป็นเวลาหลายสิบปี
หนังสือพิมพ์มีโอกาสผิดพลาด และทำให้บุคคลอื่นได้รับผลกระทบต่อชื่อเสียง เกียรติยศได้
หากเกิดความผิดพลาดเช่นนั้น หนังสือพิมพ์ก็ต้องน้อมรับความผิด จัดการแก้ไขโดยพลัน
ไม่ว่าจะถูกฟ้องหรือไม่ ในกรณีที่ถูกฟ้อง
หากเป็นความผิดจริง ก็จะยอมรับ และยอมบรรเทาความเสียหายต่อโจทก์ในทันที
โดยไม่จำเป็นต้องมีการไต่สวน หรือสืบพยาน แต่ถ้าได้เสนอข่าวไปตามหลักการแล้ว
ก็ยืนยันที่จะพิสูจน์ความจริงในที่สุด
“ผมไม่ได้รู้จักโจทก์ในคดีนี้
ไม่มีอคติ ใดๆทั้งสิ้น แต่ก็กำลังพิจารณาว่า เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานสำหรับวงการสื่อมวลชนที่ถูกฟ้อง
ถูกดำเนินคดีในลักษณะนี้ ก็อาจจะมีการฟ้องกลับข้อหาฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ
ทั้งที่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร ซึ่งโทษหนักกว่าคดีหมิ่นประมาทหลายเท่า
นอกจากนั้น อาจพิจารณาให้ความรู้กับสังคมว่า
กฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่แก้ไขใหม่ เขียนไว้ชัดว่า
กฎหมายฉบับดังกล่าว ไม่ใช้ในคดีหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
ซึ่งคนทั่วไปอาจยังไม่รู้” นายจักร์กฤษ
กล่าว
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น