สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ
พร้อมเป็นแนวร่วมหนุนการตลาด ลำปางเดินหน้าขับเคลื่อน “ลำปางเมืองเกษตรอุตสาหกรรม
เพื่อการส่งออกภาคเหนือ” หลังครม.สัญจรไฟเขียวดันสับปะรดลำปางเป็นหนึ่งใน
5 พืชเป้าหมายยกระดับคุณภาพสู่เกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
เมื่อรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการยกระดับภาคเกษตร สู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรม ตั้งแต่ การผลิต การแปรรูป
ปัจจัยที่ช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมทางการเกษตร ทั้งวัตถุดิบ จุดมุ่งหมายทางการตลาด เงินทุน
การวางแผนจัดการเชิงยุทธศาสตร์
เครื่องมือหรือเครื่องจักรที่เอื้อต่อการทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรม
สับปะรดลำปาง หนึ่งในพืชเกษตรลำปางถูกเลือกให้เป็นพืชเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
จากการประชุมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2560 ณ
มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก โดยมี ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ได้หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น
ผู้แทนเกษตรกร ในภาคเหนือเรื่องทิศทาง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ภาคเหนือ
โดยมีข้อเสนอของภาคเอกชน ด้านการเกษตรและการแปรรูป การขอรับการสนับสนุน “โครงการเกษตรอุตสาหกรรม
เพื่อการส่งออกภาคเหนือ” โดยใช้ผักผลไม้นำร่องได้แก่
กล้วยหอม สับปะรด กระเจี๊ยบเขียว ขิง มะม่วง ข้าว ไผ่ และพืชสมุนไพร
ในลักษณะครอบคลุมการผลิตต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อเป็นอาหารอนาคต (Functional
Food /Healthy Food ) โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน สถาบันเกษตรกรแห่งชาติ
สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาในรายละเอียด
โดยสับปะรดของจังหวัดลำปาง เป็นพืชเป้าหมายตามโครงการเกษตรอุตสาหกรรมดังกล่าว
ล่าสุด จังหวัดลำปาง
จัดประชุมหารือการขับเคลื่อน “ลำปางเมืองเกษตรอุตสาหกรรม
เพื่อการส่งออกภาคเหนือ” ในประเด็นการนำสับปะรดลำปางสู่การส่งออก
ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ และ
หน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในโครงการเกษตรอุตสาหกรรม ตามมติ ครม.ดังกล่าว
ทวีกิจ จตุรเจริญคุณ
ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ เผยว่า จากข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ
ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จ.พิษณุโลก และสุโขทัย
ได้เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการ เกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกในภาคเหนือ โดยเลือกพืชที่โดดเด่นแต่ละจังหวัด
คือ สับปะรดที่จังหวัดลำปาง จะดำเนินการต่อเนื่องจาก กล้วยหอมที่จังหวัดตาก มะม่วงน้ำดอกไม้ที่ จังหวัดพิษณุโลก ที่ดันสู่การตลาดส่งออกเป็นรูปธรรมแล้ว จากนั้นจะไป
เดินหน้าโครงการต่อที่การทำกระเจี๊ยบเขียวพะเยา
ขิงเพชรบูรณ์ ข้าว ไผ่
และพืชสมุนไพร ในทุกจังหวัดของภาคเหนือ
ในส่วนของจังหวัดลำปาง
มีจุดเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาสับปะรดราคาตกต่ำ และปัญหาคุณภาพของสับปะรดปัตตาเวีย
ซึ่งตรงกับแนวทางของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ที่วางยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาคุณภาพผลผลิต
ให้ยกระดับไปสู่ตลาดส่งออก ทั้งนี้ทางสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ มีข้อเสนอ แนวทางระยะสั้น
เพื่อช่วยขายสับปะรดปัตตาเวียที่มีอยู่ ระหว่างรอการพัฒนาส่งเสริมการปลูกสับปะรด MD2
ทดแทนสายพันธุ์ปัตตาเวีย ตามแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาสับปะรด ซึ่งต้องใช้เวลา ราว 3-4
ปี โดยจัดหาตลาดที่รับซื้อปัตตาเวียในประเทศญี่ปุ่น
ในรูปแบบของการแปรรูปแช่แข็งให้สามารถเก็บได้นานตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งจะสามารถช่วยระบาย
ผลผลิตสับปะรดลำปางได้ประมาณ 40,000 ตัน
ขณะเดียวกันก็เดินหน้าแผนส่งเสริมปลูกสับปะรด MD2
แปลงใหญ่ควบคู่กับการควบคุมผลผลิตสับปะรด MD2
ให้มีมาตรฐานเดียวกัน
สิริพร ช่างปณีตัง
ผู้จัดการสหกรณ์สับปะรดลำปางจำกัด ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า
สิ่งที่สำคัญอีกประการคือการพัฒนาคุณภาพของเนื้อสับปะรดเพื่อแก้ปัญหาเนื้อเป็นโพรงและนิ่ม
ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการแปรรูป ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมไม่รับซื้อ
จึงเสนอให้คณะทำงานนำปัญหานี้เข้าพิจารณาเป็นประโยชน์ต่อการเดินหน้าโครงการต่างๆ
ด้วยเช่นกัน
ผศ.ประพัฒน์ เชื้อไทย
อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในฐานะคณะทำงานร่วมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
แก้ปัญหาสับปะรดลำปางตามแผน 5 ปี
กล่าวว่าทุกฝ่ายต้องร่วมกันให้ความสำคัญในการควบคุมแปลงให้ได้
คือเกษตรกรต้องมีการขึ้นทะเบียนและควบคุมแปลงตามมาตรฐาน
การพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ของลำปางที่เน้นขายผลสดรวมถึง การแปรรูปชั้นสูง
การประชุมครั้งนี้ ทรงพล
สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวเน้นย้ำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
เร่งรัดการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งจะเน้นผลักดันให้เกษตรกรหันมาปลูกสับปะรดสายพันธุ์คุณภาพเพื่อการส่งออก
กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ลดการใช้สารเคมี ตลอดจนเน้นเรื่องความชัดเจนของตลาด
ที่มีผู้ซื้อแน่นอน นอกจากนี้จังหวัดยังได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากงบฯภาค
เพื่อดำเนินโครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์สับปะรดเน้นเพื่อการทานผลสด
รสชาติดี ให้ผลผลิตดีทั้งในและนอกฤดูกาล เพื่อให้ออกสู่ท้องตลาดอย่างสม่ำเสมอ
ในส่วนของการส่งเสริมการแปรรูปสับปะรดเพื่อการส่งออก
ที่ยังขาดแคลนเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่เหมาะสมตามที่คณะทำงานได้มีการเสนอความคิดเห็นนั้น
ขอให้คณะทำงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ศึกษาถึงแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน
เนื่องจากงบประมาณค่อนข้างสูง จึงต้องวางแผนงานให้มีความรัดกุม ชัดเจน
และเกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรในพื้นที่
เพื่อทางจังหวัดจะได้นำแผนงานดังกล่าวเสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น