วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561

คำสั่งทางปกครอง กับปัญหาข้อกฎหมาย กรณี ร.พ.มงกุฎวัฒนะ ใช้อาคารผิดประเภท

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

วันนี้พักเรื่องสื่อ มาว่ากันเรื่องโรงพยาบาล สถานที่อันเกี่ยวพันกับชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นปัญหาค่อนข้างเทคนิค แต่ก็น่าเป็นความรู้ไว้ สำหรับคนที่ไปใช้บริการโรงพยาบาล และบังเอิญไปนอนป่วยอยู่ในตึกที่ไม่ได้สร้างไว้เป็นสถานพยาบาล แต่เข้าใจว่านั่นคือส่วนหนึ่งของโรงพยาบาล

เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้น ที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ย่านถนนแจ้งวัฒนะ ของคุณหมอคนดัง พล.ต.น.พ.เหรียญทอง แน่นหนา   โรงพยาบาลซึ่งมีรีวิวมากมาย จากผู้ใช้บริการ และผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสังคม อ่านรายละเอียดได้ในชุมชนพันทิป

แต่ประเด็นที่จะกล่าวถึง โรงพยาบาล มงกุฎวัฒนะครั้งนี้ มาจากการที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าทำการตรวจมาตรฐานคุณภาพของโรงพยาบาล แล้วพบว่า โรงพยาบาลประกอบด้วยอาคารจำนวนสามหลัง  ได้แก่อาคาร A อาคาร B และอาคาร C

อาคาร A เป็นอาคารที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ส่วนอาคาร B และC  เป็นอาคารที่ใช้ในงานสนับสนุนบริการทั่วไปของโรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลนำอาคาร B และ C มาใช้ในการประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย 

ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ในฐานะ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ออกคำสั่งระงับการประกอบกิจการสถานพยาบาล ในอาคาร B และ C จนกว่าจะได้ดำเนินการให้ถูกต้อง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาลฯ และแจ้งสิทธิอุทธรณ์ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายใน  30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง

โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ไม่ได้ใช้สิทธิ์อุทธรณ์  แต่ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอทุเลาหรือชะลอคำสั่งระงับการใช้อาคาร B และ C

จากนั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จึงหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า  อำนาจการพิจารณาคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่ง จะเป็นอำนาจของบุคคลใด ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า มาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ หรือผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยความถูกต้องของคำสั่งทางปกครอง มีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง

การทุเลาการบังคับมีวัตถุประสงค์ เพื่อชะลอหรือระงับการบังคับตามคำสั่งไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว ในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของฝ่ายปกครอง หรือการพิจารณาคดีของศาล ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อยู่ในบังคับของคำสั่ง เพราะหากหน่วยงานของรัฐได้ใช้มาตรการบังคับทางปกครองไปแล้ว แต่ต่อมาปรากฏว่าคำสั่งทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีการเพิกถอนคำสั่ง

กรณีก็จะต้องมีการเยียวยาแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง เมื่อข้อหารือนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งระงับการประกอบกิจการสถานพยาบาลในอาคาร B และ C ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล กรณีจึงไม่อาจรับคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งระงับการประกอบกิจการสถานพยาบาลในอาคาร B และ C ไว้พิจารณาได้

ความเห็นทางกฎหมายเรื่องนี้ โดยสรุปคือ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ไม่สามารถใช้อาคารทั้งสอง ประกอบกิจการสถานพยาบาลได้ เพราะมิได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีในระยะเวลา

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1190 วันที่ 3 - 9 สิงหาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์