วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ปรับ MINDSET คนก่อนพัฒนา..ชุมชน

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

 ฟังการประชุมเรื่องสินค้าและการพัฒนาท้องถิ่นมาหลายเวที ต่างก็พูดถึงกิจกรรมการพัฒนา ที่งบประมาณรัฐลงไปอุดหนุนชาวบ้านทำกิจกรรม หรือสร้างนี่นั่นหลายอย่างในชุมชน บางทีก็อดขำไมได้เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ หลายคนก็แอบบ่นในบางเวทีว่า เจ้าหน้าที่สายพัฒนาบางทีก็ต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ในเรื่องของการสร้างแบรนด์ให้สินค้าชุมชน เพราะเดียวนี้คำว่าสินค้าไม่ใช่แค่ของที่จะขาย แต่มันอาจหมายถึงสินค้าที่เป็นบริการ เป็นภาพลักษณ์มาในรูปของการท่องเที่ยว ที่เรียกกันว่าผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวซึ่งอาจจะหมายถึงแหล่งท่องเที่ยว จุดเช็คอิน หรือร้านโอทอป ร้านขายของที่ระลึก ไปจนถึง ภาพรวมของชุมชน ให้ดีกันเสียก่อน

เมื่อต้นเดือนก็เห็นเรื่องราวในโซเชียลเรื่องโครงการนวัติวิถีหลายโครงการ ทำดีน่าสนับสนุนบอกต่อ เพราะเขามีรูปแบบเรื่องราวของชุมชนน่าสนใจให้เข้าไปท่องเที่ยวค้นหา แต่ก็มีบางหมู่บ้าน นวัติวิถีที่ยังตีโจทย์ไม่แตก ไม่เข้าใจความเป็นตัวตนของชุมชนตัวเอง ไม่รู้ว่ามีต้นสายปลายเหตุจากผู้นำไม่เข้าใจ หรือว่าคนในชุมชนไม่มีส่วนรู้เห็นในกิจกรรมนั้น เพราะการเปิดตัวหมู่บ้านชุมชนต้องดึงเอาความเป็นตัวตนออกมาประชาสัมพันธ์ให้คนอยากไปเยือน แต่บางหมู่บ้านที่มีของดีแต่ยังหาจุดดีของตัวเองออกมาขายไม่ได้เปิดตัวหมู่บ้านท่องเที่ยวแต่เอานักร้องนุ่งสั้นมาอวดในงาน ถือว่าเป็นหนทางสู่ความล้มเหลวงตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น หน่วยงานที่ดูแลอย่างพัฒนาชุมชนระดับอำเภอก็ควรใส่ใจดูรายละเอียดแผนงานไม่ใช่ปล่อยให้เสียขบวนแล้วหาข้อแก้ตัว

ขณะที่บางพื้นที่ก็ยังไม่มีจุดยืน ทั้งที่งบประมาณจ่อจะส่งมาช่วยพัฒนา อย่างเช่นแถวโซนเกาะคา มีมนุษย์โบราณเป็นของดี แต่ไม่เคยเอามานำเสนอในเชิงสร้างสรรค์ และสร้างจุดแลนมาร์คให้เป็นจุดท่องเที่ยวอย่างจริงจังได้สักที เพราะบางทีการทำงานแบบทอปดาวน์ เอาเงินไปใช้แต่ไม่ให้คนเก่งลงไปช่วย และชาวบ้านเองก็ไม่มีส่วนร่วมสร้างให้ชุมชนตัวเองไปสู่จุดหมายของการเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวได้อย่างเข้มแข็ง 

การสร้างแบรนด์ ของชุมชนคนทำงานทุกระดับยังต้องเรียนรู้อีกมาก ตั้งแต่การ วิเคราะห์จุดเริ่มต้นว่า กำลังจะทำอะไร หาจุดยืนของตัวเองให้เจอ เพื่อนำเสนอให้ตลาดที่เขาคาดหวังสิ่งที่จะได้รับ

อย่างที่สองคือเรื่องของการสร้างชื่อหรือ สัญลักษณ์โลโก้ สโลแกน คำพูด คำบรรยายที่ติดปาก แต่ส่วนใหญ่มักติดกับดักเน้นโลโก้ของหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ หรือสร้างโลโก้เชยๆ ชื่ออ่านยาว จำยากๆ เหนื่อยใจแทน  เมื่อ สร้างกิจกรรมหรือพัฒนาโครงการอะไรขึ้นมาแล้ว อย่างที่สาม คือการสร้างการรับรู้ (Brand awareness)คือพูดถึงบ่อยๆ นำเสนอในทุกๆที่ที่มีโอกาส ให้มันติดตลาด และก็นำไปสู่ความนิยมชมชอบ เกิดผลทางการตลาดต่อเนื่องไม่เสียงบประมาณเปล่า เท่านี้ ชุมชนก็จะได้รับผลจากความยั่งยืน ที่แท้จริง

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ก่อนจะพัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพี่เลี้ยงต้องพัฒนา MINDSET ตนเองก่อนไหม??

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1190 วันที่ 3 - 9 สิงหาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์