
ในจำนวนวัดพม่าทั้ง
10 วัดของเมืองลำปางบ้านเรา
นอกจากศิลปะสถาปัตยกรรมจะปรากฏชัดถึงความล้ำเลิศในฝีมือเชิงช่างแล้ว ลึกลงไป สิ่งที่แทรกซ่อนอยู่ในความงามนั้น
คือเรื่องเล่าและตำนานอันลึกซึ้ง
เมื่อก้าวเข้าสู่วัดพม่า
สิ่งที่เราพบเห็นเสมอคือสิงห์ ซึ่งบางทีเราอาจไม่สนใจด้วยซ้ำถึงการมีอยู่ของสิงห์คู่ตรงประตูทางเข้า-ออกของวัด
หรือไม่ก็อยู่ตามมุมต่างๆ บริเวณเจดีย์
เพราะเจดีย์พม่านั้นชวนตะลึงพรึงเพริดน้อยอยู่เสียเมื่อไร แล้วใครจะมาสนใจชมสิงห์กันเล่า
โดยทั่วไป
พม่ามักจะมีสิงห์ หรือฉิ่นเต้ เป็นดั่งทวารบาลเฝ้าทางเข้า-ออกของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
นั่นเพราะชาวพม่ามีคติความเชื่อในเรื่องสิงห์ไถ่บาป อันมีที่มาจากตำนานสิงหนพาหุในพงศาวดารลังกาที่ว่า
ราชสีห์ตัวหนึ่งได้ลักพาเจ้าหญิงองค์หนึ่งไปไว้ในป่า โดยที่เจ้าหญิงก็มีพระโอรสและพระธิดาซึ่งยังเป็นทารกอยู่ด้วย
ราชสีห์นั้นเลี้ยงดูทั้งพระโอรสและพระธิดาจนเติบใหญ่
ต่อมาพระโอรสได้พาพระมารดาและพระขนิษฐาหนีกลับวังได้
ราชสีห์พยายามตามหาด้วยความรัก ใครขัดขวางก็ถูกฆ่าตายหมด
ความทราบถึงพระโอรสจึงออกมาปราบโดยการยิงธนูกรอกปากราชสีห์จนตาย
ครั้นเมื่อพระโอรสได้เป็นกษัตริย์
จะทำสิ่งใดก็ติดขัดไปหมด ปุโรหิตจึงทูลว่า เป็นเพราะบาปกรรมที่ฆ่าราชสีห์ผู้มีพระคุณ
พระองค์จึงทรงปวารณาว่า จะสร้างรูปปั้นราชสีห์ไว้ที่ประตูวัด
หรือที่มุมเจดีย์เพื่อเป็นการไถ่บาป วัดในพม่าจึงมักจะมีรูปปั้นสิงห์
และเมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยึดครองเชียงใหม่เป็นประเทศราชได้
คติความเชื่อนี้ก็ตกทอดมาถึงดินแดนล้านนา
เรื่องราวเกี่ยวกับลูกฆ่าพ่อ
นอกจากพม่า ล้านนาแล้ว ทางภาคกลางก็ยังมีเรื่องทำนองนี้ด้วย คือตำนานพระปฐมเจดีย์
จังหวัดนครปฐม เรื่องพญากง พญาพาน เป็นวรรณกรรมอยุธยา แต่ที่เหมือนกันมาก
มีโครงเรื่องหลักเหมือนกัน คือ ลูกฆ่าพ่อ และพ่อเป็นสิงห์ คือตำนานพระนอนจักรสีห์
วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร อำเภอเมืองฯ จังหวัดสิงห์บุรี ที่มีต้นเค้าจากพงศาวดารลังกาเช่นกัน
พญาพานฆ่าพ่อที่ชื่อพญากง
แล้วสร้างเจดีย์ล้างกรรมสูงเท่านกเขาเหิน ซึ่งหมายถึงพระปฐมเจดีย์
สิงหนพาหุในตำนานพระนอนจักรสีห์
สร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นองค์หนึ่ง เอาทองคำโต 3 กำ ยาว 1 เส้น ทำเป็นแกนพระพุทธรูป ซึ่งก็คือองค์พระพุทธไสยาสน์
นอกจากสิงห์ไถ่บาปแล้ว
พม่ายังมีสิงห์อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสะท้อนความเชื่อที่แตกต่างออกไป นั่นคือ นรสิงห์
อันที่จริง
นรสิงห์ปรากฏอยู่ตามมุมต่างๆ บนเจดีย์พม่า แต่ไม่อาจคาดเดาได้ว่า
สิ่งที่เห็นนั้นควรเรียกว่าอะไรดี ทั้งนี้ ก็เพราะปูนปั้นรูปนรสิงห์
หรือมนุษย์สิงห์ มีหัวเป็นมนุษย์ สวมชฎา มีลำตัวเป็นสิงห์แฝด ตามตำนานเล่าว่า
เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่งสมณทูต คือ พระโสณะและพระอุตตระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เมืองสะเทิมของมอญ
เวลานั้นมีนางยักษ์เที่ยวจับทารกกิน
ทำความเดือดร้อนให้กับราษฎรและกษัตริย์มอญเป็นอย่างมาก
สมณทูตทั้งสองจึงแสดงปาฏิหาริย์เป็นนรสิงห์ หรือมนุษย์สิงห์
จนนางยักษ์กลัวหนีหายไป ครั้นบ้านเมืองกลับมาสงบสุขอีกครั้ง
กษัตริย์มอญจึงรับสั่งให้สร้างรูปนรสิงห์เป็นสัญลักษณ์ป้องกันภยันตรายแก่ราษฎรนับแต่นั้น
หากไปเที่ยววัดพม่าอีก
ขอเวลาสักนิดสำหรับการชื่นชมสิงห์กับนรสิงห์ แล้วจะเห็นว่า พวกเขา
หน้าตาไม่เหมือนกัน มีความงามในอีกรูปแบบหนึ่ง ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นทั้งด้านมืดและด้านสว่างของมนุษย์ได้อย่างถึงแก่น
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1193 วันที่ 24 - 30 สิงหาคม 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น