เกษตรกรรุ่นใหม่สุดเจ๋งหันหลังให้การเป็นลูกจ้าง
เปลี่ยนแปลงนาเป็นบ่อกุ้งก้ามกราม ขายในชุมชนได้ราคาดี กิโลละ 400 บาท วางเป้าขยายการผลิตเชื่อมโยงรายได้หมุนเวียนในชุมชนในอนาคต
ภาพ ‘กุ้งก้ามกราม’
ตัวเขื่อง ยังอายุรุ่นๆรอวันโตเต็มที่พร้อมขาย
ในมือของหนุ่มน้อยผู้เป็นเจ้าของ ที่เขาช้อนขึ้นจากบ่อเลี้ยงให้หมู่คณะของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
ทรงพล สวาสดิ์ธรรม และคณะเกษตร ประมง รวมถึงผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ไปเยี่ยมชมบ่อกุ้งของเขา
สร้างความตื่นเต้นแก่คณะที่มาเยือนมากเป็นพิเศษ เพราะ
เจ้าของบ่อกุ้งก้ามกรามแห่งนี้อาจจะเป็น
เกษตรกรที่อายุน้อยที่สุดในลำปางเลยก็ว่าได้
‘กันต์’นัฏฐากรณ์ด่านตระกูลเกษตรกรรุ่นใหม่วัย 26
ปี เล่าว่า หลังจากที่เขาจบการศึกษาสาขาประมง มหาวิทยาลัยแม่โจ้
จังหวัดเชียงใหม่ได้เข้าทำงานเป็นนักวิชาการประมงในบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ 2 ปี ก็หันหลังให้การทำงานประจำวางแผนกลับมาเป็นเกษตรกรที่บ้านตัวเอง
บ้านแหงใต้ ต.บ้านแหง อ.งาวด้วยความถนัดด้านการประมง “กันต์”
มองหาโอกาสจากอาชีพที่ลงทุนน้อย แต่สร้างรายได้สูง
ไม่ยุ่งยากต่อการดูแลบริหารจัดการ “เลี้ยงกุ้งก้ามกราม”
จึงเป็นคำตอบที่เขาเลือก เนื่องจากขายได้ราคา
และไม่มีคู่แข่งในพื้นที่ โดยเริ่มจากทุน 2 แสนบาท
ปรับแปลงนาของครอบครัวที่มีอยู่ ขุดเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งขนาด บ่อละ 1 ไร่ ลึก 6 เมตร จำนวน 2 บ่อ
และ บ่อพักผันน้ำเข้าในบ่อเลี้ยงกุ้งอีก 1 บ่อ
เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการน้ำ โดยไม่พึ่งพาแหล่งน้ำจากภายนอก
รวมถึงทำแนวคันดินกั้นน้ำ
เพื่อป้องกันสารปนเปื้อนจากปุ๋ยในนาข้าวรอบๆนั้นเข้าถึงบ่อเลี้ยงกุ้ง
และเมื่อบ่อเลี้ยงเสร็จสมบูรณ์รอถึงฤดูฝน ก็ซื้อพันธุ์กุ้งก้ามกรามลงบ่อ
ดูแลให้อาหารตามหลักประมงคุณภาพ ส่งผลให้เขาสามารถนำกุ้งขึ้นขายได้ในระยะเวลาเพียง
2 เดือน
“ครอบครัวผมมีที่ดิน 12 ไร่
ผมแบ่งพื้นที่มา 3 ไร่ ทำบ่อเลี้ยงเพียงแค่ 2 บ่อในระยะเริ่มต้น ปล่อยกุ้งลงบ่อละ 15,000 ตัวต่อไร่
รวม2 บ่อมี 30,000 ตัว
น้ำหนักตัวที่พร้อมขาย 25 ตัวต่อกิโลกรัม รวมๆแล้วในระยะเวลา
4 เดือน ขายได้ประมาณ 400 กิโลกรัม
ส่วนบ่อพักน้ำอีก 1 บ่อ วางแผนจะเลี้ยงปลากะพงน้ำจืด
ในกระชัง เพราะปลากะพงมีความต้องการทางตลาดสูง ราคาดี รวมถึงกุ้งฝอยน้ำจืดก็เลี้ยงร่วมกันได้
ในปีหน้าผมมีแผนจะขยายบ่อเพิ่ม และยังจะเชื่อมโยงกับคนในท้องถิ่นที่สนใจ
สร้างรายได้จากการเลี้ยงกุ้งซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามาเยี่ยมชมแล้วขอให้ทางประมงจังหวัดเข้ามาช่วยสนับสนุนเพิ่มเติมครับ”
แม้กุ้งก้ามกรามจะเป็นสินค้าที่หายากและไม่มีคู่แข่งในระดับพื้นที่แต่ในด้านการตลาด
“กันต์” กลับมองว่า เขามีเป้าหมายตลาดขายปลีกภายในท้องถิ่นมากกว่าการขายเข้าตลาดผ่านพ่อค้าคนกลางซึ่งได้ราคาต่ำ
การนำกุ้งออกขายล็อตแรก100 กิโลกรัม ทำราคาได้กิโลกรัมละ 400
บาท แต่หากขายผ่านพ่อค้าคนกลางราคาลงไปเหลือเพียงกิโลกรัมละ300
บาท เขาจึงยืนหยัดแนวทางขายปลีกในตลาดท้องถิ่น ตามวิถีพอเพียงให้สมดุลกับปริมาณผลผลิตที่มี
หมุนเวียนไปก่อนจะเพิ่มจำนวนบ่อในปีหน้า
แนวทางเลี้ยงกุ้งก้ามกรามของ “กันต์” ไม่เพียงแต่เป็นอาชีพที่น่าสนใจ
แต่นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ของเกษตรกรรุ่นใหม่รายเล็กๆ ลงทุนน้อย คืนทุนเร็ว
มีแนวทางตลาดของตัวเองแบบวัยรุ่นสร้างตัวที่ต้องยกนิ้วชื่นชม
เป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลายคนลุกขึ้นมาเป็นเจ้านายตัวเอง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1194 วันที่ 31 สิงหาคม - 6 กันยายน 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น