วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561

สุดยอดเด็กแม่เมาะกองหนุนสปีคอิงลิช

จำนวนผู้เข้าชม url and counting visits

กองทุนไฟฟ้าโชว์ผลงานเบรนคลาวด์  ฝึกเด็กแม่เมาะใช้ทักษะภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้น ป.1 หนุนทุนการศึกษาหัวละ 7,200 บาทต่อปี ผลงานเยี่ยม ฟัง พูด อ่าน เขียน ได้คล่อง  เชื่ออนาคตเด็กแม่เมาะจะใช้ภาษาอังกฤษเก่งที่สุดในจังหวัด   ขณะเดียวกันรองผู้ว่าฯเผยการจัดทำงบปี 62  มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี

เมื่อวันที่ 10 ก.ค.61 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า(คพรฟ.) ได้จัดแถลงข่าวการดำเนินการแผนงานงบประมาณโครงการชุมชนประจำปี พ.ศ.2562  กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง  โดยมีนายศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในฐานรองประธาน คพรฟ.เป็นประธาน  พร้อมด้วยนายพร้อมพงษ์ วงศ์มณีนิล ผอ.กกพ.เขต 1 (เชียงใหม่) เลขานุการ คพรฟ.  นายนิมิตร ผดุงศิลป์ไพโรจน์  นายอำเภอแม่เมาะ  ผศ.ดร.สมาน ฟูแสง ประธานอนุกรรมการกลั่นกรองด้านการศึกษา นางพนิดา ทักษิณาพิมุข นายกสมาคมพัฒนาแม่เมาะ และคณะกรรมการ คพรฟ. ร่วมกันให้ข้อมูล  โดยในปีงบประมาณ 2562 กองทุนได้เน้นความสำคัญในการพิจารณาโครงการต่างๆอย่างละเอียด รัดกุม พร้อมทั้งปรับปรุงเกณฑ์การสนับสนุนโครงการชุมชน  เน้นผลการดำเนินงานที่ทำให้เกิดความยั่งยืนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

นายศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า  การจัดทำโครงการงบประมาณปี 2562 เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ต.ค.60 และได้ผ่านความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เสนอไปยัง กกพ.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ซึ่งการจัดทำงบประมาณปี 62 เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น จาก 5 ปีที่ผ่านมา อย่างที่ทราบกันดีว่าโครงการไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างแท้จริง มีการซื้อของแจกมากมาย ซึ่งตามหลักการไม่สามารถทำได้  ในส่วนของสิ่งปลูกสร้างและครุภัณฑ์ยังขาดการดูแลรักษา ไม่มีการขึ้นทะเบียนทรัพย์สิน และอีกหลายโครงการไม่สามารถดำเนินการในพื้นที่ได้ เพราะติดปัญหาการขออนุญาตจากป่าไม้

ดังนั้น การจัดทำโครงการในปี 62 จึงได้มีการประชุมชี้แจงร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อปท.ตั้งแต่ต้นปี 61 เพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำงบประมาณ โดยกำหนดว่าการเสนอโครงการจะต้องเสนอโดยกรรมการหมู่บ้านผ่านการประชาคม อยู่ในแผนพัฒนาหมู่บ้าน ซึ่งเดิมโครงการไม่ผ่านการประชาคมหมู่บ้านอย่างแท้จริง  ด้านครุภัณฑ์และสิ่งสาธารณะประโยชน์ ต้องมี อปท.รับมอบไปดูแล จัดงบบำรุงรักษา  รวมทั้งโครงการต้องมีการอนุญาตให้ใช้พื้นที่แล้ว เพราะที่ผ่านมามีหลายโครงการได้รับการอนุมัติงบประมาณแต่ดำเนินการไม่ได้  อีกทั้งโครงการต้องใช้ประโยชน์ได้จริง มีความคุ้มค่าของงบประมาณ  จากจัดซื้อครุภัณฑ์ต้องมีสเป็คกำหนดชัดเจน มีการอิงราคากลาง   โครงการต้องอยู่ในแผนพัฒนาหมู่บ้าน อำเภอ  ไม่ซ้ำซ้อนกับงบปกติ  ที่ดินและสิ่งก่อสร้างต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อการบำรุงรักษา

รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวอีกว่า  นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดสรรงบประมาณ เดิมงบ 70 เปอร์เซ็นต์สำหรับพื้นที่ อ.แม่เมาะ จะแบ่งเป็นให้หมู่บ้าน 3 ส่วน  คพรต.3.5 ส่วน  คพรฟ.3.5ส่วน  แต่ได้มีการร้องขอจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขอพิจารณาให้เพิ่มงบในส่วนของหมู่บ้านเป็น 5 ส่วน  และปรับลดของ คพรต.และคพรฟ.เหลือ 2.5 ส่วน  ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการตอบสนองความต้องการในหมู่บ้าน  โดยในส่วนนี้จะมีการกันงบ 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำมาดำเนินการเรื่องแหล่งน้ำโดยเฉพาะ เพราะเป็นปัญหาหลักของ อ.แม่เมาะ

นอกจากนั้น นายศรีโรจน์ ยังได้กล่าวถึงการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในของการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ อ.แม่เมาะ โดยทางกองทุนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้  โดยการสนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนชั้น ป.1 ใน อ.แม่เมาะ ทั้งหมด 232 คน ทุนละ 7,200 บาทต่อปี เพื่อให้เด็กได้เรียนด้านภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรที่เรียกว่าเบรนคลาวด์  (Braincloud)   เด็กจะมีโอกาสฝึกพูดโต้ตอบกับครูผู้สอนภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษา โดยการสื่อสารผ่านการเรียนการสอนที่ถ่ายทอดสดทางไกล ซึ่งมุ่งเน้นให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะการเรียนภาษาในด้านต่างๆ คือ การฟัง การพูด การอ่าน การเขียน จุดเด่นของเบรนคลาวด์ คือ การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้นักเรียนได้ซึมซับภาษาจากครูผู้สอน ซึ่งได้พัฒนามาจากวิธีการเดียวกันกับการที่เด็กเรียนรู้ภาษาอย่างเป็นธรรมชาติจากแม่ตั้งแต่แรกเกิด  เช่น เด็กจะฟังพ่อแม่ก่อนแล้วจึงเริ่มพูดและเรียกพ่อแม่ได้  จากนั้นค่อยอ่านและเขียนเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่เหมือนการสอนตามสถานศึกษาทั่วไปที่เริ่มให้เด็กหัดเขียนก่อน แล้วฝึกการพูดทีหลัง  

ทั้งนี้  ทางโรงเรียนจะมีการสอน วันละ 2 ชั่วโมง  สัปดาห์ละ 4 วัน โดยเรียนออนไลน์กับเจ้าของภาษา สลับกับการใช้อุปกรณ์แทบเล็ตที่มีโปรแกรมเฉพาะ สามารถโต้ตอบกันได้แบบทันที โดยที่ผ่านมา จากการสอนเด็กนักเรียนรุ่นแรกชั้นประถมปีที่ 1 โรงเรียนวัดนาแขม ต่อเนื่องถึงชั้นประถม 2 ในปีนี้ จะพบว่าเด็กสามารถใช้ภาษาได้อย่างน่าพอใจ สามารถเรียนรู้และพูดคุยโต้ตอบได้เป็นอย่างดี กล้าที่จะแสดงออกและคุยกับครูต่างชาติได้

ผศ.ดร.สมาน ฟูแสง  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ถ้าเด็กได้เรียนหลักสูตรเบรนคลาวด์ 6 ปี อย่างน้อยจะมีพื้นฐานและทักษะทางภาษา  และเชื่อว่าหากเด็กได้เรียนต่อเนื่องใน อ.แม่เมาะ ไปอีก 3 ปี ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะมีโครงการครูต่างชาติเข้ามา เด็กจะได้สัมผัสกับครูตัวจริง ดังนั้นเด็กจะได้ใช้ภาษาตั้งแต่ ป.1 จนจบ ม.6 ถ้ายังศึกษาอยู่ใน อ.แม่เมาะ เป็นไปได้ว่า อีก 6 ปี ข้างหน้า หรืออย่างมากที่สุดใน 10 ปีข้างหน้า ท้าทายได้ว่าเด็กที่จบจาก อ.แม่เมาะ ความสามารถภาษาอังกฤษจะดีที่สุด

ทั้งนี้ ในการแถลงข่าว ได้นำเด็กนักเรียนจากโรงเรียนวัดบ้านแขม อ.แม่เมาะ ที่เรียนภาษาอังกฤษแบบเบรนคลาวด์ มาโชว์การพูดและออกเสียงภาษาอังกฤษ ให้ผู้ร่วมฟังแถลงข่าวได้ชมด้วย ซึ่งพบว่าเด็กสามารถพูดคุยและโต้ตอบ ตลอดจนการออกเสียงที่ถูกต้องใกล้เคียงเจ้าของภาษา ซึ่งหากได้รับการฝึกฝนเรียนรู้ต่อเนื่องไปจนถึงระดับที่สูงขึ้น เด็กจะสามารถเรียนรู้ และใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดีเยี่ยม

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1192 วันที่ 17 - 23 สิงหาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์