วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

แม่เมาะ ฮาล์ฟมาราธอน งานท้องถิ่น ที่มองข้ามหัวสื่อท้องถิ่น

จำนวนผู้เข้าชม IP Address
                               
ด้ยินกรอกหู ได้เห็นกับตา จากสื่อส่วนกลาง จนคิดว่างานเดิน – วิ่ง แม่เมาะ ฮาล์ฟมาราธอน เป็นงานที่แค่อาศัยพื้นที่จังหวัดลำปางจัดงาน แต่คนที่อยากให้มา คนที่พวกเขาเห็นความสำคัญคือคนไกลบ้าน

แม่เมาะฮาล์ฟมาราธอน จัดมา เป็นครั้งที่ 27  แล้ว ปีนี้จัดเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9  ซึ่งผ่านไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์(5)

สองปีก่อนมีตัวประหลาดโผล่เข้ามา ทำให้เสียบรรยากาศไปตามสมควร

ความจริง คนทุกคนล้วน Born to be Runner เกิดมาเพื่อเป็นนักวิ่ง เด็กเล็กๆ เมื่อเริ่มตั้งไข่ เขาอาจจะวิ่งก่อนที่จะเดินได้ด้วยซ้ำ โตขึ้นมา หากอยู่ในเมืองใหญ่ที่ผู้คนแออัด ยัดเยียด การจราจรติดขัด ทุกอย่างดูเร่งรีบ ไปหมด ย่านธุรกิจเช่นสีลม หรือสุขุมวิท มนุษย์แถวนั้น จะเห็นวิ่งมากกว่าเดิน

หรือถ้าไปเมืองใหญ่ๆ ในต่างประเทศ เช่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะเห็นนักวิ่งใส่สูทผูกไทค์ วิ่งกันให้วุ่นวาย

ชีวิตสโลว์ ไลฟ์ แบบคนลำปาง จึงเป็นชีวิตที่น่าอิจฉา

คำว่านักวิ่ง ยังเป็นศัพท์แสลง หมายถึงการวิ่งเต้นขอตำแหน่ง จ่ายเงินซื้อตำแหน่งในวงการตำรวจ  วิ่งเต้นให้ลูกเข้าโรงเรียนดีๆ และวิ่งเต้นเพื่ออื่นๆอีกมากมาย อันสะท้อนให้เห็นระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ

นั่นก็ว่าด้วยการวิ่ง ที่อาจอธิบายได้ในหลายมิติ

แต่สำหรับการวิ่งแบบมาราธอน  หรือการวิ่งระยะไกล เป็นกิจกรรมเพื่อสุขภาพที่จัดกันมาในเมืองไทยช้านานแล้ว วิ่งมาราธอนในแบบแม่เมาะ ฮาล์ฟ มาราธอน ไม่ใช่การวิ่งเพื่อหวังผลชนะหรือแพ้  แต่เป็นการวิ่งเพื่อมิตรภาพ วิ่งเพื่อสุขภาพตัวเอง และวิ่งเพื่อคนอื่นๆเพื่อสังคม เพื่อบ้านเกิด เป็นความภาคภูมิใจร่วมกัน บนปณิธาน สำนึกรักบ้านเกิด

ความจริงต้นกระแสธารของการวิ่งมาราธอนนั้น เกิดจากสงคราม เกิดจากพลนำสารคนแรกในประวัติศาสตร์ที่วิ่งไกลมากที่สุดในโลก

เดือนสิงหาคม ราว 490 ปีก่อนคริสตกาล ทหารเปอร์เซีย 1 แสนนาย กรีธาทัพมุ่งสู่กรีก การโจมตีเกิดขึ้นที่อ่าวมาราธอนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเอเธนส์ ในตอนนั้น แม่ทัพกรีกมีไพร่พลเพียง 1 หมื่นนาย น้อยกว่าเปอร์เซีย 10 เท่า แต่กลับพลิกมาชนะ ทหารเปอร์เซียแตกทัพล่าถอยไป

“เฟดิปปิเดส” พลนำสาร ออกวิ่งจากสมรภูมิมาราธอน ระยะทางเกือบ 40 ก.ม.ไปแจ้งข่าวชัยชนะที่กรุงเอเธนส์ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการวิ่งแข่งมาราธอน จนกระทั่งปี ค.ศ.1896  ประเทศกรีซก็ให้กำเนิดกีฬาโอลิมปิคยุคใหม่ พร้อมกับจัดให้มีการแข่งขันกีฬาวิ่งมาราธอนระยะทาง 40 ก.ม.ขึ้นเป็นครั้งแรก และนับแต่นั้น ชาติยากจน อย่างเคนยา ก็แทบจะผูกขาดชัยชนะการวิ่งมาราธอนระดับโลก อย่างไม่มีชาติไหนเทียบรัศมีได้

กลับมาที่แม่เมาะ เดิน-วิ่งแม่เมาะ ฮาล์ฟมาราธอน จัดกันมาเป็นประเพณีถึง 27  ครั้งแล้ว ครั้งนี้มีโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อระดับชาติ ยิงสปอตรัวกันเป็นปืนกล ขณะที่สื่อท้องถิ่นซึ่งมีศักยภาพในการสื่อสาร ครบวงจรไม่ต่างกัน กลับถูกมองข้าม มีใครผูกขาดตัดตอน ใต้โต๊ะ บนโต๊ะกันยืนยันไม่ได้

นี่เป็นการใช้จ่ายทรัพยากรท้องถิ่น ไปบำรุงคนทำสื่อในเมืองใหญ่  ซึ่งต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว แต่ในฐานะที่เป็นงานการที่เป็นหน้าเป็นตาของคนลำปางทั้งระบบ พื้นที่สื่อท้องถิ่น ก็ยังให้ความสำคัญกับงานวิ่งการกุศลนี้ ด้วยความรู้สึกว่านี่เป็นงานของเขาเช่นกัน

ใครจะกำจัดการผูกขาดผลประโยชน์ก้อนโตนี้ได้ ใครจะอธิบายได้ว่าศักยภาพสื่อท้องถิ่น มันต่ำต้อยน้อยค่ากว่าสื่อในเมืองใหญ่เพียงใด หรือมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนอันใดกัน

อาจมีหนทางที่จะตะโกนให้ได้ยินกัน คือการบอยคอตไปลงข่าว ไม่ลงภาพทุกชนิด ที่อาศัยพื้นที่สื่อท้องถิ่นลงข่าวแบบฟรีๆ จากนี้ไป


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1191 วันที่ 10 - 16 สิงหาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์