วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2561

คุก 2 นักข่าวรอยเตอร์ บทพิสูจน์‘ซูจี’ดอกไม้พลาสติก

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ม้เมียนมาร์ จะไม่ได้ปกครองด้วยรัฐบาลทหาร ที่สื่อถูกลิดรอนเสรีภาพ ถูกกดหัวมานานถึง 50 ปี แม้กระทั่งนักข่าวไทยหลายคนก็ถูกห้ามเข้าประเทศ เพราะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการทหาร ไม่เคยมีเสรีภาพทางความคิด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บอกถึงความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้นที่นั่น

จวบจนวันที่นางอองซานซูจี กลับมามีอำนาจในรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะที่ปรึกษา แต่เป็นผู้นำตัวจริง สถานการณ์การคุกคาม และแทรกแซงเสรีภาพของสื่อก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง การสังหาร การทำทารุณกรรมชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ในบ้านของนางซูจีแท้ๆ ซูจี ก็เพิกเฉย

ซูจี บอกกับ บีบีซี ว่า เธอเป็นเพียงนักการเมืองคนหนึ่ง ไม่ใช่แม่ชีเทเรซา

ซูจี เคยได้รับรางวัลราฟโด (Rafto Prize) และรางวัลซาฮารอฟสำหรับเสรีภาพทางความคิด (Sakharov Prize for Freedom of Thought) ในปี 2533 และสำคัญที่สุดคือรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 2534 เป็นโนเบลสันติภาพที่ผู้ได้รับรางวัลต้องแสดงให้เห็นประจักษ์ว่า มีผลงาน มีเกียรติประวัติในการทำงานเพื่อสันติภาพมาอย่างยาวนาน

ความเปลี่ยนแปลง หรือที่แท้เป็นตัวตนของนางอองซาน ซูจี  ทำให้คนกลุ่มหนึ่ง ลงชื่อกว่า 386,000 คน ผ่านเว็บไซต์ Change.org เรียกร้องให้ริบรางวัลโนเบลสันติภาพของนางอองซาน ซูจี เพราะความไม่ใส่ใจที่จะจัดการให้เกิดความเป็นธรรม ในกรณีทำร้ายและเข่นฆ่าชาวโรฮิงญา ขณะที่สถาบันโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์ แถลงว่า ไม่ว่าจะเป็นเจตนารมณ์ของนายอัลเฟรด โนเบล ผู้ก่อตั้ง หรือระเบียบของมูลนิธิ ไม่ได้บัญญัติความเป็นไปได้ที่จะเพิกถอนการมอบรางวัลให้กับผู้ที่ได้รับรางวัลไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวแห่งสหรัฐอเมริกา ได้แจ้งต่อนางซูจีว่า ต้องการเพิกถอนรางวัลเอลี วีแซล ที่เคยมอบให้นาง  เพราะวางเฉยต่อหลักฐานที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า กองทัพพม่ากำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พลเรือน ชุมชนโรฮิงญา ในรัฐยะไข่

แต่ไม่ว่ารางวัลโนเบลสันติภาพยังอยู่กับเธอหรือรางวัล เอลี วีแซล ยังอยู่กับเธอหรือไม่  แต่เธอก็ถูกเพิกถอนทุกรางวัลจากหัวใจของคนรักสันติภาพทั่วโลกอยู่แล้ว

การลิดรอนเสรีภาพของสองนักข่าวรอยเตอร์ กรณีที่เกี่ยวข้องกับชาวโรฮิงญา ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่ลดทอนฐานะความเป็นนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ของนางซูจีลง รวมทั้งทำให้ภาพของ “ดอกไม้เหล็ก” ลดราคาลง เป็นเพียง “ดอกไม้พลาสติก”

คำพิพากษาจำคุกนายวาโลน อายุ 32 ปี นายจ่อ โซ อู อายุ 28 ปี 2 นักข่าวรอยเตอร์ คนละ 7 ปี ของศาลแขวงนครย่างกุ้ง ฐานฝ่าฝืนกฎหมายความลับราชการ หลังจากที่เขาทั้งสองรายงานข่าวการสังหารโหดมุสลิมโรฮิงญา ในหมู่บ้านอินดิน รัฐยะไข่ เมื่อเดือนกันยายนปีก่อน คือบาดแผลที่ซ้ำรอยเดิม

ปฎิกริยาจากทั่วโลก เกิดตามมาอย่างฉับพลัน

“ผมเสียใจกับนายวา โลน และจ่อ โซอู รวมทั้งครอบครัวของเขาทั้งสอง มันเป็นเรื่องน่าหนักใจต่อทุกๆคนที่พยายามต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อมวลชนในเมียนมา”

สก็อต มาร์เชียล เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเมียนมา กล่าว ขณะที่นายแดน จักก์ เอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำเมียนมา บอกว่า ในนามรัฐบาลอังกฤษ พวกเรารู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งต่อคำตัดสินครั้งนี้  มีแต่ประเทศไทยที่ไม่ได้แสดงท่าที หรือจุดยืนอย่างไรต่อกรณีนี้เลย

เขาไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นสื่อมวลชนที่ร่วมต่อสู้เพื่อเสรีภาพ

เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใดในโลกนี้ หากแดนแห่งเสรีภาพถูกรุกล้ำ การต่อสู้ของผู้รักในสันติภาพจักต้องเกิดขึ้น นายวาโลน และจ่อ โซอู ย่อมมีเสรีภาพในความคิด ความเชื่อ และควรชื่นชมยินดีที่เขาทำหน้าที่ในการรายงานข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

วาโลน และจ่อ โซอู จะต้องได้รับการปล่อยตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1195 วันที่ 7 - 13 กันยายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์