วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2561

สภาสื่อ แก้ปัญหาจริยธรรมด้วยกฎหมาย

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ะยอมรับ จะพึงพอใจหรือไม่ก็ตาม ในที่สุดเส้นทางการแก้ปัญหาสื่อ ก็มุ่งไปสู่การเกิดขึ้นของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ใช้กฎหมายควบคุม บังคับสื่อที่ละเมิด ซึ่งอาจขัดแย้งกับปรัชญาและแนวคิดในการแก้ปัญหาสื่อ คือมาตรการทางสังคม

เพราะเราไม่มีหนทางอื่นอีกแล้ว ในท่ามกลางแรงกดดัน และกระแสสังคม ที่ต้องการให้มีกฎเหล็กลงโทษสื่อที่ละเมิดอย่างเด็ดขาด ทั้งที่สังคมนี้ มีเครื่องมือ มีกฎหมายที่จะจัดการสื่ออยู่นับสิบฉบับ แต่ไม่เคยมีใครคิดถึง และกฎหมายไม่เคยใช้บังคับจริงจัง

ระหว่างนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ได้เดินสายเพื่อรับฟังความเห็นกฎหมายสื่อฉบับล่าสุด  คือ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมีเวทีแรกที่พิษณุโลก เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน มีรากงอกมาจากกฎหมายสื่ออย่างน้อย 3 ฉบับ ที่มีอุบัติเหตุระหว่างทาง ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางเสียที ทั้งที่การมีองค์กรกำกับ ดูแลสื่อที่มีอำนาจ คือหมุดหมายสำคัญของการปฎิรูปในยุค คสช.

เรื่องการปฏิรูปสื่อ คล้ายดอกไม้ไฟจุดขึ้น ส่งประกายวิบวับไม่นานนาที ก็ถูกกลืนหายไปในความมืด “จอกอ” เคยมีบทบาทที่ต่อเนื่องมาจากคณะอนุกรรมาธิการสื่อ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ จนกระทั่งมาถึงคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อผลักดันกฎหมายฉบับนี้ในหลักการคุ้มครอง มิใช่ควบคุม

เป็นภารกิจต่อเนื่องยาวนาน ด้วยเห็นว่า ภายใต้บริบทของสังคมที่ผู้คนเรียกร้องต้องการให้ใช้กฎหมายจัดการสื่ออย่างเด็ดขาดนั้น ไม่อาจเป็นความจริงได้เลย ท่ามกลางผู้คนที่หลากหลายและส่วนหนึ่งไม่รู้เรื่องสื่อ

ความไม่รู้เรื่อง หรือการเป็นบุคคลนอกวงการมากๆ ทำให้การพิจารณาปฏิรูปสื่อในยุค สปท.มีแต่ความงุนงง และสงสัย

“จอกอ”มีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ เสนอความเห็น อีกทั้งย้ำเตือนให้เข้าใจว่า การจัดการเรื่องจริยธรรมไม่มีที่ไหนในโลกเขาใช้กฎหมายบังคับกัน

กรรมาธิการสื่อ ใน สปช.ชุดที่แล้ว ได้พยายามออกแบบเครื่องมือ เรียกว่า “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” เป็นองค์กรอิสระ ที่ยังต้องพึ่งพาเงินรัฐ เพื่อให้เป็นองค์กรร่มใหญ่ในการกำกับ ดูแลเรื่องจริยธรรม

แต่ มติสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ คว่ำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ทำให้ความพยายามในการจัดตั้ง สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนบังคับไว้ในมาตรา  49 สิ้นผลไป ทำให้ข้อโต้แย้งในเรื่องความจำเป็นในการมีสภาที่เรียกว่า สภาร่มใหญ่ ทอดเวลาออกไปอีกอย่างน้อยเป็นปี

แม้การปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน จะเป็นหนึ่งใน 11 ข้อสำคัญ ที่ถูกกำหนดเป็นวาระในการปฏิรูป แต่ในส่วนที่ 2 ว่าด้วยการปฏิรูปด้านต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กลับไม่ปรากฏ รายละเอียดแนวทางในการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน

ทั้งที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ  ก็เอาการเอางาน และมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการทำงานปฏิรูปสื่อ คำถามคือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดก่อนใส่ใจ เข้าใจ และเห็นความสำคัญของการปฏิรูปสื่อมากน้อยเพียงใด

เพราะถึงที่สุดแล้วงานที่เป็นหน้า เป็นตาที่สุดของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อ คือการผลักดันร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ตัดต่อพันธุกรรมมาจาก ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

กล่าวได้ว่า เป็นโชคดีของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ที่กฎหมายจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ไม่เกิดขึ้นในระยะแรกที่หลักการไม่นิ่งพอ  เพราะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อ ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ดูเหมือนจะเห็นว่า การใช้กฎหมายจัดการสื่อคือแนวทางแก้ปัญหาสื่อละเมิดจริยธรรมดีที่สุด

ถึงวันนี้ เราคงปฏิเสธกฎหมายไม่ได้ “จอกอ” ตรวจสอบหลักการ เนื้อหาของกฎหมายฉบับใหม่แล้ว พบว่า มีหลักการที่เพิ่มสภาพบังคับ กับสื่อที่ละเมิดในบางส่วน ในขณะเดียวกันก็ไม่มีผลกระทบต่อหลักการดูแลกันเอง

แม้จะไม่เห็นด้วยกับกฎหมายคุมจริยธรรม แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้ ถอดแนวคิดเรื่องอำนาจนิยมไปแล้วทั้งหมด พอรับกันได้


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1197 วันที่ 21 - 27 กันยายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์