วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2561

ทลายกำแพงระบบอุปถัมภ์ เปิดทางสิทธิชุมชนคนแม่เมาะ

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์
                                                   
ารบริหารจัดการงบประมาณในรูปแบบต่างๆ เพื่อประโยชน์ของคนในท้องถิ่น มักมีปัญหาอยู่เสมอทั้งในการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กรณีการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่พึ่ง หรือความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งมีทั้งกรณีทุจริต คอรัปชั่น และระบบอุปถัมภ์ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับคนส่วนน้อย เช่นในกรณีกองทุนไฟฟ้า หรือกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 75 กองทุน ใน 39 จังหวัดทั่วประเทศที่มีโรงไฟฟ้า

เงินกองทุนไฟฟ้า หรือกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปางมูลค่านับพันล้านบาท  เป็นหนึ่งตัวอย่างที่แสดงถึงความไม่โปร่งใส การใช้ระบบอุปถัมภ์เอื้อประโยชน์ให้กับคนเพียงกลุ่มเดียว ไม่ได้กระจายไปยังชุมชนต่างๆอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

นายบรรพต ธีรวาส ผู้บริหารเหมืองแม่เมาะ ให้สัมภาษณ์ “ลานนาโพสต์” ครั้งหนึ่งว่า การอนุมัติเงินกองทุน คนที่เคยได้รับก็จะได้โดยตลอด ส่วนคนที่ไม่ได้รับการพิจารณา ก็จะไม่เคยได้รับ นอกจากนั้นยังมีกรณีไม่โปร่งใสหลายเรื่อง

มีปรากฎการณ์ที่สนับสนุนถ้อยคำของผู้บริหารเหมืองแม่เมาะ หลายเรื่อง  เช่น กรณีเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะร้อง คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฏร เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ว่าคณะกรรมการกองทุนไม่ปฎิบัติตามระเบียบของกองทุน ซึ่งควรให้ความสำคัญกับผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าเป็นอันดับแรกๆ แต่เงินทุนส่วนใหญ่กลับอนุมัติให้กับโครงการสาธารณูปโภค เช่น การสร้างถนน สะพาน

การใช้เงินกองทุนที่น่าสงสัย   ในโครงการสาธารณูปโภค ยังมีการใช้งบประมาณจำนวน 1 ล้านบาท สร้างสวนสุขภาพ ที่เต็มไปด้วยหญ้ารกชัฏ การใช้งบประมาณ  2.5 ล้านบาท สร้างลานเอนกประสงค์ ซึ่งพบว่าถูกทิ้งร้างไว้  รวมทั้งการใช้งบประมาณ 8 ล้านบาท สร้างสะพานคอนกรีตเลี่ยงหมู่บ้าน โดยอ้างเหตุแก้ปัญหาจราจรแออัดในหมู่บ้าน แต่สะพานก็ร้างผู้คน ใช้สัญจรตามปกติไม่ได้

การกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกองทุน ยังเท่ากับการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเมื่อรวมกับองค์ประกอบกรรมการภาครัฐ และชาวบ้านบางกลุ่มที่ไม่ได้เป็นตัวแทนภาคประชาชนอย่างแท้จริง กลายเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ในพื้นที่ มีการผลักดันโครงการประเภทสาธารณูปโภคจำนวนมาก

ยุคหนึ่ง นายดิเรก ก้อนกลีบ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในฐานะประธานกองทุน ถูก คณะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)สอบสวน กรณีอนุมัติโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำกิ่วข้ามหลามมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท  ในที่สุดศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 16 ปี โดยไม่รอลงอาญา

เราเห็นว่าเรื่องกองทุนไฟฟ้า เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เงินกองทุนเข้าไปไม่ถึงความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง ระบบอุปถัมภ์ได้สร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับชุมชนแม่เมาะ เช่นเดียวกับอีก 74 กองทุน ในอีก 38 จังหวัดที่อาจมีปัญหาในลักษณะเดียวกัน และสื่อท้องถิ่นในจังหวัดนั้นๆ ควรได้สืบค้น รายงานข่าวในการบริหารกองทุน ซึ่งมีแนวโน้มในการทุจริตสูง

การเฝ้าสังเกต เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ ลงพื้นที่สำรวจสภาพความเป็นจริง จากการที่มีการร้องเรียน มีปัญหาการจัดการกองทุน และนำเสนอผ่านสื่อในเครือลานนาโพสต์มีมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ปี

จากการติดตามรายงานข่าวกองทุนไฟฟ้า เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการกองทุน  เริ่มมีเบาะแส และเห็นภาพชัดมากขึ้น จนกระทั่งนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้สั่งการให้ชะลอ ทบทวนโครงการ และสุดท้ายให้รื้อระบบบริหารกองทุนใหม่ทั้งหมด


 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1197 วันที่ 21 - 27 กันยายน 2561)

    

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์