วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

บ้านแมลงลำปาง 1 ใน 3 แห่งของประเทศ

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ท่ามกลางเสียงกรีดปีกของเหล่าแมลงฤดูร้อน และเสียงแตกกรอบแกรบของใบไม้แห้ง ๆ ใต้เท้าของเรา โมเดลแมลงชนิดต่าง ๆ ที่ถูกจัดวางอยู่ตรงนั้นตรงนี้ เรียกความสนใจและรอยยิ้มให้คนที่เพิ่งเข้ามาใน บ้านแมลง ครั้งแรกได้ไม่น้อย  

บ้านแมลงลำปาง คืออีกบทบาทหนึ่งของศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 1 จังหวัดลำปาง ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนซูเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-งาว ก่อนถึงตัวอำเภองาวราว 12 กิโลเมตร หลายสิ่งที่นี่ พลิกโฉมหน่วยงานราชการที่หลายคงมองว่าแสนคร่ำครึ ให้กลายเป็นความสดใสและน่าเรียนรู้

ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 1 ลำปาง สังกัดสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ทั้งหมด 3 ศูนย์ โดยศูนย์ฯ ลำปางได้รับการจัดตั้งเป็นแห่งแรก ส่วนศูนย์ฯ ที่ 2 อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น และศูนย์ฯ ที่ 3 จังหวัดจันทบุรี

ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 1 ลำปาง มีภารกิจหลักด้านการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานด้านแมลงป่าไม้ โดยเฉพาะการศึกษาด้านชีววิทยา การเพาะเลี้ยงแมลงหายากและแมลงที่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ทว่าแรกเริ่มเดิมทีเน้นไปที่การปราบแมลงเป็นส่วนใหญ่

หลังจากปี พ.ศ. 2545 ภารกิจการปราบแมลงเริ่มลดลง ทางศูนย์ฯ จึงพลิกบทบาทมาศึกษาวิจัยและค้นคว้าเรื่องแมลงเป็นหลัก พร้อมกับการเปิดตัว บ้านแมลงลำปาง แบ่งพื้นที่เรียนรู้ออกเป็นโซนต่าง ๆ ได้แก่ สวนพืชอาหารแมลง พิพิธภัณฑ์แมลง คุ้มผีเสื้อ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ นิทรรศการที่มีชีวิต ห้องพิพิธภัณฑ์เครื่องมือ และโรงเลี้ยงแมลง

การก่อตั้งบ้านแมลงลำปางอาศัยการทำงานแบบร่วมแรงร่วมใจจากบุคลากรในศูนย์ฯ ที่ช่วยกันหาวัสดุง่าย ๆ มาจัดทำโมเดลแมลง เพื่อสร้างชีวิตชีวาให้กับบริเวณโดยรอบ ถัดเข้าไปด้านใน บ้านหลังใหญ่ของแมลงแห่งนี้ เปิดโลกการเรียนรู้ในเรื่องวงจรชีวิตของแมลง ซึ่งมีทั้งชนิดที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีและรู้จักชื่อ บางชนิดเคยเห็น แต่ไม่รู้จักชื่อ ก็จะได้รู้จักกันคราวนี้ รวมไปถึงแมลงหน้าตาแปลก ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะเป็นแมลงนำเข้าที่หาชมได้ยาก อาทิ ตั๊กแตนสายพันธุ์ต่าง ๆ

ที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ เหล่าแมลงและผีเสื้อสตัฟฟ์ที่อยู่ในอาคารด้านหลัง ซึ่งรวบรวมความเป็น ที่สุด ไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแมลงตัวจิ๋วที่สุด ที่ถึงกับต้องใช้แว่นขยายส่อง หรือแมลงตัวหนักที่สุด นอกจากนี้ ยังมีด้วงมีเขานานาชนิด และเหล่าผีเสื้อสตัฟฟ์ ซึ่งในจำนวนนี้ มีผีเสื้อสมิงเชียงดาวที่ถูกระบุว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว เนื่องจากไม่พบมากว่า 30 ปี

ในส่วนของคุ้มผีเสื้อเป็นการเลี้ยงแบบเปิด โดยเราไม่อาจคาดหวังได้ว่าจะเห็นผีเสื้อชนิดใดบ้าง แต่นี่คือแนวคิดที่ไม่ใช่การกักขังความงาม ผีเสื้อควรได้โบยบินอย่างอิสระ นั่นเหมาะสมแล้ว

บ่ายคล้อย อากาศร้อนอบอ้าว เหล่าแมลงยังคงกรีดปีกดังก้องทั่วราวป่า ในโลกใบนี้ แมลงเป็นสัตว์ที่มีจำนวนมากที่สุด มีอย่างน้อยถึง 5 ล้านชนิด ผีเสื้อและแมลงทุกชนิดจัดเป็น สัตว์ป่า นับตั้งแต่มีการประกาศพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 หลายชนิดยังจัดเป็น สัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามซื้อขายและห้ามมีไว้ในครอบครอง เนื่องจากอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ อาจแค่สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ แต่ผีเสื้อและแมลงคือฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนโลกของเรา ในทิศทางที่เราอาจไม่เคยรู้

สำหรับบ้านแมลงลำปาง โลกแห่งการเรียนรู้ใบนี้อาจไม่ได้ดูทันสมัย เป็นระบบระเบียบเนี้ยบไปเสียทุกอย่าง หากเทียบกับการดำเนินงานแบบเอกชน แต่ที่นี่อบอวลไปด้วยความเป็นกันเอง เราจะเห็นความตั้งอกตั้งใจของเจ้าหน้าที่ทุกคน ตั้งแต่วิทยากรนำชมในวัน-เวลาราชการ และวิทยากรจำเป็นในวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ล้วนแล้วแต่เต็มอกเต็มใจให้บริการเสมอ

บ้านแมลงลำปาง เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 นาฬิกา โดยมีวิทยากรนำชมเฉพาะวันและเวลาราชการ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ เปิดให้เข้าชม แต่อาจไม่มีวิทยากร

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1201 วันที่ 19 - 25 ตุลาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์