วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

นับถอยหลังประชามติ 24 กุมภา ลานนาโพสต์ชี้อนาคตประเทศไทย

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

เหลือเวลาอีกเพียง 4 เดือนเศษ คนไทยทั้งชาติก็จะได้มีโอกาส กลับมาใช้สิทธิพื้นฐานของพลเมือง ในวิถีประชาธิปไตยอีกครั้ง  หลังจากว่างเว้นไปถึง 4 ปี ท่ามกลางความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองไทย โดยลดอำนาจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพิ่มอำนาจนักการเมืองนอกระบบ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชน ควรจะได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง และการใช้หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียงที่ตัวเองมีอยู่อย่างคุ้มค่าแห่งการรอคอยมากที่สุด

“ลานนาโพสต์” จะทำหน้าที่อธิบายความ ให้ข้อมูลนักการเมือง พรรคการเมือง ทั้งพรรคการเมืองเก่า และพรรคการเมืองใหม่  เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ จากนี้เป็นต้นไป

พรรคการเมืองที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน  มีทั้งหมด 69 พรรค เช่น พรรคประชาธิปัตย์  พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ  พรรคภูมิใจไทย พรรคประชากรไทย พรรคกิจสังคม พรรคมหาชน พรรคกสิกรไทย  พรรคเพื่อฟ้าดิน  พรรคความหวังใหม่ พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน  พรรคชาติพัฒนา พรรคแทนคุณแผ่นดิน

พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคอนาคตไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคธรรมาภิบาลสังคม พรรคมาตุภูมิ พรรคประชาสันติ พรรคประชาธรรม  พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย พรรคไทยรวมพลัง พรรคพลังคนกีฬา พรรคเสรีนิยม พรรครักประเทศไทย พรรคประชาสามัคคี พรรคไทยมหารัฐพัฒนา พรรคเพื่อธรรม พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรครักษ์สันติ พรรคพลังชลฯลฯ

โดยจะกล่าวถึงเฉพาะพรรคที่มีศักยภาพ และน่าจะมีบทบาทสำคัญสำหรับอนาคตประเทศไทย ภายหลังการเลือกตั้ง

กติกาใหม่ในการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ ส่งเสริมบทบาทพรรคการเมืองขนาดกลาง ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เช่น พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งจะเป็นฐานสนับสนุนให้ผู้นำฝ่ายทหารยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป กติกาเหล่านี้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 วางระบบการเลือกตั้งที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ด้วยการปรับระบบสัดส่วนในการเลือก ส.ส. 500 คน โดยให้ประชาชนกาบัตร เลือกผู้สมัคร 1 คน สำหรับทั้ง 350 เขต จากนั้นนำคะแนนที่นับได้ไปคำนวณหาสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์ สำหรับที่เหลืออีก 150 ที่นั่ง ซึ่งแต่เดิม ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้กาบัตร 2 ใบ แบ่งเป็นใบหนึ่งสำหรับเลือกตัวผู้สมัคร และอีกใบเพื่อเลือกพรรคการเมือง

วิธีนี้มีแนวโน้มจะทำให้ผลการเลือกตั้งที่ออกมา มีพรรคการเมืองขนาดกลางได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น แต่จะลดจำนวนที่นั่งซึ่งเคยเป็นของพรรคการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง มาตั้งแต่ปี 2544 การตัดกำลังนายทักษิณ และพันธมิตรทางการเมือง เป็นเป้าหมายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการ ดังนั้น รัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค  เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ต้องใช้นายกฯคนกลาง ซึ่งจะไม่ใช่หัวหน้าพรรคจากรัฐบาลผสม เช่น ในยุคของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังกำหนดว่าสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คนมาจากการสรรหาโดยฝ่ายทหาร มีผู้นำเหล่าทัพเป็นวุฒิสมาชิกโดยตำแหน่ง  ทหารจึงยังคงครองอำนาจทั้งในสภา และรัฐบาลโดยผ่านพรรคการเมืองตัวแทน

การที่จะลดทอนอำนาจทหารได้ ต้องมุ่งโจมตีพรรคขนาดกลางที่เรียกว่า เป็นพรรคเฉพาะกิจ เช่นพรรคพลังประชารัฐ อันมีเป้าหมายการเมืองเฉพาะหน้า ต้องการเพียงสืบทอดอำนาจผู้นำทหาร ซึ่งมีบทพิสูจน์แล้วว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้บ้านเมืองถดถอยทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เน้นย้ำให้เห็นความล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่น และพฤติกรรมที่น่าระแวง สงสัย ของคนพรรคการเมืองที่จะมีแต้มต่อในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะต้องยืนหยัดชูธงประชาธิปไตย และขยายภาพให้เห็นสภาพ บ้านเมืองที่ถอยหลังเข้าคลอง ซึ่งหากประชาชนรู้เท่าทันการโฆษณาชวนเชื่อ ของพรรคการเมืองที่สนับสนุนอดีตผู้นำเผด็จการ ก็จะทำให้บ้านเมืองเสียหาย ยับเยินมากขึ้น การขุดรากถอนโคนอำนาจเผด็จการ ด้วยเงื่อนไขการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นความจำเป็น และเป็นภารกิจร่วมกันของนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

บทบรรณาธิการฉบับหน้า จะสำรวจและให้ข้อมูลพรรคการเมืองที่จะเป็นพลังต่อต้านอำนาจภายนอก พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อปูทางสู่การสืบทอดอำนาจของผู้นำทหาร พรรคการเมืองเฉพาะกิจ พรรคการเมืองไม้หลักปักเลน ที่พร้อมจะโอนเอียงไปทางฝ่ายอำนาจ พรรคคนรุ่นใหม่ที่น่าเคลือบแคลงสงสัย และพรรคที่มีเป้าหมายอื่นๆอีกมากมาย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1201 วันที่ 19 - 25 ตุลาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์