วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2561

หาเสียงโซเชียลอย่างไร? ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ถึงแม้เวทียังไม่เปิดเป็นทางการ แต่นักการเมืองทั้งเก่า และใหม่ ก็เริ่มเปิดตัว ถามไถ่ยังจำกันได้ไหม? อย่างน้อย 4 ปีที่ห่างเหินจากการเลือกตั้ง ทั้งคนสมัคร ทั้งคนเลือก ก็ดูจะห่างเหินกันไปพอสมควร ที่เห็นยังคงเก็บเกี่ยวคะแนนเสียงอยู่อย่างสม่ำเสมอคือดาชัย เอกปฐพี นักการเมืองรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ พินิจ จันทรสุรินทร์  ที่จัดทัพเตรียมผู้สมัครไว้เสร็จสรรพ์แล้ว ในขณะที่บ้านสวนยังเชื่อว่า จะไม่มีการเลือกตั้ง

และเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคพลังประชาธิปไตย ที่มีดร.ประแสง มงคลศิริ  อดีต ส.ส.อุทัยธานี พรรคไทยรักไทย และผู้ประสานงานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ในภาคเหนือ ก็มาเปิดตัวเลือกกรรมการบริหารพรรคที่ลำปาง

คำถามสำหรับนักการเมืองไม่ว่าเก่าหรือใหม่ สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ คือการหาเสียงผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่ง คสช.คุมเข้มอยู่ แต่ก็เป็นช่องทางร่วมสมัยที่ใครก็ปฎิเสธไม่ได้    เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่อันเป็นฐานเสียงสำคัญและอยู่ในยุคที่เกิดและเติบโตมากับสื่อออนไลน์  สื่อสังคมออนไลน์ คือช่องทางที่นักการเมืองจะเข้าถึง และหากมีวิธีการนำเสนอผลงาน  ทั้งเนื้อหาและรูปแบบที่ตรงกับรสนิยมของเขา โอกาสของนักการเมืองก็มีสูงยิ่ง

แต่อย่างไร แค่ไหน ถึงไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ที่เป็นประเด็น คือค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จะประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคน และของพรรคการเมืองที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้ง โดยหารือกับหัวหน้าพรรคการเมือง และให้มีการทบทวนจำนวนเงินให้สอดคล้องกับความจำเป็นและสภาวะเศรษฐกิจอย่างน้อยทุกสี่ปี

ขณะนี้ยังไม่มีประกาศ แต่การกำหนดค่าใช้จ่ายที่ไม่ตายตัว แต่ยืดหยุ่นได้ตามสภาวะเศรษฐกิจ ก็นับว่าเป็นผลดีสำหรับพรรคการเมืองกระเป๋าหนัก แต่พรรคเล็กเสียเปรียบ

กฎหมายฉบับนี้ ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใช้จ่ายในการเลือกตั้งเกินจำนวนค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้  ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ให้รวมถึงบรรดาเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่บุคคลใดๆ จ่าย หรือรับว่าจะจ่ายแทน  หรือนำมาให้ใช้โดยไม่คิดค่าตอบแทนเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นยินยอมหรือไม่คัดค้าน

คือถึงเป็นเงินคนอื่น ก็ต้องนับรวมเป็นค่าใช้จ่ายด้วย

การหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิคส์ หรือการหาเสียงผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดีย สามารถทำได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด  แต่ห้ามไม่ให้หาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด นับตั้งแต่เวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง

สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิคส์ ซึ่งจะต้องนำไปคำนวณค่าใช้จ่ายด้วยนั้น กกต.ยังไม่ได้กำหนด และก็คงเป็นเรื่องยากในทางปฎิบัติที่จะบังคับการหาเสียงทางโซเชียล เพราะจะต้องพิจารณารายละเอียดในหลายแง่มุมมาก เช่น ผู้สนับสนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมือง ที่ไม่ใช่หัวคะแนน ไม่ใช่ผู้สนับสนุนทางการ คือผู้ใช้โซเชียลทั่วไป จะวัดอย่างไรว่าเนื้อหาแบบใดเป็นการหาเสียง และจะคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างไร

ได้ยินมาว่า กกต.จะปล่อยเสรีในการหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย แล้วค่อยไปใช้กฎระเบียบ ที่ร่างขึ้นพิจารณาสอยนักการเมืองที่ทำผิด ภายหลังเลือกตั้ง ซึ่งก็คงไม่ง่ายนัก

ข้อพึงระวังอย่างเดียวของ นักการเมืองที่ใช้โซเชียลมีเดีย คือ ระวังอย่าสาดโคลนคู่แข่ง หรือหาเสียงด้วยวิธีดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม เพราะจะถูกตีความได้ว่า เป็นการนำเข้าข้อมูลซึ่งเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เป็นความผิดอาญาแผ่นดินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่โทษหนักกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทหลายเท่า

ไม่เข้าใจ สงสัยวิธีหาเสียงอย่างไร ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง หรือจะใช้สื่อในเครือ “ลานนาโพสต์” กำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีหาเสียงอย่างไรให้ชนะใจชาวบ้านในยุค 4.0 ลานนาโพสต์เปิดพื้นที่เต็มที่สำหรับนักการเมืองลำปางทุกคน ทุกพรรคแล้วจากนี้เป็นต้นไป
          
   
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1202 วันที่ 26 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2561)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์