ฤดูหนาวในความทรงจำช่วงวัยเด็กของคนพื้นถิ่นเหนือ
อาจมีความสนุกตื่นเต้นเมื่อครั้งเดินถือเสียม ถือขวดพลาสติก เดินท่อม ๆ
ไปรอบบ้านยามค่ำคืน มองหาพื้นดินที่มีดินซุย ๆ จากนั้นก็ลงมือขุดหาจิ้งกุ่ง
โดนมันกัดนิ้วเอาบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะโดนแม่ หรือยายบ่นมากกว่า
เพราะขุดรูหาจิ้งกุ่งแล้วไม่ยอมกลบ ปล่อยทิ้งหลุมดินกระจายไว้รอบบ้าน
ทุกวันนี้
หลายคนคงรู้สึกเหมือนกันว่า จิ้งกุ้งที่เคยเป็นอาหารรสเลิศของเรานั้น
นับวันจะหากินยากเต็มที หรือไม่ก็แพงหูฉี่
มิหนำซ้ำพวกนี้ซื้อทีละเล็กละน้อยได้เสียเมื่อไร อย่างน้อย ๆ ต้อง 10 ตัวขึ้นไปถึงจะพออิ่ม
จิ้งกุ่งเป็นชื่อพื้นถิ่นของจิ้งหรีดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในภาคเหนือ
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า จิโปม คนสมัยก่อนเชื่อว่า
หากถิ่นไหนมีจิ้งกุ่งสมบูรณ์ ครอบครัวจะเป็นปึกแผ่น พี่น้องรักใคร่สามัคคี
ที่ดินปลูกพืชได้ผล
พวกมันอาศัยอยู่ในรูที่มีความยาวราว
50-60 เซนติเมตรเพียงตัวเดียว
เว้นเสียแต่ฤดูผสมพันธุ์ที่อาจพบจิ้งกุ่งอยู่กันเป็นคู่ในรูเดียว ทั้งนี้ พวกมันจะหลบเงียบอยู่ในรูช่วงกลางวัน
พอตกกลางคืนจึงจะขึ้นมาหากิน มันจะกินวัชพืชและใบไม้หลายชนิด
แต่ชอบที่มีรสชาติฝาดอมเปรี้ยว และยังเป็นนักสะสมเสบียง เพราะมันมักจะนำอาหารกลับลงไปเก็บไว้ในรู
กล่าวกันว่า จิ้งกุ่งมีแรงดีดจากขาแรงกว่าตั๊กแตน
2 เท่า หากมันเป็นมนุษย์จะกระโดดได้ไกลถึง 20 เมตร จิ้งกุ่งไม่ได้ร้อง
แต่ส่งเสียงโดยการเสียดสีบริเวณด้านในของปีกคู่หน้าทั้งสองข้าง ซึ่งมีอวัยวะคล้ายตะไบ
พวกตัวผู้จะใช้อวัยวะคล้ายตะไบของปีกข้างขวาถูเข้ากับสันขอบปีกของปีกข้างซ้าย
พร้อมกับเดินวนเวียนไปมา แล้วตัวเมียจะเดินไปหาตามเสียง เมื่อผสมพันธุ์แล้ว
ตัวเมียจะวางไข่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้นอีก 20 วัน ตัวเมียก็จะตาย โดยเฉลี่ยแล้ว จิ้งกุ่งมีอายุอยู่บนโลกนี้ราว ๆ 330
วัน
เราคงรู้จักจิ้งกุ่งกันมาตั้งแต่เด็ก
ๆ และเรียนรู้ที่จะกินพวกมันอย่างเอร็ดอร่อย บางคนอาจขุดหาตามรูกับมือด้วยซ้ำ ไม่ก็เอาน้ำกรอกลงในรู
เดี๋ยวมันก็จะขึ้นมา นำไปตำน้ำพริก หรือทอดกรอบก็อร่อย แถมยังได้โปรตีนสูงถึง 12.8 กรัม
ต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม อย่างไรก็ตาม
หากเปรียบเทียบกับแมลงกินได้อื่น ๆ ก็ยังน้อยกว่าพวกตั๊กแตน แมลงกระชอน
และแมลงกุดจี่
อย่างไรก็ตาม
นักวิชาการก็เป็นห่วงว่า จิ้งกุ่งอาจหายไปจากธรรมชาติในวันข้างหน้า
หากถูกขุดล่าเพื่อการค้ามาก ๆ เข้า ประกอบกับช่วงการขุดหาจิ้งกุ่งยังตรงกับช่วงที่ตัวเมียมีไข่เต็มท้อง
มิหนำซ้ำแหล่งอาหารตามธรรมชาติของพวกมันนับวันจะถูกทำลาย สารเคมีจากพืชไร่
ยาฆ่าหญ้า ล้วนทำลายวัชพืชที่เป็นอาหารของจิ้งกุ่งไปด้วย ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยเสียงที่อาจทำให้ประชากรจิ้งกุ่งมีโอกาสลดน้อยถอยลง
หรือสูญพันธุ์ไปได้
เช่นนี้ปัจจุบันจึงมีคนหันมาเพาะเลี้ยงจิ้งกุ่งกันอยู่บ้าง
แต่ก็ได้ข่าวว่าเลี้ยงยาก จึงไม่ค่อยชัดเจนนักสำหรับธุรกิจนี้ จากการศึกษาเทคนิคเพาะเลี้ยงจิ้งกุ่งในเชิงเศรษฐกิจของศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่
1 อำเภองาว จังหวัดลำปาง
พบปัญหาจากนิสัยตามธรรมชาติของจิ้งกุ่งที่ชอบอยู่เดี่ยว ๆ เมื่อถูกนำมาขังรวมกันจึงมักต่อสู้กันเอง
ทำให้มีอัตราการตายสูง ต้องมีการปรับเปลี่ยนเทคนิคและวิธีการอยู่เสมอ
เพื่อพัฒนาให้สามารถเลี้ยงรวมกันได้ เพิ่มอัตราการรอด ลดอัตราการตาย และลดต้นทุน
ทางศูนย์ฯ แนะแนวทางหนึ่งที่น่าจะได้ผลอยู่บ้าง
นั่นก็คือ การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจากพ่อแม่พันธุ์ตามธรรมชาติ
หรือนำพ่อแม่พันธุ์ไปปล่อยในพื้นที่ที่ต้องการ แต่ให้อยู่แบบธรรมชาติ
เพื่อเป็นผลพลอยได้จากการใช้ประโยชน์พื้นที่ เช่น บริเวณบ้านที่มีความชื้น
มีวัชพืช อาทิ หญ้าขึ้นอยู่ หรือบริเวณร่องสวนผลไม้ที่ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง
โดยผู้เลี้ยงคอยควบคุมสัตว์ที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติ เช่น กิ้งก่าและหนู คิด ๆ
ดูแล้ว นับเป็นการเลี้ยงที่ส่งผลดีกับระบบนิเวศโดยรวม จิ้งกุ่งช่วยพรวนดิน
ทำให้ดินดี ปลูกพืชพรรณก็งอกงาม ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง
ซึ่งส่งผลร้ายทั้งต่อคนและสัตว์อื่น
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1202 วันที่ 26 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น