วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เมื่อโรงหมอไม่มีหมอ ความตายก็ใกล้เอื้อม !

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

วามตายของคุณช่อลัดดา ทาระวัน ที่ถูกสามีสาดน้ำกรด จนเสียชีวิต และมีประเด็นโรงพยาบาลพระราม 2 สถานพยาบาลแรกที่คุณช่อลัดดา ถูกส่งตัวมา ปฏิเสธการรักษา อีกทั้งไม่มีหมอเวรที่อยู่ประจำการ กลายเป็นเรื่องที่ต้องสอบสวนทวนความกันอีกครั้ง ในขณะที่ข่าวความขัดแย้งระหว่างโรงพยาบาล กับคนไข้กับญาติคนไข้มีมาเป็นระยะ

แน่นอนว่าในบรรยากาศของโรงพยาบาลที่มีความกดดันสูง โดยเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐ หมอ พยาบาล บุคลากรที่เกี่ยวข้องทำงานเหนื่อยหนักกว่าอาชีพอื่นๆ คนที่ไปโรงพยาบาลก็คาดหวังการดูแล เอาใจใส่ เมื่อต่างฝ่ายมีความคาดหวังและมีความพร้อมต่างกัน การกระทบกระทั่งกันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ การพูดการจา ไปจนเรื่องใหญ่เช่นกรณีคุณช่อลัดดา

แม้กระทั่งบางโรงพยาบาลของจังหวัดลำปาง ก็ยังมีเรื่องร้องเรียนว่าหมอบางคนมีปัญหาการสื่อสารกับคนไข้และญาติคนไข้

เรื่องของคุณช่อลัดดานั้น เกิดขึ้นในโรงพยาบาลเอกชน เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันไปถึงสถานพยาบาลที่อาจคำนึงถึงเรื่องธุรกิจมากกว่าภาระหน้าที่  เป็นหน้าที่ของ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติให้สถานพยาบาลต่างๆได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

กรณีของโรงพยาบาลพระราม 2 ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ต้องสอบสวนหาความจริงคือ การปฎิเสธการรักษา หรือการที่เป็นโรงพยาบาลและไม่มีหมอประจำการในเวลาที่คนป่วย

ผลสรุปเบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุขชี้ว่าโรงพยาบาลพระราม 2 น่าจะมีความผิด ส่วนอย่างไร ในประเด็นไหน ต้องดูกล้องวงจรปิดจากโรงพยาบาลทั้งสองแห่ง คือโรงพยาบาลพระราม 2 และโรงพยาบาลบางมดที่ถูกส่งตัวต่อไปรักษาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ว่าโรงพยาบาลพระราม 2 ปฏิเสธการรักษา และให้คุณช่อลัดดา ไปรักษาที่โรงพยาบาลบางมดที่มีสิทธิประกันสังคม ไม่เพียงประชาชนจะได้รู้ว่า กรณีเป็นคนป่วยฉุกเฉิน ไม่สามารถรอเวลาได้ จะไปรักษาโรงพยาบาลใดก็ได้ที่ใกล้ที่สุด ซึ่งรัฐจะรับผิดชอบจ่ายค่ารักษาให้เท่านั้น หากประชาชนก็อาจไม่เข้าใจสิทธิในการรักษาพยาบาลที่จำแนกประเภทการเข้าถึงเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มแรกคือ ผู้ที่มีสิทธิในสวัสดิการข้าราชการ ทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการเกษียณ รวมทั้งคู่สมรสด้วย กรมบัญชีกลางเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย โดยไม่ต้องสำรองจ่ายก่อนในขณะไปรักษา สองคือสิทธิประกันสังคมหรือสิทธิสุขภาพอื่นๆ ได้แก่พนักงานบริษัทเอกชนต่างๆที่เข้าระบบประกันสังคม

และกลุ่มสุดท้าย ที่ไม่มีสิทธิทั้งความเป็นข้าราชการ หรือพนักงานบริษัทเอกชน คือชาวบ้านทั่วไป สามารถเข้าถึงสิทธิบัตรทอง หรือสิทธิสามสิบบาทรักษาทุกโรค ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศไทยมีประชาชนที่มีสิทธิ อ้างอิงปี 2561 ถึง 47,984,917 คน

แปลว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ยากดีมีจนอย่างไร มีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคร้ายแรง หรือมีค่ารักษาพยาบาลสูงเพียงใด  และเฉพาะกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีสิทธิประเภทใด สามารถที่จะเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลก็ได้ โดยโรงพยาบาลทุกแห่งต้องให้การรักษาเต็มความสามารถ โดยห้ามเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลภายใน 72 ชั่วโมงแรกเด็ดขาด หากฝ่าฝืนในส่วนโรงพยาบาลเอกชนมีโทษทั้งจำและปรับ

การที่โรงพยาบาลไม่มีหมอ หรือไม่มีหมอประจำการในขณะที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติเข้ามารักษา นั่นก็แปลว่า โอกาสที่จะเสียชีวิตย่อมสูงอย่างยิ่ง แต่ถ้ายังไม่มีเชือดไก่ให้ลิงดู ก็คงไม่มีใครเดือดร้อน จังหวะเวลาเช่นนี้ โรงพยาบาลพระราม 2 น่าจะเชือดให้ดูกันอย่างยิ่ง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1205 วันที่ 16 - 22 พฤศจิกายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์