วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

หลวงพ่อเกษม เขมโก ผู้มีธรรมอันเกษม

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ณ สถานปฏิบัติธรรมหลวงพ่อเกษม เขมโก ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง กุฏิหลังเล็กที่อยู่ทางด้านหลังแม้ได้รับการปรับปรุงให้ดูใหม่อยู่เสมอ แต่ก็ยังคงเค้าความเรียบง่ายเฉกเช่นเมื่อครั้งที่หลวงพ่อเกษม เขมโก จำพรรษาอยู่

หลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นพระอริยสงฆ์ที่มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัด ตั้งอยู่ในวิถีแห่งความสมถะ สงบ สันโดษ และอยู่คนละขั้วกับเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ซึ่งพุทธศาสนิกชนต่างตระหนักดี จึงให้ความเลื่อมใสศรัทธาตลอดมา

ด้านหน้ากุฏิที่เรียบง่ายนั้น มีป้ายเขียนไว้ว่า บรรณศาลา ศิตยาถวาย 10 ก.ค. 2525” หากแง้มผ้าม่านสีน้ำเงินออกแล้วก้มลงมอง ก็จะเห็นหุ่นเรซิ่นของท่านอยู่ภายใน ส่วนผนังด้านนอกมีตัวหนังสือเขียนติดไว้ ซึ่งหากยืนอ่านเผิน ๆ คงได้ยิ้มในอารมณ์ขันที่แทรกอยู่ แต่หากวิเคราะห์ตามก็จะได้รู้ซึ้งถึงปริศนาธรรมที่หลวงพ่อต้องการสื่อสาร

ประกาศ ที่นี่ไม่มีเลข อยากได้เลขไปเอาที่วัดเกาะ อยากได้ปัญหาเหมาะ ๆ ไปเอาที่บ้านทิดนก อ่านตรงนี้แล้วให้ไปรับของแล้วกลับได้ มาไหว้ทำไมไม่แปลกอะไร พระไทยเหมือนกัน ไม่ใช่ฝรั่งเยอรมัน เมดอินไทยแลนด์ อยากเห็นก็ไม่ได้เห็น อยากหันก็ไม่ได้หัน อยากเห็นก็ไม่ได้หัน พระไทยเหมือนกัน ไม่ต้องหันเห็น

ความต้องการปลีกวิเวกของหลวงพ่อเกษม เขมโก มีอยู่อย่างสูงเป็นที่รู้กันในหมู่ศิษยานุศิษย์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีพุทธศาสนิกชนต้องการพบท่านอยู่เนือง ๆ ซึ่งก็สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง

สมัยก่อนเคยไปขอเข้าพบหลวงพ่อพร้อมกับผู้ใหญ่ในการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หลวงพ่อท่านก็บอกว่าอาตมาไม่ได้อาบน้ำหลายวันแล้ว ทำไมไม่ไปหาพระที่กรุงเทพฯ ล่ะ พระดี ๆ มีตั้งหลายรูป ท่านพูดเพียงเท่านั้นล่ะค่ะ แล้วก็ขอตัว สายสุนีย์ สิงหทัศน์ อดีตพนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าให้ฟัง

แต่หลังจากนั้นก็มีรุ่นพี่เข้าพบท่านพร้อมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ รุ่นพี่กลับมาเล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อท่านทักรองผู้ว่าฯ ว่า ว่าไงผู้ว่าฯ สุรินทร์ พอกลับมาปรากฏว่าท่านรองผู้ว่าฯ ได้ขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์จริง ๆ อดีตพนักงานวัยเกษียณเล่าพร้อมรอยยิ้ม

นอกจากนี้ ในส่วนของศาลาสหกรณ์ข้าง ๆ กุฏิยังมีประวัติและภาพถ่ายของหลวงพ่อเกษม โขมโก รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง และตามผนังด้านนอกก็มีอัตตโนภาษิตของหลวงพ่อให้ยืนอ่านกันเพลิน ๆ อาทิ

ไม่กินก็อยาก ไม่ปากก็ใจ สารพัดยัดเข้าไป ถ้าเจ็บท้องไม่ร้องหาใคร นอนอยู่ในป่าช้าผู้เดียว

หลวงพ่อเกษม เขมโก เกิดที่บ้านท่าเก๊าม่วง ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง เมื่อวันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 ปีชวด ในสกุล ณ ลำปาง สายเจ้านรนันทไชย เจ้าผู้ครองนครลำปาง (พ.ศ. 2430-2440) ในตระกูลวงศ์ของทิพย์ช้าง มีเจ้าน้อยหนู มณีอรุณ เป็นโยมบิดา และเจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง เป็นโยมมารดา โดยท่านเป็นหลานของเจ้าพ่อบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย (พ.ศ. 2440-2465)

ในวัยเด็กเข้าเรียนที่โรงเรียนบุญทวงศ์อนุกูล จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และจบการศึกษาสามัญปี พ.ศ. 2466 เข้าสู่ร่มเงาของพระพุทธศาสนาครั้งแรกโดยการบวชหน้าไฟเมื่ออายุ 12 ปี โดยบวชที่วัดป่าดัวะ 7 วัน ครั้นอายุ 15 ปี ได้บวชเป็นสามเณร จำพรรษาอยู่ที่วัดบุญยืน กระทั่งอายุ 21 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้รับฉายาว่า เขมโก ผู้มีธรรมอันเกษม

ภายหลังอุปสมบทแล้ว ได้เข้าเรียนภาษาบาลีและปริยัติธรรมจากวัดศรีล้อม วัดบุญวาทย์วิหาร วัดเชตวัน และวัดเชียงราย สอบได้นักธรรมเอกขณะอายุ 24 ปี แต่เมื่อถึงคราวสอบเปรียญ 3 ท่านกลับไม่ยอมสอบ ทั้ง ๆ ที่มีความสามารถ ทั้งนี้ เพราะท่านมีความสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมทางสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

เมื่อเจ้าอาวาสวัดบุญยืนมรณภาพ หลวงพ่อเกษม เขมโก จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน แต่ท้ายที่สุดตอนใกล้รุ่งของวันเข้าพรรษาปี พ.ศ. 2492 ท่านก็ได้ออกจากวัดไปโดยไม่มีใครรู้เห็น พบเพียงจดหมายวางไว้ที่ธรรมาสน์ โดยท่านได้เขียนลาศรัทธาชาวบ้านยาวถึง 2 หน้ากระดาษ เจ้าประเวทย์ ณ ลำปาง ลูกพี่ลูกน้องของท่าน ซึ่งขณะนั้นเป็นสามเณรอยู่ ได้นำมาอ่านให้ฟังในอุโบสถความตอนหนึ่งว่า ทุกอย่างเราสอนดีแล้ว อย่าได้คิดไปตามเรา เพราะเราสละแล้ว การเป็นเจ้าอาวาสเปรียบเสมือนการเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องรับภาระหลายอย่าง ไม่เหมาะสมกับเรา เราต้องการความวิเวก ไม่ขอกลับมาวัดอีก แม้เจ้าแม่บัวจ้อน โยมมารดา จะอ้อนวอนให้ท่านกลับวัดบุญยืน ท่านก็ยังยืนยันความต้องการเดิมและบอกว่าจะไปอยู่ที่ป่าช้าแม่อาง

หลังจากหลวงพ่อเกษม เขมโก ออกธุดงควัตร ท่านก็มาปฏิบัติธรรมในสุสานไตรลักษณ์ จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวลำปางและศรัทธาจากทั่วประเทศ ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ท่านเข้ารับการผ่าตัดและรักษาตัวที่โรงพยาบาลลำปางด้วยโรคกระดูกไขสันหลังอักเสบ ครั้งที่สองท่านเป็นต้อกระจก ต้องผ่าตัดดวงตาทั้งสองข้าง ปี พ.ศ. 2538 หลวงพ่อเกษม เขมโก เข้ารับการรักษาอีกครั้ง เนื่องจากอาการหายใจติดขัด ในคราวนี้ได้มีหนังสือนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย และพระองค์ท่านได้ทรงรับหลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นคนไข้ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทั่งในวันจันทร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2539 เวลา 19.40 นาฬิกา หลวงพ่อเกษม เขมโก ก็มรณภาพ สิริอายุ 84 ปี

ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะมีการจัด งานบุญตามรอยศรัทธา ไหว้สาอริยสงฆ์เจ้า หลวงพ่อเกษม เขมโก ณ สถานปฏิบัติธรรมหลวงพ่อเกษม เขมโก ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง โดยจะมีขบวนอัญเชิญเครื่องครัวตานสักการะหลวงพ่อเกษม เขมโก ตลอดนิทรรศการประวัติหลวงพ่อเกษม เขมโก และการเล่าเรื่องเมืองลำปาง ซึ่งอีกไม่นานก็จะวนมาอีกหนึ่งวาระ ที่ลูกศิษย์หลวงพ่อเกษมไม่เคยลืมเลือน


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1204 วันที่ 9 - 15 พฤศจิกายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์