“ปานจะฟิน” คือโบรชัวร์ที่วางตัวอยู่อย่างเงียบ ๆ
บนชั้นข้อมูลในศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว เทศบาลนครลำปาง
คล้ายจะเป็นแคมเปญเก๋ ๆ ชักชวนคนให้ไปเที่ยว อำเภอเมืองปาน กัน
ด้านหนึ่งของโบรชัวร์ระบุสถานที่ท่องเที่ยว อีกด้านหนึ่งมีแผนที่
ปฏิทินท่องเที่ยวประเพณีท้องถิ่น และที่พักพร้อมสรรพ
อำเภอเมืองปานอยู่ห่างจากอำเภอเมืองลำปางไปทางทิศเหนือราว
84 กิโลเมตร โอบล้อมด้วยขุนเขาและพืชพรรณอย่างน่ามหัศจรรย์
เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า “ทุ่งสามหมวก”
หรือ “ทุ่งสามโค้ง” อุดมไปด้วยป่าไม้
สายน้ำ และความสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน จนกลายเป็นเป้าหมายของพม่าและเงี้ยว
ที่หวังเข้ามายึดที่นี่ให้เป็นแหล่งบ่มเพาะเสบียงอาหาร
ตำนานโบราณเล่าถึงนายบ้านผู้หนึ่งที่นำพาผู้คนปกป้องเมืองเล็กกลางขุนเขา
ว่ากันว่า เขาทำเครื่องส่งสัญญาณแจ้งเหตุจากทองคำหลอม เรียกว่า “ปาน” มีลักษณะคล้ายฆ้องใหญ่ ชาวบ้านในอดีตเรียกว่า “ปานคำ” และพากันขนานนามผู้นำท่านนั้นว่า “เจ้าขุนจะปาน” จากนั้นชื่อบ้านนามเมืองจึงถูกเรียกกันจนกร่อนเหลือเพียง “เมืองปาน”
ด้วยความที่เป็นเมืองเก่าแก่
อำเภอเมืองปานจึงมีวัดน่าชมอยู่หลายวัด ที่ตำบลแจ้ซ้อนมีวัดพระธาตุดอยซาง วัดนี้ตามตำนานกล่าวว่า
พระนางจามเทวีได้นำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้บนยอดและสร้างสถูปครอบไว้ วัดข่วงกอม
วัดเก่าแก่อายุกว่า 200
ปี วัดศรีหลวงแจ้ซ้อน มีหลังคาไม้ซ้อนกันถึง 4 ชั้น ประดับประดาด้วยเครื่องไม้แกะสลัก งานปูนปั้นรูปสัตว์หิมพานต์
รวมถึงทวยเทพยดานั้น งดงามตามศิลปะท้องถิ่น วัดสบลี วัดเล็ก ๆ แสนสมถะ ทว่าง่ายงาม
น่าชมยิ่งนัก
ที่ตำบลบ้านขอ
วัดพระธาตุจอมก้อย มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่สานด้วยตอก
ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทย สร้างด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวเมืองปาน
ที่ตำบลทุ่งกว๋าว วัดปลายนาหลวงเป็นวัดเก่าแก่กว่า 650 ปี
ประดิษฐานพระเจ้าทันใจและพระศิลาหิน พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของผู้คน
ด้านแหล่งธรรมชาติไฮไลต์คงต้องยกให้
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ซึ่งวันนี้ปรับภูมิทัศน์ใหม่
มีบ่อน้ำร้อนให้แช่เพิ่มขึ้น ที่นี่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของเมนูเด็ดอย่างไข่ยำน้ำแร่
โดยหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ได้ริเริ่มเมนูนี้ ปรากฏว่าเป็นที่ติดอกติดใจแก่ผู้ได้ลิ้มลองทุกคน
จนกลายเป็นจานเด็ดประจำอำเภอไปแล้ว ยิ่งถ้าได้กินกับข้าวไรซ์เบอร์รีร้อน ๆ หอม ๆ
ซึ่งอำเภอเมืองปานนับเป็นแหล่งปลูกข้าวไรซ์เบอร์รีที่มีชื่อเสียง ก็คงจะฟินมาก ๆ
ห่างจากอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนไปราว
14 กิโลเมตรจะถึง บ้านป่าเหมี้ยง กลางดอยสูงกว่า 1,000 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ช่างเงียบสงบ สะอาดสะอ้าน
ไล่ระดับไปบนเนิน ธารน้ำสายหลักไหลรินอยู่เบื้องล่าง นอกจากจะเป็นแหล่งชมเสี้ยวดอกขาว
ชาวบ้านยังปลูกชา ทำเมี่ยงส่งขายทั่วภาคเหนือ ทำหมอนใบชา มีโฮมสเตย์ บนเส้นทางมี จุดชมวิวดอยล้าน
และ กิ่วฝิ่น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 1,517 เมตร
มองเห็นรอยต่อจังหวัดลำปางและจังหวัดเชียงใหม่
บ้านแม่แจ๋ม บนทางหลวงหมายเลข
1252 ตั้งอยู่กลางแดนดอยหนาวเย็น จึงเป็นแหล่งปลูกพืชพรรณเมืองหนาวอย่างแมกคาเดเมีย
กาแฟ เสาวรส และผลไม้นานาชนิด ว่ากันว่า
คนที่นี่เริ่มปลูกสตรอว์เบอร์รีได้เป็นที่แรก ๆ ของจังหวัดลำปาง
สำหรับปฏิทินท่องเที่ยวประเพณีท้องถิ่น
ในโบรชัวร์ระบุว่าเดือนมกราคม-ชมดอกซากุระบานบนดอยกิ่วฝิ่นและบ้านแม่แจ๋ม เดือนกุมภาพันธ์-เทศกาลดอกเสี้ยวบาน
บ้านป่าเหมี้ยง / เทศกาลวันปีใหม่กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง
เดือนมีนาคม-ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า เดือนเมษายน-ประเพณีปี๋ใหม่เมือง /
ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ เดือนพฤษภาคม-ประเพณีแปดเป็ง
เดือนมิถุนายน-ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน เดือนกรกฎาคม-ประเพณีเข้าพรรษา
เดือนกันยายน-ประเพณีตานก๋วยสลาก เดือนตุลาคม-ประเพณีออกพรรษา
เดือนพฤศจิกายน-ประเพณีตานเดือนยี่เป็ง
เดือนธันวาคม-ชมดอกซากุระบานบนดอยกิ่วฝิ่นและบ้านแม่แจ๋ม / ประเพณีเลี้ยงผีข้าวแฮก
/ พิธีเอาข้าวใส่ถุง / พิธีซ้อนขวัญข้าว
หากไม่ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัด
ลองหันมาสำรวจซอกแซกไปยังต่างอำเภอของเรา อาจบางทีได้พบเจอเรื่องราวสนุก ๆ
เพราะความสุขนั้นช่างเรียบง่าย และบางครั้งไม่ต้องดั้นด้นไปไหนไกลเลย
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1207 วันที่ 30 พฤศจิกายน - 6 ธันวาคม 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น