
ต้นเดือนพฤศจิกายน
ฤดูกาลของอาหารจากป่าหน้าหนาวก็วนมาถึง
พืชเศรษฐกิจสำคัญมากมายกลายเป็นขุมทรัพย์แห่งความสุขใจในวิถีชุมชนคนอยู่กับป่า
เช่นเดียวกับผู้คนในหมู่บ้านกลาง
ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ชุมชนเล็ก ๆ ของชาวกระเหรี่ยง(ปกาเกอะญอ)
กลางหุบเขาดอยแม่ส้านที่ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางความห่างไกลจากตัวเมือง ที่มิได้มีเรื่องของฐานะเงินทองมาเป็นเครื่องชี้วัดมาตรฐานคุณค่าของชีวิต
แต่อาศัยผืนแผ่นดินทำมาหากินเรียบง่ายด้วยการทำพืชไร่หมุนเวียน
ซึ่งถือว่าเป็นระบบเกษตรกรรมแบบพื้นบ้านโบราณของคนกลุ่มที่อาศัยอยู่บนที่สูง เพื่อเพาะปลูกพืชผล ผักสวนครัว
หลากหลายชนิดในที่ดินแปลงหนึ่งราว 1-2 ไร่
เพื่อผลิตอาหารไว้กินตลอดปีโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเหมือนวิถีคนเมือง
นอกเหนือจากนั้น
คือการหาของกินและสร้างรายได้จากป่า เช่นการหาหน่อไม้ เห็ด น้ำผึ้ง หนอนไม้ไผ่
แต่ความพิเศษของพื้นที่ป่าดอยแม่ส้าน เป็นแหล่งปลูกพืชสมุนไพรยืนต้น
สำหรับทำพริกเครื่องแกง ที่ชื่อว่า “มะแขว่น” หรือทางภาคกลางเรียกว่า “ลูกระมาศ” ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือเลยก็ว่าได้ เพราะป่าแถบนี้มีความอุดมสมบูรณ์
สภาอากาศเหมาะสมกับการเติบโตของต้นมะแขว่นให้ดอกผลพวงได้ดี
สมชาติ หละแหลม ผู้ใหญ่บ้านกลาง เล่าว่า
ชุมชนเล็กๆแห่งนี้ มีประชากรไม่ถึง 300 คน ราว 65 ครัวเรือน
แต่นับเป็นความโชคดีของชุมชนขนาดเล็กที่มีรูปแบบการดูแลปกครองกันเองให้อยู่ในกรอบของการดูแลรักษาป่าและชุมชนไปพร้อมกับความเป็นอยู่
นอกเหนือจากการอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐบาลไทยเช่นเดียวกับคนในชุมชนเมือง
กฎสำคัญของการดูแลกันเองคือ
ทุกครัวเรือนมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ผืนป่ารอบหมู่บ้านให้อุดมสมบูรณ์ที่สุด
“เราเคยก้าวข้ามจุดของยุคเสื่อมของการไหลตามสังคมความเจริญ
รวมถึงการทำเกษตรเชิงเดี่ยวในอดีตอยู่พักหนึ่ง สุดท้ายก็ค้นพบว่า ชาวบ้านเป็นหนี้
ไม่มีรายได้ แต่ก็ไม่มีข้าวและอาหารกินเพียงพอ
หนทางของการหันกลับมาสู่วิถีกระเหรี่ยงคือ การทำเกษตรแบบดั้งเดิม ปลูกข้าวไร่
และพืชสวนครัวที่กินได้ตลอดปี เราเริ่มกลับสู่วิถีดังเดิมอย่างเข้มเข็งเมื่อช่วงปี
2535 กลับมาทำเกษตรที่เราสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปลูกของกินเช่น พริก มะเขือ
งาดำ ฟักเขียว ฟักทอง น้ำเต้า มะระ ถั่วเขียว ถั่วดำ ข้าวโพด พืชตระกูลแตง
และพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกว่า 40-50 สายพันธุ์
ซึ่งเราจัดสรรพื้นที่ทำกินแยกชัดเจนกับพื้นที่ป่า
เมื่อเสร็จงานทำเกษตร เราก็ยังมีภาระหน้าที่ดูแลรักษาป่า
เพื่อรักษาแหล่งอาหารในป่า ซึ่งปัจจุบันบางอย่าง เช่นผักกูด มะแขว่น
ได้กลายเป็นอาหารที่มีความต้องการของชุมชนเมืองไปแล้ว
ทุกวันนี้ชาวบ้านมีข้าวและพืชพรรณอาหารไม่ต้องซื้อหา ลดค่าใช้จ่าย ในขณะเดียวกันก็มีรายได้เพิ่มจากของป่า
หากเราละทิ้งวิถีเกษตรแบบนี้เท่ากันว่าเรากำลังเดินเข้าสู่หนทางของการสูญพันธุ์ของพืชพรรณที่น่าเศร้าใจ
”
จากพื้นที่รอบหมู่บ้านเป็นป่าสมบูรณ์
ชาวบ้านจึงเพาะพันธุ์มะแขว่น ปลูกกระจายในที่ทำกินแลป่ารอบหมู่บ้าน
โดยมีการขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินที่ตรวจสอบได้ของบัญชีต้นมะแขว่นของหมู่บ้าน
เศรษฐกิจจากป่าของที่นี่มีระบบการจัดการที่น่าสนใจ
จากการบอกเล่าของ
ชาวบ้านหลายคนบอกตรงกันว่า ทั้งสภาพป่าและสายพันธุ์ที่ดี มีผลทำให้ที่นี่เป็นแหล่งมะแขว่น
คุณภาพ กลิ่นหอม เป็นที่ต้องการของตลาดสูงมาก มะแขว่นที่มีอายุไม่เกิน 3 ปี ก็เก็บได้
ราว 20-30 กก. แต่ต้นที่มีอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป สามารถเก็บเมล็ดมะแขว่นดิบได้
ราว 100-200 ก.ก. และข้อดีของ
ต้นมะแขว่นที่ปลูกในทิศทางที่รับแสงได้เหมาะสมจะมี อายุยืนถึง 60 ปี
ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนเก็บผลผลิตมะแขว่น ตากแห้งไว้ทยอยขาย
ปัจจุบันสนนราคามูลค่าเริ่มจากแผงตาก ไปจนถึงท้องตลาดหลักหลายร้อยบาทต่อกิโลกรัม
นับเป็นการเกษตรที่ลงทุนต่ำแต่รายได้สูงเมื่อเทียบกับพืชเชิงเดี่ยวค่อนข้างมาก
ขณะเดียวกันไม้ไผ่หลายสายพันธุ์
ในป่าแห่งนี้ก็กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้ ทั้งหล่อไม้และลำไผ่เพื่อการใช้สอยในชุมชนเมืองที่นับวันจะหายาก
และขาดแคลน คนประกอบอาชีพตัดลำไผ่ในยุคนี้ จะว่าไปแล้ว ไผ่เศรษฐกิจ 1 กอก็ทำรายได้
2,000-3,000 บาท เมื่อชุมชนช่วยกันดูแลรักษาป่าได้ดีมากเท่าไหร่
ธรรมชาติก็สร้างปริมาณ พืชในป่าเพิ่มสูงขึ้นตลอดปี
วิถีชุมชนที่อยู่ป่า
หรือว่าวิถีกระเหรี่ยง
ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ที่มีมีจิตวิญาณรักษาผืนป่าเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิต
สิ่งที่เขาได้รับมากกว่าเงินทอง คือเกิดรายได้โดยไม่ฝืนวิถี ความสุขจากแบ่งปันอาหารจากป่าสู่ชุมชนเมือง
----------------------------
ข้อมูลเพิ่มเติม :
มะแขว่น เป็นพืชสมุนไพรสกุลเดียวกับพริกไทยเสฉวน (Sichuan Pepper) ผลและใบใช้เป็นเครื่องเทศชูรสอาหาร
โดยผลใช้ผลสดหรือผลแห้งหรือทั้งสองอย่าง แล้วแต่ชนิดอาหาร เช่น ลาบ หลู้ แกง
อาหารพื้นเมืองและอาหารท้องถิ่น เช่น ตำหวาย หลามบอน ตำน้ำพริก ฯลฯ มะแขว่นมีรสชาติเผ็ด
กลิ่นฉุนแต่หอม มีสรรพคุณทางยาคือสามารถแก้หวัดได้
ถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความต้องการทางตลาดสูง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น