วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561

สงครามเลือกตั้ง สงครามสื่อ ถึงเวลาสื่อเลือกข้าง !?

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ม่น้อยกว่า 4 ปี ที่สื่อห่างเหินจากข่าวเลือกตั้ง ในห้วงระยะเวลา 4 ปีนี้ อาจมีนักข่าวใหม่หลายคน ที่ยังไม่เคยสัมผัสบรรยากาศการทำข่าวเลือกตั้งมาก่อน ปรากฏการณ์เช่นนี้ มองได้ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือความอ่อนประสบการณ์อาจทำให้นักข่าวใหม่เป็นเครื่องมือของนักการเมืองได้ แต่อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็อาจมีทักษะในการใช้เครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่ ในการเข้าถึงแหล่งข่าว หรือข้อมูลข่าวสาร ฉับไวยิ่งกว่านักข่าวรุ่นเก่า

เนื่องเพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ จะเป็นช่องทางสำคัญ และน่าจะเป็นสื่อกระแสหลักในการหาเสียง โดยเฉพาะการเข้าถึงกลุ่มคนอายุ 18 ปี ที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

ในแง่ของสื่อหลักดั้งเดิม  ไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ ก็จะต้องใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบในการช่วงชิงการนำ การสร้างสรรค์รายการใหม่ๆ หรือเนื้อหาใหม่ๆ  เพื่อดึงคนอ่าน คนดู คนฟัง ให้อยู่กับตัวเองมากที่สุด นานที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก เพราะข่าวก็เหมือนข่าว

ดังนั้น เพื่อสร้างความแตกต่าง จากสื่ออื่นๆ ก็ต้องเปิดพื้นที่ในการนำเสนอข่าวสาร ข้อมูล ในรูปแบบอื่น ที่ไม่ใช่ข่าว เช่น บทวิเคราะห์ รายงาน  กราฟฟิค รายการวิเคราะห์ข่าว การจัดเวทีดีเบต แม้กระทั่งการจัดอีเวนท์ เสวนาการเมือง ขายบัตร สร้างรายได้ พร้อมกันไป เช่น  งานเนชั่นทีวีแฟนเดย์ 2018 กับอนาคตการเมืองไทย  

กรณีของเนชั่นทีวี หากนึกถึงภาพของ คุณสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ประธานบอร์ดเนชั่น คุณกนก รัตน์วงศ์สกุล และคุณปอง อัญชะลี ไพรีรัก ที่เคยร่วมงานกันมากับ “ม้าสีหมอก” คนมองเข้ามา ก็อาจตั้งคำถามได้ว่า นี่จะเป็น “สื่อเลือกข้าง”หรือไม่

คำถามนี้ ก็จะเป็นคำถามที่คนทั้งหลายในบรรยากาศของการเมือง เรื่องเลือกตั้ง ถาม เช่นกันว่า สื่อจะมีความเป็นกลางในการเสนอข่าวสาร ข้อมูล เลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ ซึ่งการที่จะตอบคำถามนี้ได้  ก็ต้องการความเข้าใจว่า กลุ่มคนผู้บริโภคข่าวสาร แยกแยะได้หรือไม่ว่า คำว่าความเป็นกลาง ความเชื่อที่ว่าบนพื้นที่สื่อ ไม่ควรมีการแสดงความคิดเห็นนั้น เป็นเช่นใด

หลักการสำคัญของสื่อนั้น คือ บนพื้นที่ข่าว ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ข่าวที่ออกอากาศทางวิทยุ หรือประกาศข่าวทางโทรทัศน์ จะมีความเห็นไม่ได้ทุกกรณี ข่าวต้องเป็นข่าว ข่าวคือข้อเท็จจริง จะเสริมเติมแต่ง เขียนเอง หรือที่เรียกว่านั่งเทียนเขียนข่าวไม่ได้

แต่สื่อก็มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นเครื่องหมายบอกว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย ดังนั้น ในรายการวิเคราะห์ข่าว ซึ่งไม่ใช่การเล่าข่าว ในคอลัมน์ เช่น คอลัมน์นี้ คอลัมน์ในความเคลื่อนไหว ซึ่งมีลักษณะเป็นรายการกึ่งสังคมกึ่งวิพากษ์ จึงไม่ใช่พื้นที่ข่าวที่จะอยู่ในเงื่อนไขว่าจะต้องมีความเห็นไม่ได้

นอกจากพื้นที่ข่าวแล้ว สื่อย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์ วิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ และต้องมีความรับผิดชอบในเนื้อหาที่ปรากฏหากมีกรณีละเมิดกฎหมายหรือจริยธรรม ในต่างประเทศ ในห้วงระยะเวลาเลือกตั้ง พื้นที่ editorial หรือบทบรรณาธิการ เขาแสดงความเห็นชัดเจนว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนั้น สนับสนุนพรรคการเมืองใด หรือผู้สมัครคนใด ซึ่งในประเทศไทย หากหนังสือพิมพ์ชัดเจนขนาดนี้ คงต้องอธิบายกันยาว

สื่อเลือกข้างอาจมีอยู่จริง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคข่าวสารจะต้องตัดสินใจเองว่า จะยังติดตาม อ่าน ดู และฟังสื่อนั้นต่อไปหรือไม่ ถ้าบังเอิญข้างที่เขาเลือกเป็นข้างที่เราพึงพอใจและสนับสนุนอยู่แล้ว เขาก็จะเป็นสื่อที่ดีในสายตาของเรา  แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเขานำเสนอข้อมูล ข่าวสาร ที่ไม่เป็นไปตามอารมณ์ความรู้สึกของเรา เราก็จะมองว่าเขาไม่เป็นกลาง

เสพข่าวสารอย่างรู้เท่าทัน เราก็จะไม่หลงประเด็น และใช้วิจารณญาณแยกแยะถูกผิด และตัดสินสื่อนั้นๆได้อย่างเที่ยงธรรม
  

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1210 วันที่ 21 - 27 ธันวาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์