วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ปฏิรูปสื่อเสียของ ขอเวลาอีกน๊านนน....นาน

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

นที่สุดก็ต้องกล่าวคำอำลา การปฎิรูปสื่อในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า แม้ทำท่าจะดีในตอนแรกๆ “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา” แต่ทีเหลว เหตุผลสำคัญข้อหนึ่ง คือการมีสิ่งแปลกปลอมที่ไม่เข้าใจสื่อ เข้ามามีบทบาทปฎิรูปสื่อ

โดยเฉพาะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีนายจิรชัย มูลทองโร่ย เป็นประธาน คือชุดที่ปิดฉากปฏิรูปสื่ออย่างสมบูรณ์ ทั้งที่ความเป็นจริงการศึกษาการปฏิรูปสื่อที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด คือในยุคของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ต่อมาถูกแปลงสาร ถูกบิดเบือน จนแทบไม่เหลือเค้าเดิมจากคนที่ไม่รู้เรื่องสื่อ

เอกสารสรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) และการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) หนารวมกันหลายร้อยหน้า อาจถูกซุกซ่อนไว้ที่ไหนสักแห่ง จนกระทั่งนักปฏิรูปรูปรุ่นหลัง ไม่รู้ว่าสิ่งที่พูด วิจารณ์ เสนอความเห็นต่างๆมากมาย นั้น เขาคิด เขาทำ เขาศึกษากันมาอย่างละเอียด รอบด้านแล้ว

โดยเฉพาะในยุคที่อาจารย์จุมพล รอดคำดี นั่งหัวโต๊ะกรรมาธิการสื่อ สปช.ต้องยอมรับว่า งานของกรรมาธิการชุดนี้ทำได้อย่างเป็นระบบ เป็นวิชาการ และใกล้จะเข้าถึงปัญหาแท้จริงอย่างยิ่ง

กรรมาธิการชุดนั้น กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 3 ด้าน คือการปฏิรูปด้านเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ ปฏิรูปด้านการป้องกันการแทรกแซงและครอบงำสื่อ และปฏิรูปด้านการกำกับดูแลสื่อ

ข้อหลังนี่สำคัญ เพราะปัญหาทั้งหมดมาจากการกำกับ ดูแลสื่อ ภายใต้โครงสร้างปัจจุบัน ที่มีสภาวิชาชีพอย่างน้อย 2 สภา เป็นผู้กำกับ ดูแลหลัก คือ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

เมื่อพวกเขาคิดถึง การกำกับดูแลสื่อ จึงเห็นว่า ควรวางโครงสร้าง ระบบและกลไกด้านองค์กรที่เข้มแข็ง โดยให้มีกฎหมายกำหนดการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เป็นองค์กรกลางในการกำกับกันเองที่ครอบคลุมสื่อทั้งหมด เป็นอิสระจากรัฐและทุน

ทั้งนี้โดยมีกรรมการจากทั้งบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มิใช่เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงผู้แทนองค์การเอกชนและผู้บริโภคสื่อ มีธรรมนูญของตนเอง มีฝ่ายกำกับนโยบาย ฝ่ายบริหารกองทุน ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนที่มีระบบการพิจารณาที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรม

ยุทธศาสตร์ข้อนี้เอง นำมาสู่การร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ร่างที่ 2 ถัดจากร่างแรกในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

ในฐานะอดีตอนุกรรมาธิการปฏิรูปสิทธิเสรีภาพ จริยธรรม และการกำกับดูแลกันเองของสื่อ และอนุกรรมาธิการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม คุ้มครองสวัสดิภาพ และสวัสดิการของสื่อมวลชน ในกรรมาธิการสื่อ สปช. จอกอ มีส่วนเล็กน้อย ในการออกแบบโครงสร้างของกฎหมายฉบับใหม่นี้ โดยมุ่งที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับสภาวิชาชีพที่มีอยู่ ให้มีกลไกเสริมที่มี “สภาพบังคับ” ตามสมควร เพื่อให้กลไกในการกำกับกันเอง สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

อีกนัยหนึ่งคือการบังคับ “กระบวนการ” มิใช่บังคับคน

ความพยายามที่จะร่างกฎหมาย ให้องค์กรวิชาชีพสื่อยังสามารถกำกับ ดูแลกันต่อไปได้นั้น ถูก “แปลงสาร” เป็นกฎหมายที่มีสภาพ “ควบคุมบังคับ” ในยุค สปท. และนั่นก็เป็นเหตุผล ที่ได้ลาออกจากคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์

ต้องเรียกว่า ยุคกรรมาธิการสื่อ ชุด สปท.นั้น คือสถานการณ์ที่ย่ำแย่ในการปฏิรูปสื่อ เพราะการปฏิรูปไม่ได้มาจากพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจเรื่องของสื่อมวลชน แต่มาจากความต้องการที่จะสนองผู้มีอำนาจ และใช้หลักคิด แบบอำนาจนิยม มาปฏิรูปสื่อ จนกระทั่งถึงจุดตกต่ำที่สุดในยุคนายจิรชัย มูลทองโร่ย

แต่ไม่ว่าอย่างไร ความพยายามที่จะศึกษา ค้นคว้า หาเหตุผล ในการแก้ปัญหาสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบนั้น ต่างมองข้ามตัวปัญหา ต้นตอของปัญหาความไร้จิตสำนึกไร้ประสิทธิภาพ ไปเสียสิ้น

นั่นคือปัญหานายทุนสื่อ ทั้งนายทุนที่เข้ามายึดสื่อโดยผ่านการถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งนายทุนสื่อ ที่เติบโตมาจากสื่อ และใช้ความเป็นสื่อไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน อย่างน่ารังเกียจ

ด้วยเหตุนี้ ปัญหาของสื่อมวลชน จึงไม่ใช่ไม่มีกฎหมายบังคับสื่อมวลชน แต่ปัญหาคือการบังคับใช้กฎหมาย
ปัญหาของสื่อมวลชน ไม่ใช่เพราะนักข่าวไม่มีความรับผิดชอบ แต่เกิดจากนายทุนสื่อที่มุ่งแต่จะแสวงหากำไร ภายใต้หน้ากากผู้ยึดมั่นในหลักการ

ปัญหาของสื่อมวลชน ไม่ใช่เพราะคุณภาพนักข่าว แต่อยู่ที่ผู้บริหารสื่อที่พยายามแสดงราคา ความเก่งกาจสามารถ อวดอ้างตัวเองเป็นต้นแบบของความดีงาม ประกาศตัวเองว่าเป็นเบอร์หนึ่ง เป็นตัวจริง ตำหนิติเตียนไปทั่วถึงความล้มเหลว ผิดพลาดของคนอื่น แต่เมื่อตัวเองบริหารผิดพลาด สร้างความเสียหายยับเยินไปทั้งองค์กร จนภาวะดับสูญจะมาถึงอีกไม่นานวัน ก็ผลักภาระไปยังคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ในยามที่พวกเขาเสวยสุขกันด้วยเงินเดือน และค่าตอบแทนสูงลิ่ว คนเหล่านี้ก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแลเลย

โชคดีที่การปฏิรูปสื่อที่ไม่ใช่การปฏิรูปสื่อล้มเหลว แต่โชคร้ายที่เรายังมองไม่เห็นภาพความเลวร้ายของนายทุนสื่อที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการปฏิรูปสื่อ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1211 วันที่ 28 ธันวาคม 2561 - 10 มกราคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์