วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เป็นนายกฯต้องสง่างาม เป็นนักการเมืองต้องชัดเจน

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

วามแปลกประการหนึ่งของสังคมไทย คือ ความรังเกียจนักการเมืองประเภท “อีแอบ” โดยเฉพาะนักการเมืองที่ต้องการมีอำนาจ ต้องการเป็นใหญ่ แต่ไม่ยอมเปลืองตัวมาเป็นนักการเมืองในระบบ โดยผ่านการเลือกตั้ง จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ต้องกำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ทว่า เมื่อถึง พ.ศ.นี้สังคมดูเหมือนจะไม่ค่อยเห็นความสำคัญในที่มาของนายกรัฐมนตรีมากนัก

ความแปลกอีกประการหนึ่ง ก็คือสังคมไทยรังเกียจนักการเมือง มีทัศนคติเป็นลบสำหรับนักการเมือง ไม่เชื่อว่าการเมืองไทยจะมีนักการเมืองที่ดี มีคุณภาพ ขณะที่ผู้ที่เข้ามาในการเมืองด้วยวิธีการยึดอำนาจ ก็จะปฏิเสธความเป็นนักการเมือง และไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นนักการเมือง

คำว่านักการเมือง หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ทางการเมือง หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าจะได้สถานะนั้นมาโดยวิธีใดก็ตาม ผู้ที่กำลังจะเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ก็ปฏิเสธมาครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เขาไม่ใช่นักการเมือง

สื่อมวลชนกับนักการเมืองเป็นศัตรูกัน แต่ผมไม่ใช่นักการเมือง เป็นนักการทหารถึงเป็นนายกฯ ก็เข้ามาทำเพื่อคนไทย

มีคนบอกว่าผมเป็นนักการเมืองแล้ว ยืนยันว่าไม่ใช่ ผมยังเป็นนักการทหาร เพียงแต่เข้ามาทำหน้าที่นักการเมืองบริหารงานของภาครัฐเท่านั้น

ต่างกรรม ต่างวาระ ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิเสธความเป็นนักการเมือง โดยยืนยันว่า เขาเป็นเพียงนักการทหารที่เข้ามาทำหน้าที่เพื่อคนไทย เพื่อการบริหารงานภาครัฐ ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบกับผู้นำการปฏิวัติยุคหลังๆ เช่น พลร.อ.สงัด ชลออยู่  พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ และพล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ท่านเหล่านั้นอาจพูดถ้อยคำนี้ได้มากกว่า เพราะเมื่อพวกเขาปฎิวัติสำเร็จ   ก็ถอยออกมา ไม่รวบรัดเอาอำนาจมาเป็นของตัวเอง แต่วันนี้เมื่อใกล้จะถูกเทียบเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ เปลี่ยนไป

ผมมาวันนี้ ถ้าเป็นนักการเมืองเต็มตัว ตอนนี้ผมจะบอกว่าไม่ใช่ก็ไม่ได้ เพราะผมบริหารประเทศ ถ้าเป็นนักการเมืองจะดีใจ เพราะมีคนมารับเยอะ เรียกลุงตู่ ลุงตู่ รู้ไหมว่าผมเป็นทุกข์ แต่ผมยอมเป็นทุกข์ ยอมตายจากตรงนี้ ถ้าผมกลับไป ผมก็นอนคิดว่าทำไมเขาต้องมาหวังที่เรา ทำไมเขาต้องให้เราทำงาน เพราะเขามีความหวังไง เราต้องทำความหวังให้เป็นความจริง แต่เราจะมาหลอกลวง ล่อลวง ไม่ได้ โดยเฉพาะที่บอกว่าเดี๋ยวจะดีขึ้น จะทำไอ้นั่นไอ้นี่ เราต้องทำทีละขั้นทีละตอน ประชาชนต้องศึกษาสิ่งที่รัฐบาลทำมา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ระหว่างพบปะประชาชนที่จังหวัดบึงกาฬ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

กว่าที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยอมรับความเป็นนักการเมืองได้ก็ล่วงเลยเวลามาถึง 4 ปี และเมื่อประกาศตัวเป็นนักการเมืองในวันนี้ นี่ก็ไม่แตกต่างไปจากนักการเมืองประเภท “อีแอบ” ที่ไม่ยอมลงทุน ไม่กล้าที่จะลงสู่สนามการเมืองอย่างเปิดเผย จริงใจ และต่อสู้กับนักการเมืองคนอื่นๆอย่างยุติธรรม

เมื่อเป็นนักการเมือง การเดินสายพบปะประชาชนในห้วงระยะเวลาก่อนการเลือกตั้งไม่นาน ก็คือการหาเสียง การใช้นโยบายสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณของรัฐ ก็คือการเอารัดเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ซึ่งก็คือพฤติกรรมของพรรคพลังประชารัฐขณะนี้

อย่าได้แปลกใจไปเลย ที่คนลำปางแสดงประชามติท่วมท้น ที่จะไม่เลือกพรรคพลังประชารัฐ แม้ตัวแทนของพรรคที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้เลวร้าย และมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นนักการเมืองที่ดี มีคุณภาพได้ ก็เพราะพวกเขามีใจเป็นธรรม รังเกียจพรรคการเมืองที่เอาเปรียบ และไร้สปีริตทางการเมือง นับจากหัวขบวน ระดับบริหารพรรคที่กอดเก้าอี้รัฐมนตรี แอบอิงอำนาจรัฐหาเสียงอย่างไม่ละอายใจ

จะเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้นำสูงสุดของประเทศได้ ก็ต้องมีความสง่างาม มีความเชื่อมั่นในวิถีทางประชาธิปไตย หมายมั่นปั้นมือจะเป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือก ด้วยความเชื่อถือ ศรัทธา ก็ต้องไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีผู้นำพรรคที่มีปัญหาความรับผิดชอบ นี่เองจึงเป็นเหตุที่มาที่บอกได้ชัดๆว่า พลังประชารัฐจะไม่มีที่ยืนในลำปางแน่นอน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1210 วันที่ 21 - 27 ธันวาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์