การเคลื่อนย้ายทุนขนาดใหญ่
เข้าไปถือครองหุ้นสื่อ ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะกิจการสื่อที่ต้องสายป่านยาว
ทุนหนา รับสภาพขาดทุนได้ในระยะยาว หวังผลเป็นช่องทางโฆษณาธุรกิจในเครือ
รวมทั้งอาจใช้เป็นเกราะป้องกันเมื่อยามมีภัย
ธุรกิจสื่อทีวีดิจิตอล
ไม่เพียงต้องพึ่งพาทุนเท่านั้น
ยังพึ่งพาความสามารถในการสร้างกำไรของเจ้าของทุนเพื่อเป็นหลักประกันความอยู่รอดด้วย
และความสามารถเช่นว่านั้น คือการสร้างราคาหุ้น หรือการปั่นหุ้น
ที่มีนายทุนที่มีชนักติดหลังเรื่องการปั่นหุ้น
อยู่ในตำแหน่งและบทบาทสูงยิ่งในองค์กรสื่อไม่น้อยกว่า2แห่งขณะนี้
แม้จะเป็นความจริงที่ทุกคนรับรู้
แต่เพื่อความอยู่รอด คนในองค์กรเหล่านั้นก็ยังต้องทำหน้าที่คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมข่าว
อย่างซื่อสัตย์ เมื่อมีข่าวลบในองค์กร พวกเขาก็พร้อมจะมองข้าม
หรือทำให้น้ำหนักข่าวนั้นเป็นเรื่องเล็กๆเรื่องหนึ่ง
ปรากฎการณ์เช่นนี้
เคยเกิดมาแล้วในกรณีไร่ส้ม
ก่อนหน้านี้
น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ 1 ใน
50 เศรษฐีไทย จากการจัดอันดับ ของ Forbe Thailand หุ้นใหญ่ PPTV ช่อง 36
โดยผ่านการถือครองหุ้นบริษัทบางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด
ได้รุกคืบเข้าไปถือหุ้นใหญ่ของสถานีโทรทัศน์ช่อง ONE 31 ของแกรมมี่
ไม่นานนักที่กลุ่มช้าง เข้าไปยึดครอง Amarin TV ช่อง 34
การมีทีวีในครอบครองถึง 2 ช่องสถานี ท้าทายความเชื่อว่า
คนในกองบรรณาธิการยังจะรักษาหลักการในการเสนอข่าวบนพื้นฐานข้อเท็จจริง อย่างชัดเจน
และรอบด้านหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวกล่าวหาว่า เจ้าของทุนทั้ง PPTV และ 0NE 31 มีพฤติกรรมสร้างราคาหุ้น
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) ได้ดำเนินคดีด้วยการลงโทษทางแพ่งกับน.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ และ
พ.ญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ลูกคนที่สามของ น.พ.ปราเสริฐ และนางนฤมล ใจหนักแน่น กรณีสร้างราคาหลักทรัพย์
บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA โดยเรียกให้ชำระค่าปรับ 499.45 ล้านบาท
ก.ล.ต. ยังมีคำสั่งห้ามทั้งสามคน
เป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ และบริษัทจดทะเบียนอีกด้วย
การดำเนินคดีครั้งนี้ มีขึ้นหลังจาก ก.ล.ต.ตรวจสอบข้อมูลแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของผู้บริหาร
จนกระทั่งพบเบาะแสที่นำมาสู่การดำเนินคดีกับผู้บริหารบางกอกแอร์เวย์
แม้ไม่มีคำสั่ง
ไม่มีคำร้องขอ แต่ก็ไม่แตกต่างไปจากองค์กรสื่อองค์กรหนึ่ง
ที่มีผู้บริหารมีพฤติกรรมสร้างราคาหุ้นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าอย่างไรทีวีช่องนั้น
ก็ไม่เคยวิพากษ์คนในองค์กรตัวเองเลยว่า เป็นผู้ที่ขาดความเชื่อถือ
ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ ทั้งที่ความเชื่อถือนั้น เป็นคุณสมบัติสำคัญของความเป็นสื่อ
นี่มิใช่ปัญหาสื่อไร้จริยธรรม
หรือไม่ยึดมั่นในหลักการ แต่ภายใต้โครงสร้างทุน ความอยู่รอดย่อมสำคัญกว่าสิ่งอื่น
ระหว่างการรักษาหลักการและรักษาปากท้อง ปากท้องสำคัญกว่า
สำคัญแต่ว่าไม่จำเป็นต้องแสดงราคาความเป็นสื่อน้ำดีให้อับอายกันไปเปล่าๆ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1214 วันที่ 25 - 31 มกราคม 2562)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น