วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2562

ช้างพังป่วย อ้าปากไม่ได้ หมอเร่งรักษา

จำนวนผู้เข้าชม blog counter

สัตว์แพทย์เร่งช่วยชีวิตช้างป่วย ไม่สามารถอ้าปากและเคี้ยวอาหารได้ สาเหตุยังไม่ระบุชัดเจน เผยพบไม่บ่อยต้องรักษาไปตามอาการ และจะประสานภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาตรวจและวินิจฉัยให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะให้ช้างเชือกนี้มีชีวิตอยู่รอดต่อไป

น.สพ.ศรัณย์ จันทร์สิทธิเวช ผู้จัดการส่วนอนุรักษ์ช้างลำปาง-กระบี่ สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ อ.อ.ป. เปิดเผยว่า โรงพยาบาลช้าง ได้รับตัวช้างพังรุ่งนภา อายุ 56 ปี ซึ่งเป็นช้างมาจาก จ.ราชบุรี เข้ามารักษาอาการป่วยเนื่องจากไม่สามารถอ้าปาก เคี้ยวอาหาร ดื่มน้ำ และทานอาหารเองได้  ในเบื้องต้นได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์กำแพงแสนฯ แต่เนื่องจากอาการหนักมากขึ้นจึงถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ จ.ลำปาง 

โดยในเบื้องต้นได้มีการระดมทีมสัตว์แพทย์จากหลากหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ สัตวแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สัตวแพทย์มหาลัยเกษตรศาสตร์ สัตวแพทย์มหาวิทยาลัยมหิดล และอีกหลายแห่งที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบวินิจฉัยอาการ และเริ่มให้การรักษาที่โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา  พบว่าช้างไม่สามารถอ้าปากได้เคี้ยวอาหารได้ จากการตรวจพบฟันของช้างไม่สบกัน แต่เมื่อรักษาไปแล้วพบว่าอาการยังไม่ดีขึ้น  และทางสัตวแพทย์ก็วินิจฉัยพบกรามของช้างผิดปกติ  จึงได้รักษาโดยการฉีดยาปฏิชีวนะ ให้สารน้ำทางเส้นเลือด วันละไม่ต่ำกว่า 40-50 ลิตร ให้สารอาหาร รวมทั้งปั่นอาการเช่นกล้วย สับปะรด หญ้า เสริมวิตามิน ให้ละเอียดแล้วผสมน้ำ สอดผ่านทางสายยางเข้าไปยังกระเพาะอาหาร ครั้งละ 30-40 กิโลกรัม วันละ 3 ครั้ง รวมทั้งให้สารอาหารทางทวารหนัก เพื่อให้ร่างกายช้างได้รับสารอาหารที่เพียงพอ และให้พลาสม่าหรือน้ำเลือดช้าง ที่ได้รับบริจาคจากพังประจวบ ช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย  เพื่อให้โปรตีนทดแทนในส่วนที่ขาด โดยจากการรักษาผ่านมาแล้ว 1 เดือน พบว่าช้างมีอาการที่ทรงตัว แต่ยังถือว่าอาการน่าเป็นห่วง ยังคงต้องตรวจสอบและวินิจฉัยกันต่อไปว่าสาเหตุมาจากอะไร  ซึ่งการป่วยลักษณะนี้ เกิดขึ้นไม่บ่อยมากนัก หรือว่าแทบจะไม่เคยเกิดขึ้น แต่เมื่อช้างป่วยแล้วก็จะเร่งตรวจหาสาเหตุเพื่อที่จะรักษาช้างให้มีชีวิตยืนยาวต่อไป

น.สพ.ศรัณย์ ได้ฝากย้ำเตือนไปยังแหล่งเลี้ยงช้าง ปางช้าง ควาญช้าง ทุกแห่งให้สังเกตพฤติกรรมช้างของตนเอง หากพบว่าช้างมีอาการผิดปกติรีบแจ้งสัตว์แพทย์ในพื้นที่ เพื่อที่จะได้เข้าไปตรวจรักษาอาการได้อย่างทันท่วงที เพราะโรคที่ช้างเจ็บป่วยหากรักษาไม่ทันจะทำให้ช้างล้มได้ทันที

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1214 วันที่ 25- 31 มกราคม 2562)


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์