
โครงการและงบประมาณส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน
มากมายมาตั้งแต่ปี 60
ต่อเนื่องถึง 61 และ กำลังสานต่อ ปีนี้ยิงยาวเชื่อมกับร่างงบประมาณ
63 โครงการที่เกิดขึ้นในระดับชุมชนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
จึงไม่ต้องแปลกใจที่โครงการชื่อใหม่ๆ แต่รูปร่างแผนดำเนินงานคล้ายกับโครงการเก่าๆ
ดูเหมือนเอางานเก่ามา สวมรอยใส่ชุด ใส่เสื้อผ้า แต่งหน้าแต่งตาใหม่ให้ดูดี
กาดต้องชม ตลาดต้องชม
ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างให้เห็น ที่ลำปางก็มีเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นทั่วประเทศ
ตลาดต้องชมที่ว่านี้ก็ดันเอาตลาดนัด ‘ถนนวัฒนธรรม’ วันศุกร์ขึ้นมาปรับลุคติดป้ายเรียกเป็นตลาดต้องชม
ง่ายๆ คือการเอาป้ายตลาดต้องชม มาใส่ให้กับทุกร้านค้า มีจุดถ่ายรูปให้เช็คอิน
ส่วนรูปแบบก็เดิมๆ ไม่มีเพิ่มเติมโซนพิเศษอะไร แม้แต่คนเดินเที่ยวจะหาจุดนั่งทานอาหารพื้นบ้านที่ซื้อมาจากซุ้มต่างๆก็ดูเหมือนจะหายากเต็มทน
เอกลักษณ์อะไรที่มีของตลาดแห่งนี้ก็ยังค้นหาไม่เจอจริงจัง
อีกตลาดที่กำลังเป็นเรื่องที่น่าสนใจของคนท้องถิ่นคือ
กาดย้อนยุคเกาะคา ที่ดูเหมือนจะตั้งท่าตอนเริ่มต้นดี๊ดี แต่ไม่นานทีก็ล่มไม่เป็นท่า
เพราะตลาดแห่งนี้ปิดตัวอย่างถาวร สาเหตุมีคนขายแต่ไม่มีคนซื้อ
เรื่องตลาดไม่ใช่ง่านเล่นๆที่จะจัดตั้งขึ้นมาเป็นโครงการผักชีโรยหน้าให้สวยๆไปวันๆ งามเพียงแค่วันเปิดโครงการจากนั้นไม่ต่อไม่ไหว
ละลายงบกันไปจ้า เพราะนั่นไม่ใช่ตลาดที่เกิดจาการซื้อขาย
ไม่ได้เกิดจากความต้องการของพ่อค้าแม่ค้าและความต้องการจากผู้ซื้อ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของการจัดตั้งตลอด
เมื่อการประชุม ครม.สัญจรที่ลำปาง
ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเยือนลำปาง
ก็ยังมีหัวข้อนำเสนอ ครม.ในเรื่องตลาดในวัด ให้เป็นจุดไฮไลท์การท่องเที่ยว
ตามแนวทางการผลักดัน การท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา
ตลาดในวัดที่ว่านี้ก็กลัวเกรงจะกลายเป็นตลาดละลายงบ
แต่จบที่ไม่มีอยู่จริง อย่างน่ากังวล
ทำตลาด
มันต้องศึกษาถึงรากของความต้องการจะขาย วิเคราะห์ดีมานและซัพพลายให้เป็นของจริง
ไม่ใช่แค่นั่งมโนในห้องแอร์ มองให้เห็นว่าอะไรคือจุดเด่นของตลาดนั้น และที่สำคัญการจัดการตลาดต้องเป็นแบบสีสันและมีความดึงดูดให้คนมา
แต่หากสินค้าเป็นแบบธรรมดาทั่วไปหาซื้อที่ไหนก็ได้
ตลาดนั้นก็พร้อมจะเจ๊ง เช่นเดียวกับตัวอย่างของตลาดดังกลางเมืองลำปาง
ที่เปิดตัวอย่างดีมาในแนวตลาดชิลๆเหมือน ชิเคด้า
ที่หัวหิน แต่ด้วยวิธีบริหารจัดการและรูปแบบที่ไม่มีอะไรพิเศษตามราคาคุย
ก็จบไปในไม่นาน
ไม่ว่ารัฐบาล
หรือเอกชน ที่จะรวมพลคนมาทำตลาด ต้องมีพลังดึงดูดน่าสนใจเป็นหลัก
การจัดตั้งที่ดีต้องมีลูกค้าตัวจริงที่อยากไปเดินตลาดนั้น
ซึ่งต่างจากตลาดที่มีอยู่ให้มากพอ
ทำตลาดไม่ใช่เรื่องเล็ก
จะมาทำเหมือนเด็กเล่นขายของไม่ได้ รูปแบบและแนวทางต้องถูกวางร่วมกันจากคนจัดตลาดไปจนถึงคนขาย
สุดท้ายคนซื้อจะเป็นผู้ตัดสินให้อยู่ได้ระยะยาว
อยากเห็นตลาด
ที่เป็นจุดแวะของนักท่องเที่ยวในเมืองปั้นใหม่ เจ๋งๆ อีกสักแห่ง เป็นตลาดลำปางปลายทางฝัน
สักวันจะมี (ไหม??)
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1213 วันที่ 18 - 24 มกราคม 2562)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น