วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2562

ประชุมเพลิง พระธัมมานันทะ ไทย - เมียนมาร์ ครึ่งหมื่นร่วม

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ศรัทธาสาธุชน ทั้งไทย-เมียนมาร์  กว่าครึ่งหมื่น ร่วมสักการะสรีระสังขาร อดีตเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ   รองสังฆราชาเมียนมาร์ เป็นประธานประชุมเพลิง แม้จัดเรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่ มหรสพและโรงทานจัดเต็มตลอดงาน  

เมื่อวันที่ 11 ม.ค.61 ที่วัดท่ามะโอ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง พระอนุศาสตร์วรธรรม เจ้าคณะอำเภอเมืองลำปาง นาย Then Tin กงสุลใหญ่ ประจำ จ.เชียงใหม่ นางจุรีย์รัตน์ ใจแข็ง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา พร้อมคณะสงฆ์กว่าจากวัดต่างๆ ใน จ.ลำปาง พร้อมคณะสงฆ์จากประเทศเมียนมาร์ และคณะศรัทราสาธุชนทั้งสองประเทศประมาณ 700 คน   ร่วมพิธีแห่สรีระสังขาร พระภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ สานธชสิริปวระ ธัมมาจริยะ อัครมหาบัณฑิต (ดร.) อดีตเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ ออกจากวัดท่ามะโอไปตามถนนท่ามะโอ เพื่อไปตั้งริ้วขบวนแห่ที่บริเวณหน้าค่ายสุรศักดิ์มนตรี ก่อนจะแห่ไปตามถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าไปยังวัดไชยมงคล (วัดจองคา) ถนนสนามบิน อ.เมืองลำปาง ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมเพลิงสรีระสังขารของพลวงพ่อ

โดยรูปขบวนถูกจัดให้เป็นรูปแบบขบวนแห่สรีระสังขารของพระมหาเถระของชาวพม่า เริ่มตั้งแต่ผู้ถือตุง ขบวนตีฆ้องเมง ขบวนชักลากรถบรรจุหีบศพแบบพม่าสีทองเหลืองอร่าม ซึ่งมีเทวดายืนประจำสี่ทิศประคองสัปทน ตามด้วยขบวนพระสงฆ์และปิดท้ายด้วยขบวนสาธุชน ริ้วขบวนทั้งหมดมีความยาวประมาณ 50 เมตร และตลอดทั้งสองฝั่งถนนที่ขบวนจะผ่านไปได้มีสาธุชนที่เลื่อมใสศรัทราในตัวอดีตเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระเกจิชื่อดังชาวพม่าต่างก็พากันมายืนรอชมขบวนแห่งกันอย่างล้นหลาม และยังมีศรัทราสาธุชนอีกเป็นจำนวนมากที่นำน้ำดื่มและอาหารหลายชนิดมายืนรอแจกให้ผู้ที่อยู่ในขบวนเพื่อให้คลายความร้อน โดยขบวนแห่สรีระสังขารของพระพระภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระฯ ใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง จึงไปถึงยังสถานที่ประชุมเพลิง ก่อนจะทำพิธีเชิญหีบศพขึ้นสู่ปราสาทนกการะเวกสีเหลืองทองสูง 5 เมตร  เพื่อให้สาธุชนทั้งชาวไทยและชาวพม่าได้กราบไหว้สักการะเป็นครั้งสุดท้าย

จากนั้นวันที่ 13 ม.ค.62 ที่บริเวรวัดไชยมงคล (วัดจองคา) ถ.สนามบิน อ.เมือง จ.ลำปาง หลวงพ่อพระภัททันตะ อัคคญาณาภิวังสะ อัครมหาบัณฑิต รองสังฆราชา ชเวจินนิกาย(ธรรมยุต)ประเทศเมียรมาร์ เดินทางมาเป็นประธานประชุมเพลิงสรีระสังขาร พระภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ สานธชสิริปวระ ธัมมาจริยะ อัครมหาบัณฑิต (ดร.) อดีตเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ ที่ละสังขารด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2555  ร่วมสิริอายุ 92 ปี 72 พรรษา โดยมีประชาชนชาวไทยจากทั่วสารทิศที่เลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงพ่อ ต่างก็พากันเดินทางกราบไหว้สรีระสังขารที่ตั้งอยู่บนปราสาทนกการะเวก กันอย่างไม่ขาดสาย โดนประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกันมาเป็นหมู่คณะ โดยใช้รถบัส และรถยนต์ส่วนตัว รวมทั้งคณะสงฆ์และประชาชนชาวเมียนมาร์อีกนับพันคน จนบริเวณงานที่กว้างใหญ่อัดแน่นไปด้วยผู้คนจากทั้งสองประเทศกว่า 6,000 คน

นอกจากนี้ยังมีประชาชนบางส่วนที่ไม่สามารถเข้ามากราบไหว้สรีระสังขารของหลวงพ่ออย่างใกล้ชิดถึงหน้าปราสาทได้ จึงล้นออกไปจนถึงด้านหน้าวัด ทำให้การจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก ซึ่งตลอดทั้ง 2 วันของการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้กราบไหว้สรีระสังขารของหลวงพ่อฯเป็นครั้งสุดท้าย มีประชาชนทยอยกันมาร่วมงานนับหมื่นๆคน นอกจากนี้นยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่นำอาหารคาวหวานมาร่วมแจกทานให้ประชาชนได้รับประทานกันอย่างไม่อั้นตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ

ก่อนจะถึงเวลาพิธีประชุมเพลิงสรีระสังขารของอดีตเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ คณะสงฆ์จากประเทศเมียรมาร์กว่า 200 รูปได้เริ่มพิธีสวดอารธนาศลี 8 และเรียนเชิญญาติธรรมฝั่งเป็นเทศเมียรมาร์จำนวน 10 คน ขึ้นทอดถวายผ้าไตรบังสุกุลหน้าปราสาทนกการะเวก จากนั้นเป็นการสวดมาติกาบังสุกุลและพิธีขอขมาสรีระสังขาร โดยรูปแบบพิธีการทั้งหมดเป็นพิธีการในรูปแบบ การประชุมเพลิงพระอริยะสงฆ์เจ้าของชาวเมียรมาร์ทุกขั้นตอน

จากนั้นเวลา 21.30น. หลวงพ่อพระภัททันตะ อัคคญาณาภิวังสะอัครมหาบัณฑิตรองสังฆราชา ชเวจินนิกาย(ธรรมยุต) จึงเป็นประธานจุดไฟประชุมเพลิง ท่ามกลางประชาชนกว่า 6,000 คนที่มารอส่งสรีระสังขารของหลวงพ่อขึ้นสู่สรวงสรรค์ ต่างส่งเสียงสาธุดังพร้อมเพรียงกัน และพากันตื่นตา ตื่นใจกับพลุหลากสีสรรค์นับพันที่ติดตั้งไว้รอบปราสาทนกการะเวกอย่างสุดอลังการ โดยในวันที่ 14 ม.ค.ได้มีพิธีเก็บเถ้ากระดูกและนำไปลอยอังคารบริเวณแม่น้ำวังด้านหลังวัดท่ามะโอต่อไป  

ประวัติ พระธัมมานันทมหาเถระ ธัมมาจริยะ อัครมหาบัณฑิต (ตันหม่อง) เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2463 เป็นบุตรคนที่ 3 ของแม่หง่วยหยี่ ในหมู่บ้านต่าสี่ อำเภอเหย่สะโจ่ จังหวัดปขุกกู่ ประเทศเมียนมาร์ จนอายุ 7 ขวบ พ่อแม่นำไปฝากให้เป็นลูกศิษย์ วัดในหมู่บ้านเพื่อเรียนหนังสือและสามารถท่องบทพระคัมภีร์ได้จนแตกฉาน จนอายุได้ 14 ปีจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร มีฉายาว่า สามเณรธัมมานันทะ และย้ายไปอยู่ที่วัดในตัวอำเภอเหย่สะโจ่  เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุมีฉายาว่า อูธัมมานันทะ โดยมีท่านอาจารย์อูสุชาตะ ผู้เป็นศิษย์ท่านอาจารย์อูอุตตระ เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ พัทธสีมาวัดหญ่องเป่งต่า จังหวัดมอละไมฺยจุน

จนอายุ 37 ปี กรมการศาสนาของประเทศสหภาพพม่าได้นิมนต์ให้ไปเป็นพระธรรมฑูต เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในต่างประเทศ ท่านจึงย้ายไปอยู่ในสังฆมณฑลกะบ่าเอ กรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นทั้งกรมการศาสนา และมหาวิทยาลัยสงฆ์เพื่อการเผยแผ่ (ธัมมฑูตวิชชาลยะ) และศึกษาภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ประเทศญี่ปุ่นในปีเดียวกัน แต่ท่านเจ้าคุณพระธรรมคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดโพธาราม จ.นครสวรรค์ ได้ส่งหนังสือไปถึงกรมการศาสนาแห่งประเทศสหภาพพม่า ขอพระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในพระปริยัตติธรรม มาเป็นอาจารย์สอนที่วัดโพธาราม พระอูธัมมานันทะมาจึงถูกส่งมาเป็นอาจารย์สอนพระปริยัติที่ประเทศไทย นานถึง 6 ปี โดยไม่ได้เดินทางประเทศญี่ปุ่นตามความประสงค์เดิม

กระทั่งอาจารย์อูเนมินทะ (อัครมหาบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ จ.ลำปาง รูปที่ 3 ได้ทำหนังสือไปถึงกรมการศาสนาประเทศสหภาพพม่า มีความประสงค์ว่า จะนิมนต์พระอูธัมมานันทะให้มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำอยู่ที่วัดท่ามะโอ จ.ลำปาง  ท่านจึงได้ย้ายจากวัดโพธาราม จ.นครสวรรค์ มาอยู่ที่วัดท่ามะโอ เมื่อวัน 6 มกราคม 2508 ก่อนที่ท่านอาจารย์อูเนมินทะ เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอองค์ที่ 3  จะมรณภาพลงด้วยโรคชรา  

พระอูธัมมานันทะ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอสืบมาจนถึงปัจจุบัน และมีนามเต็มว่า พระภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ สานธชสิริปวระ ธัมมาจริยะ   และเริ่มจัดการเรียนการสอนด้านพระปริยัติธรรม อันเป็นหลักสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยการตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น จนเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาตามลำดับ จนกิตติศัพท์ของท่านและสำนักเรียนดังกระฉ่อนไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย สามารถผลิตนักศึกษาให้สอบไล่ได้ทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลีเป็นจำนวนมากในทุกๆปีเสมอมา ทั้งมีความสามารถในการสอนและความจำคัมภีร์ต่างๆ ในระดับชั้นพระไตรปิฎกอันเป็นชั้นเรียนสูงสุดอีกด้วย

กระทั่งพระภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ สานธชสิริปวระ ธัมมาจริยะ อัครมหาบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ ที่มีอายุ 92 ปี 73 พรรษา ได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2555   จึงได้มีพิธีอุทิศส่วนกุศลและเก็บสรีระสังขารไว้นานถึง 7 ปี และได้มีพิธีประชุมเพลิงในวันที่ 13 มกราคม 62 ที่ผ่านมา


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1213 วันที่ 18 - 24 มกราคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์