วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

น้ำำระทัยไหลสู่วังเหนือ 7วันดินไหว 53 ครั้ง

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ครบ 7 วัน กับการเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุด อ.วังเหนือ สถิติรวม 53 ครั้ง   ร.10 พระราชทานโรงครัวเคลื่อนที่ และสิ่งของช่วยเหลือ  ทุกภาคส่วนยังระดมให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง  ปภ.จังหวัดสรุปความเสียหาย 185 หลัง  เดือนร้อน 500 กว่าราย  ด้าน ผอ.ทรัพยากรธรณี เผยยังจะเกิดอาฟเตอร์ช็อคในพื้นที่อีกสักระยะ  จังหวัดลำปางประกาศพื้นที่ อ.วังเหนือให้เป็นเขตประสบสาธารณภัย

-7วัน 53 ครั้ง
สถานการณ์แผ่นดินไหวในเขตท้องที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ยังคงมีการเคลื่อนไหวเกิดอาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่องเป็นระยะๆ  โดยตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ก.พ.62 จนถึงวันที่ 27 ก.พ.62  ได้เกิดขึ้นแล้วรวม 53 ครั้ง ขนาดความรุนแรงสูงสุด 4.9 แมคนิจูด  โดยหลังเกิดเหตุได้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า(แผ่นดินไหว) ตั้งอยู่ที่บริเวณที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง  ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ก็ยังมีกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจตรวจสอบผู้ได้รับผลกระทบประจำการณ์อยู่  จากนั้นได้เปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์(แผ่นดินไหว) ที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดลำปาง ศูนย์ราชการจังหวัดลำปาง เพื่อเป็นการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ และส่วนต่างๆที่เกี่ยวลงพื้นที่ตรวจสอบสำรวจความเสียหายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในจังหวัดลำปาง เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างเร่งด่วน 

-ผู้ว่าฯสั่งเร่งสำรวจ
หลังเกิดเหตุ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เรียกประชุมทีมผู้บริหารเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมสั่งการให้เร่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากทุกหน่วย ทั้งที่ว่าการอำเภอวังเหนือ สำนักงานโยธาธิการฯ จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต10 และองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตพื้นที่ใกล้เคียงทุกแห่ง ร่วมกันลงพื้นที่เร่งทำการตรวจสอบโครงสร้างอาคารต่างๆ รวมถึงบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหาย เพื่อจะได้เร่งสรุปวิธีการช่วยเหลือ ประเมินความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่จะต้องให้การเยียวยาแก่ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบ

-ปภ.รายงานเสียหาย 185 หลัง
นายชัยธวัช ศิวบวร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง กล่าวถึงสถานการณ์ความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่อำเภอวังเหนือ ผลการสำรวจจนถึงวันที่ 26 ก.พ. 62 พบว่ามีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 185 หลัง รวมผู้ได้รับผลกระทบ 548 คน  ศาสนสถานเสียหาย 7 แห่ง สถานที่ราชการ 12 แห่ง  จากการตรวจสอบเบื้องต้นของผู้เชี่ยวชาญ พบว่าบ้านที่เสียหายเล็กน้อยไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างหลัก (ระดับสีเขียว) 129 หลัง ศาสนสถาน 7 แห่ง สถานที่ราชการ 12 แห่ง บ้านที่เสียหายถึงโครงสร้างหลัก แตกร้าว (ระดับสีเหลือง) 2 หลัง  บ้านที่เสียหายถึงโครงสร้างหลัก ต้องซ่อมแซมก่อนเข้าอยู่อาศัย (ระดับสีแดง) 1 หลัง และอยู่ระหว่างตรวจสอบ 53 หลัง รวมทั้งสิ้น 185 หลัง

-ประกาศเขตประสบสาธารณภัย
ด้านนายพิเชษฐ์ เอกปาน หัวหน้าฝ่ายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้พื้นที่อำเภอวังเหนือได้ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัยแล้ว ซึ่งเบื้องต้นจะให้ทางหน่วยงานองค์กรท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายงบประมาณให้การช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ได้ หลังจากนี้หากการช่วยเหลือไม่เพียงพอ หรือเกินอำนาจหน้าที่ขององค์กรท้องถิ่น ก็จะได้มีการประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติต่อไป

-ท่อส่งน้ำชำรุด เร่งช่วยเกษตรกร
นอกจากนั้นยังมีกรณีท่อส่งน้ำเพื่อการเกษตรขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง 60 ซ.ม. ในพื้นที่ ต.ร่องเคาะ ที่แตกชำรุดซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราษฎร มากกว่า 400 ครัวเรือนนั้น ได้ประสานให้สำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 1 ลำปาง ตรวจสอบ และประมาณการค่าใช้จ่าย เพื่อจัดหางบประมาณในการซ่อมแซม  ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือร่วมแรงจากราษฎรในพื้นที่ ช่วยกันขุดตรวจสอบความเสียหายและใช้วัสดุในพื้นที่พันอุดรอยรั่วไว้ชั่วคราว  เพื่อให้สามารถส่งน้ำได้ตามปกติต่อไป จนกว่าหน่วยงานจะจัดหางบประมาณมาซ่อมแซมอย่างถาวรต่อไป

-เป็นแผ่นดินไหวเล็ก
นายนิวัติ บุญนพ ผอ.สำนักทรัพยากรธรณีเขต 1 ลำปาง กล่าวว่า สำหรับแผ่นดินไหวครั้งนี้ จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดค่อนข้างเล็ก สาเหตุเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนพะเยาส่วนใต้ ตามแนวระดับแบบเหลื่อมขวา ซึ่งรอยเลื่อนนี้มีทิศทางการวางตัวในแนวเหนือและใต้ โดยมีความยาว ประมาณ 90 กิโลเมตร ทั้งนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวเนื่องจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนพะเยา เมื่อวันที่ 11 ก.ย.37 แผ่นดินไหวขนาด 5.1 ศูนย์กลางบริเวณ อ.พาน  จ. เชียงราย

-อาฟเตอร์ช็อคเป็นเรื่องปกติ
ผอ.สำนักทรัพยากรธรณี เขต 1 กล่าวอีกว่า การเกิดแผ่นดินไหวติดต่อกันอีกหลายครั้ง หลังจากที่เกิด 4.9 แมกนิจูดแล้ว เป็นการเกิดอาฟเตอร์ช็อคตามปกติ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นตามมาได้อีก 1 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น  แผ่นดินไหวทุกครั้งก็จะเกิดในลักษณะเช่นนี้อยู่แล้ว  เช่นที่ จ.เชียงราย เคยเกิดแรง 6.3 ก็ยังมีอาฟเตอร์ช็อค ตามมาอีกเป็นเดือน ซึ่งจากการเข้าตรวจสอบในพื้นที่ร่วมกับนายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี  โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด  ปภ.จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินดูแล้วถือว่าไม่หนักมาก จะมีหนักอยู่ 1 หลัง คือ โครงสร้างหลักของบ้านที่เป็นเสาบ้าน ปูนแตกร้าวออกไปจนเห็นเนื้อเหล็กด้านในหลายต้น  จึงไม่ให้เจ้าของอยู่อาศัยในบ้านได้  ส่วนสำนักงาน อบต.ทุ่งฮั้ว ยังคงใช้งานได้ เพราะส่วนที่ร้าวเป็นปูนที่กะเทาะออกมาไม่ได้กระทบกับโครงสร้างหลักของอาคาร  และจะสังเกตได้ว่ายอดเจดีย์ที่เอียงนั้นจะเห็นได้ว่าชี้ไปทางทิศที่คลื่นของแผ่นดินไหววิ่งมา  ฝากถึงประชาชนในพื้นที่ขณะนี้อาจจะยังมีอาฟเตอร์ช็อคตามมาอย่างต่อเนื่อง อย่าตื่นตระหนก และขอให้เตรียมพร้อมรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวให้หลบอยู่ในที่ปลอดภัย

-ห่วงอาคารก่อนปี 45
ด้านนายเด่นโชค มั่นใจ ผอ.พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา จ.ลำปาง สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1  กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีแผ่นดินไหวขนาด 4.9 แมคนิจูดที่ อำเภอวังเหนือ ที่ผ่านมา  ถือว่าเป็นโชคดีที่เกิดในความลึกเกิน 10 กิโลเมตร แต่หากเกิดตื้นกว่านี้จะทำให้เกิดความเสียหายตามโครงสร้างอาคารบ้านเรือนมากขึ้น  สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มอาคารบ้านเรือน อาคารเรียน และตึกสูงต่างๆที่สร้างก่อนปี 2545 จะยังไม่ได้มีกฎหมายกำหนดว่าให้ก่อสร้างรองรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว อาจจะเกิดความเสียหายได้ถ้าเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรง  ส่วนตึกและอาคารสูงที่สร้างใหม่ ส่วนใหญ่จะมีกฎหมายกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องรองรับแรงของแผ่นดินไหวได้จะไม่ค่อยน่าเป็นห่วงมากนัก

-ควรมีเต็นท์ติดบ้าน
  นายเด่นโชค กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ อ.วังเหนือในครั้งนี้ ถือว่าไม่หนักมาก มีความเสียหายใหญ่เพียง 1 หลัง ส่วนที่เหลือได้รับความเสียหายเล็กน้อย และการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กก็จะยังเกิดในพื้นที่อีกสักระยะ ประมาณ 1-2 แมกนิจูด โดยเครื่องตรวจจับแผ่นดินไหวสามารถตรวจสอบได้ แต่คนไม่สามารถรับรู้การสั่นไหว  ข้อสังเกตเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขอให้ประชาชนดูตัวเลข 2 ตัว คือความรุนแรงกี่แมกนิจูด และระดับความลึกกี่กิโลเมตร  เช่น กรณีแผ่นดินไหวรุนแรง 5-6 แมกนิจูด แต่เกิดในระดับความลึก 100 กิโลเมตร ก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนได้  และสิ่งที่ควรมีติดบ้านไว้คือเต็นท์สนาม เพื่อเตรียมไว้สำหรับการนอน หากบ้านไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ต้องออกมานอนในที่โล่งแจ้งและปลอดภัยก่อน เต็นท์จึงมีความสำคัญที่บ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงการเกิดแผ่นดินไหว ควรเตรียมพร้อมไว้   และกรณีที่อยู่บนตึกสูงไม่สามารถวิ่งออกจากตึกได้ทัน  ขอให้สังเกตจุดที่เป็นเสาของตึก ให้ยืนชิดเสามากที่สุด เพราะเสาเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงที่สุดของตัวอาคาร และให้หาอะไรมาบังศีรษะไว้ จากสถิติพบว่าหากเกิดการถล่มผู้ที่มีโอกาสรอดชีวิตมากที่สุด คือผู้ที่ยืนอยู่ใกล้เสา 

-ร.10 พระราชทานโรงครัวเคลื่อนที่
เมื่อวันที่ 25 ก.พ.62 ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโรงครัวพระราชทานอาหารแก่ราษฎร ผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหว ในพื้นที่ อ.วังเหนือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ โดยมีนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นางศิรินุช สวาสดิ์ธรรม นายกเหล่ากาชาด นายพินิจ แก้วจิตคงทอง ปลัดจังหวัดลำปาง  พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารจาก มทบ.32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี นำรถประกอบอาหารเคลื่อนที่เข้ามาตั้งที่ศูนย์บัญชาการ  และยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงาน ปภ.ลำปาง และกลุ่มจิตอาสาทำดีด้วยหัวใจ นำอาหารและเครื่องดื่มมาแจกจ่ายให้กับประชาชน โดยมีประชาชนต่างทยอยเดินทางเข้ามารับอย่างไม่ขาดสาย

-องคมนตรี มอบสิ่งของพระราชทาน
ต่อมา วันที่ 28 ก.พ.62 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญสิ่งของพระราชทานมอบให้แก่ประชาชน ผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหว ในพื้นที่ อ.วังเหนือ จำนวน 200 ชุด พร้อมเยี่ยมบ้านเรือนราษฎรที่ได้รับผลกระทบหนักจำนวน 3 หลัง สร้างความปลาบปลื้มให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1219 วันที่ 1 - 7 มีนาคม 2562)


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์