วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

แอ่ว9จองพม่าที่เมืองลำปาง

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

งานสถาปัตยกรรมแบบพม่าในดินแดนล้านนาส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2400-2460 อันเป็นช่วงเวลาที่มีการเข้ามาทำสัมปทานไม้ในภาคเหนือของชาวอังกฤษและชาวพม่า ซึ่งเป็นคนในบังคับของอังกฤษ ด้วยความที่มีคติความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาอารักษ์ ชาวพม่าที่ค้าขายจนร่ำรวยกลายเป็นคหบดีจึงได้สร้างวัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้รุกขเทวดาในต้นไม้ที่ถูกตัดโค่น และยืนยันถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา

วัดที่ฉายชัดถึงสถาปัตยกรรมแบบพม่าในอำเภอเมืองลำปางมีหลายวัด ได้แก่ วัดศรีชุม วัดป่าฝาง วัดจองคา (วัดไชยมงคล) วัดม่อนปู่ยักษ์ วัดม่อนจำศีล วัดจองคำ วัดพระเจดีย์ซาวหลัง วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม วัดท่ามะโอ วัดป่ารวก วัดพระบาท วัดศรีรองเมือง วัดสิงห์ชัย วัดพระเจ้าทันใจ วัดเขาแก้ว วัดท่าคราวน้อย และวัดศรีบุญโยง

จุดเด่นที่บ่งบอกถึงความเป็นพม่า คือ วิหาร (จอง) ซึ่งมีหลังคาที่นิยมสร้างกัน 2 แบบ แบบแรก หลังคาทรงปราสาท และแบบที่สอง หลังคาจั่วซ้อนชั้น ในอำเภอเมืองลำปาง จองที่สวยโดดเด่นมี 9 หลัง ได้แก่ จองวัดศรีรองเมือง จองวัดป่าฝาง จองวัดจองคา วิหารวัดม่อนปู่ยักษ์ จองวัดม่อนจำศีล จองวัดศรีชุม วิหารวัดป่ารวก วิหารวัดท่ามะโอ และมณฑปปราสาทวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม
 
จองวัดศรีรองเมือง เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2446 ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบพม่าผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ เสาทั้งหมดประดับตกแต่งด้วยลายที่เกิดจากการปั้นรัก หรือเดินเส้นรักแล้วประดับกระจกสีจนเต็มพื้นที่ มีการสร้างห้องเจ้าอาวาสไว้ทางด้านขวาและด้านซ้ายของพระประธาน

จองวัดป่าฝาง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2435 เป็นอาคารไม้ยกพื้นสูง มีหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น หน้าบันตกแต่งด้วยเครื่องไม้แกะทั้ง 4 ด้าน หลังคาทรงนี้ สะท้อนคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิ






จองวัดจองคา วัดจองคาถือเป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดป่าฝาง คาดว่าสร้างในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2420-2450 จองวัดจองคาคือส่วนผสมระหว่างศิลปกรรมแบบพม่า-ไทยใหญ่และศิลปกรรมแบบตะวันตก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้นขนาดใหญ่ สูง 15 เมตร ทาสีขาวทั้งหลัง หลังคาทรงจั่วซ้อนชั้น สร้างเครื่องไม้แบบพม่า ถือเป็นงานศิลปกรรมในช่วงรัชกาลที่ 5-6 ที่งดงามประณีต




วิหารวัดม่อนปู่ยักษ์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2442 เป็นวิหารก่ออิฐถือปูนแบบศิลปะตะวันตก เป็นตึกคอนกรีตแบบโคโลเนียล มีกรอบหน้าต่างซุ้มโค้ง แต่หลังคาทรงจั่ว ภายนอกตกแต่งเรียบง่าย ไม่มีการประดับด้วยช่อฟ้าและใบระกา ทว่าก็รู้สึกถึงความเป็นตะวันตกจากการใช้ซุ้มโค้ง (Arch) การใช้รูปปั้นรูปนกยูง สื่อถึงดวงอาทิตย์ ประดับที่หน้าบันทิศตะวันออก ส่วนหน้าบันทางตะวันตกประดับด้วยรูปปั้นรูปกระต่าย สัญลักษณ์แทนดวงจันทร์ และในส่วนล่างของหน้าบันทั้งสองข้างปรากฏรูปเทวดาแต่งกายแบบพม่าประดับอยู่

จองวัดม่อนจำศีล เดิมเป็นวัดร้าง จองไม้สักวัดม่อนจำศีลสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2424 โดยคหบดีชาวพม่า ซึ่งนำช่างมาจากเมืองมัณฑเลย์ นับเป็นจองไม้สักที่งดงามด้วยฝีมือการตกแต่งลวดลายติดกระจก







จองวัดศรีชุม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2443 ต่อมามีการบูรณะในปี พ.ศ. 2463 จองรูปแบบดั้งเดิมเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้น มีหลังคายอดปราสาทแบบพม่า ถือเป็นอาคารแบบพม่าที่สมบูรณ์และสวยงามมากที่สุด ทว่าถูกไฟไหม้เสียหายเมื่อปี พ.ศ. 2535 ต่อมากรมศิลปากรได้บูรณะปฏิสังขรณ์จองขึ้นใหม่ตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดิม

วิหารวัดป่ารวก สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2464 ด้วยกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมแบบมอญ โดยเป็นอาคารเดี่ยวชั้นเดียว ลักษณะเป็นห้องโถง มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นหลังคาทรงจั่วซ้อนชั้นลดหลั่นกัน 3 ชั้น มีแผงคอสองโดยรอบ ชายหลังคาคลุมต่ำ

วิหารวัดท่ามะโอ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2437 เป็นอาคารเดี่ยว โครงสร้างหลังคาเป็นจั่วชั้นเดียวซ้อนด้วยหลังคาแบบคลุม 2 ชั้น คลุมลาดต่ำลงมาทั้ง 4 ด้าน ต่อด้วยมุขด้านหน้าวิหาร มีซุ้มหลังคาคลุมมุขทางเดินไปตลอด ก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง มีระเบียงโดยรอบ นอกจากนี้ ยังอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นตะวันตกจากการที่ภายนอกอาคารก่อซุ้มโค้ง (Arch) ภายในซุ้มประดับด้วยงานปูนปั้นในแบบศิลปกรรมพม่า ในส่วนของกันสาดรอบวิหารทำจากไม้ฉลุลายเป็นระบายชายคาล้อมรอบตัวอาคาร ลายที่นำมาใช้นี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก ซึ่งช่างพม่านิยมสร้างกันในอดีต


มณฑปปราสาทวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2452 ใช้เวลาก่อสร้างถึง 9 ปี ความโดดเด่นอยู่ที่หลังคาซ้อนชั้นลดหลั่นกัน อันเป็นลักษณะเฉพาะแบบพม่า ด้านในมณฑปยังแพรวพราวจากการตกแต่งด้วยงานปั้นรักประดับกระจกไว้ทุกส่วนของโครงสร้าง





หากเที่ยวชมจนครบจะพบว่า จองพม่านั้นไม่เพียงงดงามด้วยฝีมือเชิงช่าง แต่ยังแฝงไว้ด้วยคติความเชื่อที่แยบยล เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งก่อสร้างรุ่มรวยไปด้วยความประณีตนี้ ยังสะท้อนให้เห็นว่า คนสมัยก่อนช่างศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งยวด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1217 วันที่ 15 - 21 กุมภาพันธ์ 2562)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์