พลันที่ปรากฎชื่อพล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคไร้สปีริตอย่างพลังประชารัฐ
มีหลายคำถามที่พุ่งเป้าไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในฐานะหัวหน้า คสช.
ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรี
บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 บัญญัติให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฎิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
เช่นเดียวกัน
คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
นั่นเป็นข้อยืนยันชัดเจนตามรัฐธรรมนูญว่า ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ที่เป็นหัวหน้า คสช. และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นนายกรัฐมนตรี
มีสิทธิตามกฎหมาย มีอำนาจตามกฎหมายทุกประการที่จะอยู่ต่อไปจนถึงวันที่ปรากฎโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีใหม่
แต่เมื่อบริบทเปลี่ยนไป คณะรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล
เอาชื่อโครงการประชานิยมของรัฐบาล มาตั้งเป็นชื่อของพรรคการเมือง
แล้วเอาชื่อหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีที่มาจาก
คสช.ใส่ไว้ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรค ความน่ารังเกียจก็เกิดขึ้นทันที
โดยเฉพาะระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ. 2561 คุมเข้มการหาเสียงของผู้สมัคร
ไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้สมัครรายอื่น การหาเสียงของแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี
ที่กระทำผ่านอย่างน้อย 2 ช่องทางสำคัญในสื่อของรัฐ
คือรายการ “เดินหน้าประเทศไทย”
ที่คสช.ขอความร่วมมือสถานีโทรทัศน์ทุกช่องถ่ายทอดสดในเวลาไพร์มไทม์ อีกทั้งรายการ “ศาสตร์พระราชา
สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งแปลงมาจากรายการ “คืนความสุข”
ทุกคืนวันศุกร์ จึงเกิดเสียงกระหึ่มจากประชาชนว่า
นี่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นๆหรือไม่
เนื่องเพราะ บุคคลที่อยู่หน้าจอ หรือเนื้อหาที่แสดงถึงผลงานของเขา
แม้จะไม่ปรากฎภาพ มิใช่หัวหน้าคสช.หรือนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป
แต่เขาคือตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังใช้เครื่องมือของรัฐ งบประมาณของรัฐ
หาเสียงให้กับพรรคตัวเอง
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อพรรคพลังประชารัฐชูพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เป็นนายกรัฐมนตรี คงแปลกอย่างยิ่ง หากว่าที่นายกรัฐมนตรี คนนี้
ยังนั่งอยู่ในทำเนียบรัฐบาลคล้ายไม่รับรู้เรื่องราวภายนอก ไม่ออกไปแสดงตัว
ไปเดินสายหาเสียงในฐานะแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับพรรคอื่นๆ
ความยุ่งยาก รอพรรคพลังประชารัฐอยู่หลังเลือกตั้งครั้งนี้อย่างแน่นอน
นอกจากพรรคจะไม่ใช่พรรคการเมืองอันดับหนึ่งที่ได้รับเลือกตั้งแล้ว
การเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำในบรรยากาศประชาธิปไตย
โดยเฉพาะหากเพื่อไทยและประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้าน
เราคงได้เห็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ออกอากาศเกรี้ยวกราด
ให้ได้อับอายสายตาชาวโลกเขาทุกวัน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1216 วันที่ 8 - 14 กุมภาพันธ์ 2562)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น