เจ้าหน้าที่พยาบาลวิชาชีพ
เทศบาลตำบลแม่เมาะแทบทรุด
หลังทราบผลการสอบวินัยร้ายแรง โดนโทษหนักสุด เอี่ยวคดีโกงเงิน สปสช. ร้องขอความเป็นธรรม
ยันไม่ได้มีส่วนร่วมในการเซ็นเบิกจ่ายเงิน แต่กลับโดนโทษหนักกว่า
ครวญเหมือนตนเป็นแพะรับบาป
ขณะที่ขั้นตอนต่อไปเตรียมส่งเรื่องให้คณะกรรมการ
กทจ.พิจารณาลงมติอีกครั้งภายใน 90 วัน
จากกรณีที่เทศบาลตำบลแม่เมาะ
อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
ได้ดำเนินการตรวจสอบพบความผิดปกติทางการเงินของบัญชีระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นเทศบาลตำบลแม่เมาะ
พบว่ามีการเบิกถอนเงินสดในบัญชีธนาคารของกองทุนฯ เกินงบประมาณของระเบียบกองทุนกำหนดไว้ โดยพบว่ามีการเบิกถอนเงินตั้งแต่วันที่ 12
ธ.ค.57 ถึงวันที่ 4 ก.ย.59 มากกว่า 30
ครั้ง ซึ่งการถอนแต่ละครั้งจะมียอดเงินอยู่ระหว่าง
20,000-80,000 บาท รวมเป็นเงินกว่า 3 ล้านบาท
และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้น
กระทั่ง เมื่อเดือน พ.ย.60 ที่ผ่านมา จังหวัดลำปางได้แจ้งผลการสอบสวนข้อเท็จจริง
เป็นหนังสือตอบกลับมายังเทศบาลตำบลแม่เมาะให้นิติกรดำเนินการแจ้งความดำเนินคดี
กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว รวม 6 คน
เนื่องจากพบว่ามีการทุจริตเงินกองทุนดังกล่าวจริง
จากนั้น เมื่อวันที่ 2 มี.ค.61 ที่ผ่านมา
นายเอกชัย คำใส นิติกรชำนาญการ เทศบาลตำบลแม่เมาะ
จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พ.ต.ท.ยงศักดิ์ มาวงษ์ หัวหน้าพนักงานสอบสวน
สภ.แม่เมาะ เพื่อเอาผิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ต่อมา
วันที่ 25 เม.ย.61 คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดลำปาง
(ก.ท.จ.ลำปาง) มีมติ ครั้งที่ 4/2561 ให้พักราชการปลัดเทศบาลตำบลแม่เมาะชั่วคราว
เพื่อไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน
อาจจะทำให้พยานไม่กล้าให้ข้อมูลและให้การอย่างตรงไปตรงมาได้ พร้อมกันนี้
ทางเทศบาลตำบลแม่เมาะได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยขึ้น โดยให้ทาง
ก.ท.จ.คัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการสอบสวน
เนื่องจากนายกเทศมนตรีเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ด้วย
สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้
จากรายงานข่าวทราบว่า ทางคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง
ได้มีการลงมติสรุปสำนวนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย ปลัดเทศบาลตำบลแม่เมาะ
ให้ปลดออกจากราชการ ขณะที่
ผอ.กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ให้ลดขั้นเงินเดือน ส่วน
เจ้าหน้าที่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
และพนักงานจ้างทั่วไป มีมติให้ไล่ออกจากราชการ
ต่อมาวันที่
18 ก.พ.62
นางณิชชา ตันติอำไพ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สังกัดกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
เทศบาลตำบลแม่เมาะ
ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมในการสอบสวนการกระทำผิดวินัยร้ายแรงในการทุจริตเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ
เทศบาลตำบลแม่เมาะ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
ในฐานะประธานคณะกรรมการเทศบาลจังหวัดลำปาง ขอให้ทบทวนการมติการสอบสวนวินัยร้ายแรงดังกล่าว
เนื่องจากยืนยันว่าตนเองไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการเซ็นเบิกจ่ายเงินแต่อย่างใด
ลานนาโพสต์ได้สอบถามไปยังนางณิชชา
ตันติอำไพ ซึ่งได้เปิดเผยว่า ตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบงานกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เทศบาลตำบลแม่เมาะ
ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2559
และเป็นผู้เก็บรักษาสมุดบัญชีธนาคารของกองทุนฯ
จนกระทั่งปลัดเทศบาล ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการกองทุนฯ โดยตำแหน่ง ได้ให้
น.ส.สุชีรา พนักงานจ้างทั่วไป
มาขอยืมสมุดบัญชีเพื่อนำไปตรวจสอบรายละเอียดยอดเงินในบัญชี จึงได้ส่งมอบสมุดบัญชีให้ไปตั้งแต่วันที่
22 พ.ย.56 โดยให้พนักงานคนดังกล่าวลงนามผู้ยืมในบัญชี
จากนั้นก็ไม่ได้รับสมุดบัญชีคืนอีกเลย กรณีที่กล่าวหาว่าตนเองปล่อยปละละเลย
มอบให้พนักงานจ้างทั่วไปเป็นผู้ดำเนินการต่างๆเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินกองทุนที่ตนเองรับผิดชอบอยู่โดยไม่มีการควบคุมตรวจสอบ
จนเป็นเหตุให้มีการเบิกเงินสดเกินกว่าจำนวนที่ประกาศกำหนดให้เบิกได้ คือ 5,000
บาท จำนวน 64 ครั้ง ในเรื่องนี้ตนเองชี้แจงได้ว่า
การปฏิบัติหน้าที่ของตนอยู่ในกรอบงานที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา
ซึ่งได้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ และข้อเท็จจริงคำสั่งเทศบาล
ไม่ได้กำหนดให้อำนาจตนเองกำกับดูแลพนักงานจ้างคนอื่นๆได้ ซึ่งพนักงานจ้างคนดังกล่าว
ได้กล่าวอ้างตลอดว่าได้รับคำสั่งจากปลัดเทศบาล และคณะกรรมการกองทุนฯ
ในการมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบงานกองทุนฯหรือการเบิกจ่ายเงิน
จะสั่งงานและส่งมอบเงินในการดำเนินการให้แก่พนักงานจ้างคนนั้นโดยตรง
จึงถือว่าตนเองถูกกล่าวหาโดยปราศจากความจริง
ตลอดเวลาที่เบิกจ่ายเงินกองทุนฯ
จะเป็นการเบิกถอนตามแผนงานโครงการ และก่อนจะมีการเบิกถอนเงิน
คำขอเบิกถอนจะต้องผ่านการพิจารณาจากผู้มีอำนาจทุกครั้ง ในช่วงปี 2557-2559 ที่ผ่านมาตนเองก็ไม่ได้มีอำนาจในการลงนามสั่งจ่ายหรือเบิกถอนเงิน
และไม่เคยเบิกถอนเงินสดเกินจำนวน 5,000 บาท
จะทำการเบิกถอนเงินที่ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเป็นเช็คขีดคร่อมให้เจ้าหน้าที่ตามคำขอเบิกทุกครั้ง
นางณิชชา
กล่าวต่อไปว่า ตนยังถูกกล่าวหาว่ามีการเซ็นจ่ายเช็คให้บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการ และมีการปลอมแปลงเอกสารใบถอนเงิน
โดยเพิ่มเติมจำนวนตัวเลขให้มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นกว่าเอกสารที่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งตนเองไม่ได้รู้เห็นด้วย และยืนยันว่าเอกสารใบถอนเงินก็ไม่ใช่ลายมือของตนเอง
และที่สำคัญคือตนเองไม่ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เบิกจ่ายหรือบันทึกเสนอผ่านแต่อย่างใด
เพราะการเสนองานกองทุนฯ ตั้งแต่ปี 2556 จะมีน้องพนักงานจ้างทั่วไป
เป็นคนเสนอให้ปลัดเทศบาล เพื่อให้นายกเทศมนตรีในฐานะประธานกองทุนฯ
เป็นผู้พิจารณาสั่งการและอนุมัติเบิกจ่าย ซึ่งผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินกองทุน
จะประกอบด้วย ประธานกองทุนฯ เลขานุการกองทุนฯ
คณะกรรมการกองทุนฯ และผู้รับเงินคือพนักงานเทศบาลหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย โดยตรงเองมีพยานบุคคลยืนยันการปฏิบัติงานได้
รวมทั้งยังมีข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่มีการสอบสวนหรือกล่าวโทษแก่นายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ
ทั้งที่เป็นผู้ลงนามสั่งเบิกจ่ายเงินโดยตรง เหมือนเป็นการหาแพะรับบาปมารับโทษ
ซึ่งตนเองได้รับโทษหนักที่สุด ขณะที่ผู้ที่มีตำแหน่งใหญ่กว่าและเป็นผู้รับผิดชอบสั่งจ่ายเงินโดยตรงกลับไม่ได้รับโทษอะไรเลย
จึงอยากขอความเป็นธรรมให้กับตนเองด้วย
ทั้งนี้
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังแหล่งข่าว ทราบว่า คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดลำปาง
(ก.ท.จ.) ได้มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 21 ก.พ.62 ที่ผ่านมา
แต่ยังไม่ได้มีการนำเรื่องเทศบาลตำบลแม่เมาะเข้าพิจารณาแต่อย่างใด
เนื่องจากได้รับเรื่องก่อนวันประชุมเพียงวันเดียว ซึ่งหลังจากได้รับเรื่องจากคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแล้ว จะต้องส่งให้คณะอนุวินัยพิจารณาก่อน โดยกระบวนการตามระเบียบต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน
90 วัน หลังจากคณะกรรมการอนุวินัยสรุปผลแล้ว จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการฯ
จังหวัดพิจารณาต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น