วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ยกระดับข้าววอแก้ว ไร้มอดปลอดกลิ่นหืน

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

หลังจากสภาเกษตรกรจังหวัดลำปางได้สำรวจความต้องการด้านการพัฒนาของเกษตรกรในพื้นที่ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง มีเกษตรกรที่สนใจนำผลผลิตเกษตรไปพัฒนาแปรรูปให้เป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ขายในชุมชน และพยายามหาช่องทางพัฒนาศักยภาพเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยล่าสุดได้จัดโครงการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรจังหวัดลำปาง ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลวอแก้ว เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อพบปะกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มอาชีพขนาดเล็ก
ณิชรัศม์ แลวงค์นิ หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ สภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง กล่าวว่า โครงการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรจังหวัดลำปาง เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าถึงเกษตรกรที่มีความต้องการพัฒนาศักยภาพของการทำเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งหมายถึงการนำผลผลิตเกษตรมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า  โดยไม่จำเป็นต้องมีโรงงานขนาดใหญ่แต่อาจจะเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนหรือขนาดย่อมที่มีมาตรฐานเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ นอกเหนือจากเพียงแค่ขายในหมู่บ้านหรือชุมชนใกล้เคียง โดยความร่วมมือระหว่าง สภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง  พัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง และบริษัทประชารัฐรักสามัคคีลำปาง มาร่วมกันให้คำแนะนำ เชื่อมโยงการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาด้านการผลิต บรรจุภัณฑ์ การตลาด โดยเน้นพัฒนาจากศักยภาพความพร้อมทั้งปริมาณวัตถุดิบในพื้นที่ ทรัพยากรคน ซึ่งอาจจะมีเป้าหมายการตลาดเพียงแค่ตลาดสู่ตัวเมืองในท้องถิ่น ไปจนถึงระดับขายส่งทั่วประเทศ หรือแม้กระทั่งการส่งออก ที่แตกต่างกันของแต่ละผลิตภัณฑ์

ศลิษา ม่วงใหม่ รักษากรแทนพัฒนาการจังหวัดลำปาง แลกเปลี่ยนแนวคิดว่า การเข้าสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ อาจจะต้องใช้เวลาบ่มเพาะพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้เกษตรกรหรือชาวบ้านที่มีแนวคิดจะทำผลิตภัณฑ์ได้ลงมือทำแบบเข้าใจว่าจะพัฒนาไปถึงจุดหมายไหน  ในเบื้องต้นการเข้าสู่ระบบสินค้าโอทอปก็ช่วยพัฒนาเป็นลำดับขั้นได้ดี ส่วนการตลาด สามารถขายผ่านช่องทางตลาดของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีซึ่งมีหลายช่องทาง

ขณะที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านวอแก้วผลิตสมุนไพร ได้ทดลองทำผลิตภัณฑ์สบู่ แชมพู น้ำยาเอนกประสงค์จากสมุนไพรที่ปลูกในหมู่บ้าน ขายให้กับคนในชุมชนได้รับการตอบรับและมียอดขายดีต่อเนื่อง และวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียงบ้านน้ำจำหมู่ 7 ผลิตน้ำพริกลาบสมุนไพร และปุ๋ยสำหรับผักอินทรีย์เป็นธนาคารปุ๋ยหมัก ขายให้กลุ่มวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์ ในตำบลวอแก้ว รวมถึงกลุ่มแม่บ้านทุ่งผา  ซึ่งผลิตน้ำพริกลาบ และกล้วยฉาบรสบาบีคิว สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานออกขายเชิงพาณิชย์สู่ตลาดภายนอกชุมชน

ประธานกลุ่มข้าวกล้องงอกอินทรีย์ หนึ่งในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในตำบลวอแก้ว ที่รวมกลุ่มกัน พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอก สุกง่าย ไร้มอด ปลอดกลิ่นหืน เพื่อเพิ่มมูลค่าขายเป็นข้าวแบบให้เป็นของฝากของขวัญ และขายปลีกให้กับผู้ซื้อกลุ่มคนในเมืองที่รักสุขภาพ โดยร่วมกับ สวทช. และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศึกษากระบวนการแปรรูปข้าวสายพันธุ์ต่างๆที่นำมาสีแบบข้าวกล้อง ผ่านกรรมวิธีการ แช่ บ่ม ให้งอกแล้วนึ่ง ก่อนนำไปตากแห้ง ทำให้ข้าวกล้องสามารถเก็บได้ในที่อุณหภูมิธรรมชาติได้นาน ไม่มีปัญหามอดกินโดยไม่ต้องบรรจุสุญญากาศ ซึ่งกรรมวิธีนี้เกษตรกรที่ทำข้าวกล้องประณีตสามารถซื้อข้าวจากเพื่อนบ้าน สมาชิกในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ได้ไม่จำกัด สามารถนำมาแปรรูปขายได้ทั้งปี ทำได้ครั้งละ 30 กก.  ดังนั้นข้าวที่ขายก็จะมีคุณภาพ หากได้รับการสนับสนุนพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ที่แสดงเอกลักษณ์ความเป็นพื้นบ้าน สามารถขายในราคาสูง กิโลกรัมละ 120 บาท เมื่อเทียบกับข้าวกล้องทั่วไป ที่ขายราคา 60-70 บาท ปัจจุบันในกลุ่มมียอดขายเป็นที่น่าพอใจ เดือนละประมาณ 20,000 บาทขึ้นไป 

ในกรณีของกลุ่มข้าวกล้องอินทรีย์  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองว่า น่าจะทำตลาดกลุ่มผู้มีกำลังซื้อได้ดี รวมถึงตลาดส่งออก ก็ยังสามารถพัฒนาไปได้ โยให้เกษตรกรรายย่อยๆ รวมกลุ่มกันเพิ่มขึ้นตามความต้องการตลาด

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ผลิตน้ำพริกลาบ ซึ่งเป็นอาหารที่ใช้ปรุงลาบของภาคเหนือ รวมทั้งแกง หรือเป็นน้ำพริกเครื่องเคียงที่มีความต้องการตลาดสูงทั้งในท้องถิ่น และต่างจังหวัด แต่ส่วนใหญ่ จะผลิตแบบในครัวเรือน ขายส่งแม่ค้าร้านขายของชำ และร้านขายส่งในตัวเมือง ปัจจุบันมีเทคโนโลยีตลาดออนไลน์ เข้ามา ทำให้มีช่องทางการขายต่างจังหวัดโดยสร้างการรับรู้ทางออนไลน์ได้มากขึ้น เกษตรกรจึงสนใจอยากทำมาตรฐานอาหารให้ขายเชิงพาณิชย์ได้กว้างขวางและได้ราคาสูงกว่าที่ขายในท้องถิ่น ในส่วนนี้มีการหรือแนวทางเพื่อนำน้ำพริกลาบ ที่มีเรื่องเล่าบ่งบอกรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากน้ำพริกลาบที่มีคู่แข่งทางตลาดสูงมากอย่าไร ให้ผู้ผลิตมียอดขายมากพอต่อการทำเป็นเชิงพาณิชย์ที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตามการพบปะกลุ่มเกษตรกรครั้งนี้ได้มีการหารือถึงแนวทางการเชื่อมโยงด้านวิชาการและงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ จากหน่วยงานบูรณาการ เพื่อผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์จากพื้นฐานการเป็นเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการแปรรูปสินค้า ออกสู่ตลาดที่กว้างขวางขึ้น เป็นโมเดลใหม่ๆ หรือกรณีตัวอย่างในการขยายไปยังพื้นที่ตำบลอื่นๆที่มีผลผลิตเกษตรคล้ายคลึงกันต่อไป

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1216 วันที่ 8 - 14 กุมภาพันธ์ 2562)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์