วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

สื่อเลือกตั้ง ปะทะสื่อเลือกข้าง !

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

สื่อไทย ว่างเว้นการรายงานข่าวเลือกตั้งมานานปี  การเปิดสนามเลือกตั้งครั้งใหม่นี้  ทุกสถานีจึงต่างประชันขันแข่งที่จะเสนอรูปแบบรายการ การรายงานข่าว ที่พวกเขามักเรียกว่า วิเคราะห์ เจาะลึก รอบด้าน มากกว่าคู่แข่ง ซึ่งในความเป็นจริง ข่าวก็คือข่าว รายการวิเคราะห์ข่าวที่ว่ากันนั้น ก็คือการใช้นักข่าวและนักวิชาการ ซึ่งหลายความคิด หลายความเห็นนั้น ไม่จำเป็นต้องให้นักวิชาการมาวิเคราะห์ ให้ยาวความ ชาวบ้านทั่วไปเขาก็ตอบได้

สูตรสำเร็จของการรายงานข่าวเลือกตั้ง คือการรายงานความเคลื่อนไหวของนักการเมืองแต่ละพรรค ทำนายอนาคตการเมือง จัดสูตรผสมรัฐบาล ในแง่รายกการก็คือการเปิดเวที ให้ตัวแทนพรรคการเมือง มาแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งมีทั้งภาพใหญ่ และแยกเป็นนโยบายแต่ละเรื่อง

สื่ออาจคาดหวังว่า เมื่อเปิดเวทีข่าวเลือกตั้งเต็มรูปแบบอีกครั้ง จะเรียกเรทติ้งได้ แต่ในความเป็นจริง ข่าวเลือกตั้งวันเปิดรับสมัครวันแรก เรทติ้งดีที่สุดคือเท่ากับรายการปกติ อย่างน้อย 7 สถานีที่มีเรทติ้งชัดเจน แต่ไม่ได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ประชาชนเฉื่อยชา ไม่สนใจ หรือไม่เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อบ้านเมืองอย่างไร ยังไม่มีคำตอบชัดเจน แต่หากอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ยังคงอยู่ไปจนถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

นั่นก็เป็นเรื่องความตื่นตัวในการรับข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งอาจไม่ได้ผิดไปจากคาดหมาย โดยเฉพาะเมื่อพวกเขามองเห็นว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็คือคนเดิม และนักการเมืองในระบบอุปถัมภ์กลุ่มเดิมก็ยังคงครองอำนาจต่อไปเหมือนเดิม

แต่ในแง่บทบาทของสื่อมวลชน ก็น่าพิจารณาว่า สื่อมวลชนจะวางบทบาทในการรายงานข่าว การเสนอรายการเลือกตั้ง อย่างไร ที่จะเรียกว่าไม่เอนเอียงไปทางฝ่ายใด หรือให้น้ำหนักกับนักการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ

ถึงแม้สื่อจะเป็นเช่นเดียวกับคนทั่วไป คือมีความคิด มีทัศนคติและอุดมการณ์ทางการเมือง และอาจมีความพึงพอใจพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษ ตั้งใจจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งพรรคการเมืองนั้น แต่ในการทำหน้าที่บนพื้นที่สาธารณะ เขาจะเอาความคิด เขาไม่อาจเอาทัศนคติส่วนตัวมาเจือปน ดังนั้น การที่ผู้นำองค์กรสื่อบางองค์กรประกาศเลือกข้างชัดเจน และพิธีกร ผู้ประกาศข่าวสถานีนั้น ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่ามีความเอนเอียงไปทางกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่ง โดยแยกแยะบทบาทความเป็นส่วนตัวกับการทำหน้าที่บนพื้นที่สาธารณะไม่ได้ จึงเป็นเรื่องกระทำผิดจริยธรรมสื่อ

ธรรมชาติของข่าวการเมือง คือความขัดแย้งทั้งในระดับบุคคลและองค์กร ฉะนั้น การรายงานข่าว การผลิตรายการ และการสัมภาษณ์จึงต้องมีความระมัดระวัง ให้เป็นธรรมต่อแหล่งข่าว ไม่ขยายความขัดแย้ง และเป็นเครื่องมือในการสร้างวาทกรรมที่สั่งสมความเกลียดชัง หรือ Hate Speech ที่สำคัญ จะต้องไม่นำทัศนคติส่วนตัว ความคิดเห็นทางการเมืองไปปะปนกับการทำหน้าที่สื่อ เช่น การตั้งคำถามที่เป็นการประชดประชันแหล่งข่าว การวิพากษ์วิจารณ์ที่เกินเลยไปจากเนื้อหาหรือใจความสำคัญของข่าว

แน่นอนว่า เรามีสถานีโทรทัศน์บางแห่งทั้งระบบดิจิตอล และสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ชัดเจนว่าเป็นสื่อเลือกข้าง เลือกพรรค เลือกคน ซึ่งก็เป็นผลดีสำหรับผู้บริโภคข่าวสาร ที่จะใช้ดุลพินิจแยกแยะได้ว่า พวกเขาควรให้ความเชื่อถือสื่อนั้นๆได้มากน้อยเพียงใด

แต่สื่ออาชีพที่ผู้นำองค์กรมีความฝักใฝ่กับพรรคการเมือง ผู้นำการเมืองชัดเจน ผู้ประกาศข่าวก็มีแนวคิดเอียงข้างชัดเจน ย่อมเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับผู้ปฏิบัติงาน หรือคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมข่าว ยกเว้นว่าพวกเขาจะมีจิตวิญญาณต่อสู้เพื่อความถูกต้อง หรือผู้บริโภคข่าวสารจะให้บทเรียนสื่อเลือกข้างเหล่านั้นด้วยการไม่ดู ไม่ฟัง และไม่ให้ความเชื่อถืออีกต่อไป


 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1216 วันที่ 8 - 14 กุมภาพันธ์ 2562)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์