วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

พืชไร่กำไรหด สภาเกษตรหนุน เลี้ยง‘แพะเนื้อ’รายได้งาม

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ไม่บอกก็คงไม่รู้ว่าลำปางเป็นเมืองแหล่งเลี้ยงแพะแกะติดอันดับต้นๆของประเทศไทยในขณะนี้ จากตัวเลขสถิติ ลำปางมีประชากรแพะ-แกะมากกว่า 3,000 ตัวและกำลังจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวในปีนี้

จากการประชุมเครือข่ายแพะ-แกะจังหวัดลำปาง ณ อาคารสัตวศาสตร์มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาลำปาง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 วาระของการนัดหมายเพื่อพบปะหารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเครือข่ายแพะ-แกะล้านนา ซึ่งมีเกษตรกรกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือให้รวมกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง

ศรีสะเกษ สมาน ผู้อำนวยการสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง กล่าวว่า เป็นเวลาร่วม 4 ปีแล้วที่ สภาเกษตรกรได้ร่วมกับเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ประเภทแพะ-แกะเป็นอาชีพทางเลือก โดยเริ่มจากกลุ่มเกษตรกรที่อำเภอวังเหนือที่มีอาชีพเลี้ยงแพะอยู่แล้ว ขยายวงเพิ่มขีดความสามารถในการเลี้ยงแพะเนื้อมาต่อเนื่อง จากเดิมคนเลี้ยงแพะ-แกะเมืองลำปางมีไม่ถึง 15 ราย แพะ-แกะมีไม่เกิน 500 ตัว มาวันนี้มีคนเลี้ยงเพิ่มขึ้นกว่า 200 ราย ส่งผลให้ประชากรแพะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3,000 ตัวในขณะนี้  ล่าสุดสภาเกษตรกรจังหวัดลำปางได้ประสานหาเงินกองทุนที่ไม่มีดอกเบี้ยให้ผู้สนใจเลี้ยงแพะ-แกะรายละ 200, 000 บาท จำนวน 175 ราย เพื่อเป้าหมายการขยายอาชีพเลี้ยงแพะเนื้อเป็นอาชีพเสริมให้เป็นอาชีพหลัก ทดแทนอาชีพการทำพืชไร่ โดยเน้นให้เกษตรกรมีความรู้ความสามารถในการเลี้ยงแพะให้มีศักยภาพการบริหารหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ ทำผลกำไร จากการเกษตรปศุสัตว์ที่มั่นคง

บุญยืน มะโนรมย์ ประธานเครือข่ายแพะ-แกะ จังหวัดลำปาง สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จากการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ- แกะในจังหวัดลำปางเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการเลี้ยงแพะ-แกะร่วมกัน โดยมีเกษตรกรที่อำเภอวังเหนือ และพื้นที่อำเภอเมืองลำปางเลี้ยงแพะ เป็นส่วนมาก ทั้งนี้พบว่าการเลี้ยงแพะเนื้อ สามารถสร้างรายได้ที่มีผลกำไรดี จากราคาขายแพะเนื้อกิโลกรัมละ 90-100 บาท ปัจจุบัน  ราคาขยับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 140 บาท แพะอายุหนึ่งปีมีน้ำหนักตัวละ 20-30 กิโลกรัม ทำรายได้ตัวละประมาณ 4,000 บาท ตลาดมีความต้องการสูงเพิ่มขึ้นไม่หยุด เมื่อรัฐบาลมีแนวทางสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเพื่อลงทุนเกษตรปศุสัตว์ รายละ 2 แสนบาท เป็นความหวังในการยกระดับอาชีพการเลี้ยงแพะให้ทำรายได้สูงกว่าการทำเกษตรกรรมอย่างแท้จริง 

ประสงค์ ศรีกอก สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดลำพูน และณรงค์ กาปัญญา เลขานุการยางพาราแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะจังหวัดลำพูนด้วยเช่นกัน ระบุว่าความต้องการการบริโภคเนื้อแพะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและชาวจีนนิยมมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก ตามความเชื่อของการบริโภคแพะตุ๋นสมุนไพร และเมนูในภัตตาคาร ทำให้ปริมาณการสั่งซื้อแพะเนื้อจากประเทศไทยเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีการลงนามความร่วมมือ  MOU ด้านการซื้อขายแพะเนื้อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง ซึ่งเครือข่ายแพะ-แกะ ล้านนา ก็เป็นกลุ่มที่มีโอกาสอยู่ใน MOU ดังกล่าว ดังนั้นการขยายจำนวนผู้เลี้ยงแพะเป็นกลุ่มใหญ่ทำให้การคาดคะเนประชากรแพะให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด รวมถึงการกำหนดราคาตลาดให้อยู่ในระดับที่เกษตรกรมีผลกำไรที่เป็นธรรมด้วยเช่นกัน

พหล  แสนจี๋  สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่  หนึ่งในเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อที่เริ่มต้นจากการเลี้ยงแพ เพียงไม่กี่ตัว จนสามารถเลี้ยงแพะเป็นอาชีพหลักบอกว่า โอกาสของการลงทุนเลี้ยงแพะเนื้อของกลุ่มเกษตรกรในภาคเหนือจะมีโอกาสสูงกว่า เพราะนอกจากต้นทุนต่ำแล้ว สภาพอากาศและ พืชอาหารสัตว์ทางภาคเหนือเอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงแพะได้มากกว่าทางภาคใต้ของไทย ดังนั้นอยากให้เกษตรกรภาคเหนือใช้โอกาสของการใช้เงินกองทุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยให้คุ้มค่า เช่นทำโรงเรือนที่ดี พัฒนาสายพันธุ์พ่อแม่พันธุ์  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสื่อสารการตลาดกันอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงที่เอื้อต่อการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมการเลี้ยงแพะที่มีศักยภาพ

ความต่อเนื่องจุดเริ่มต้นของการ เลี้ยงแพะเนื้อในจังหวัดลำปางเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนไปสู่การทำปศุสัตว์ที่ลงทุนน้อยเลี้ยงแพะตามธรรมชาติ มีพืชอาหารปลอดภัยเป็นหลักแต่กลับให้ผลตอบแทนสูง กำลังจะมาแทนที่อาชีพเกษตรกรรมทำพืชไร่ที่หว่านเงินลงไปจำนวนมากแต่ผลกำไรแทบไม่เหลือ หันมาทำเกษตรวิถีเกษตรเรียบง่ายกลับมาเป็นหนทางสร้างรายได้พออยู่พอกิน  


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1217 วันที่ 15 - 21 กุมภาพันธ์ 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์