วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

PM 2.5ละอองมลพิษ และชีวิตของเรา

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ใช่ว่าจะมีอารมณ์โรแมนติกนึกถึงวันวาเลนไทน์ แต่ที่ทำให้ใจเต้นตึกตักก็เพราะนึกถึงว่า นี่เรากำลังเผชิญปัญหาหมอกควันที่เคยวิกฤตอยู่ที่ภาคเหนือจนวันนี้ลุกลามไปถึงกรุงเทพเมืองฟ้าอมร

ปัญหาซ้ำ ๆ ที่เกิดขึ้นทุกปี อย่าว่าแต่พื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเลยที่เผาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทุกวันนี้ตามหมู่บ้านพอตกเย็นก็เริ่มเห็นควันไฟอ้อยอิ่งลอยเป็นหย่อม ๆ จากสวนโน้นสวนนี้ จากพื้นที่ที่คนนำขยะ หรือกิ่งไม้ใบไม้มาทิ้งกัน ช่วงเย็น ๆ อากาศนิ่ง พอเผาควันก็ไม่ไปไหน กลับลอยตลบอบอวลอยู่ในหมู่บ้านนั่นแหละ ที่สำคัญตอนนี้คือมือเผาเริ่มหัวหมอ รอจุดไฟตอนหัวค่ำ เพื่อจะได้ไม่มีใครเห็นทั้งมือเผาและจุดเกิดเหตุ ชาวบ้านตาดำ ๆ ก็นั่งดินเนอร์เคล้ากลิ่นควันกันไป

เผากันอย่างนี้ รู้หรือไม่ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกมาเปิดเผยข้อมูลการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในประเทศไทย โดยประมวลผลข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ 12 สถานี ใน 10 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งพบว่า เดือนตั้งแต่เริ่มเดือนมกราคม ทั่วทั้งกรุงเทพก็ปกคลุมด้วยฝุ่นขนาดเล็กที่เรียกว่า PM. 2.5

จนล่าสุดเชียงใหม่ ค่า PM 2.5 ก็ขึ้นสูง จังหวัดลำปางก็ตามมาติดๆ ปัญหาเดิมๆที่เจอทุกปี ที่รอการแก้ปัญหา ก็ยังไม่รู้ว่าต้องรออีกนานแค่ไหน ที่ผ่านมาลำปางของเคยติดอันดับเมืองที่มีปัญหามลพิษฝุ่นละอองเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศ

ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) นั้น เล็กเกินมองเห็น และเล็กมากจนสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ ดังนั้น ฝุ่นพิษจึงเป็นตัวนำสารพิษสู่ร่างกายโดยเข้าไปอุดตันในเส้นเลือด นอกจากเป็นปัจจัยการเกิดโรคมะเร็งแล้ว ยังทำให้เป็นโรคหัวใจและโรคเส้นเลือดสมองอุดตันได้ด้วย

ฝุ่นมรณะเหล่านี้มาจากการคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการเผาในที่โล่ง มันยังเป็นมลพิษข้ามพรมแดนและปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศได้นาน องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดอย่างเป็นทางการให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง สอดคล้องกับที่นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง เคยให้ข้อมูลว่า จังหวัดลำปางมีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดมากเป็นอันดับต้น ๆ และในจำนวนผู้ป่วยเหล่านั้น หลายคนไม่สูบบุหรี่ !

มลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น หากไม่มีตัววัดอย่างดัชนีคุณภาพอากาศ เราจะไม่รู้เลยว่า มลพิษทางอากาศมีมากแค่ไหน อย่างไรก็ตาม มาตรฐานในการตรวจวัดและรายงานคุณภาพอากาศของประเทศไทยยังต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ กรณีนี้เมืองเชียงใหม่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด โดยเมื่อต้นปี พ.ศ. 2559 ช่วงที่เชียงใหม่เผชิญวิกฤตหมอกควันไปทั่วเมือง แต่กรมควบคุมมลพิษกลับรายงานว่า อากาศยังดีอยู่ นั่นเพราะการวัดคุณภาพอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10) กระทั่งสถานกงสุลอเมริกาประจำประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ ทนไม่ไหว ต้องออกมาเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษวัดดัชนีคุณภาพอากาศจาก PM 2.5 และเผยแพร่ข้อมูลฝุ่นมลพิษ PM 2.5 รายวัน เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่า มลพิษที่แท้จริงเป็นอย่างไรและสามารถป้องกันตนเองได้

กรีนพีซยังบอกว่า ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น ไม่เพียงพอที่จะบอกว่า อากาศที่เราหายใจเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราหรือไม่อย่างไร จึงได้เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ เพื่อความแม่นยำในการระบุถึงผลกระทบต่อสุขภาพ

คงได้แต่หวังว่า ปีนี้เราจะเคลื่อนออกจากวังวนแห่งหมอกควันไปได้ โดยทางจังหวัดน่าจะมีมาตรการเข้มข้นเพื่อให้ลำปางหลุดออกจากการจัดอันดับที่น่าสะพรึงเสียทีล

(หนังสือพิมพ์ลลานนาโพสต์ฉบับที่ 1215 วันที่ 1 - 7 กุมภาพันธ์ 2562)



Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์