
ความล้มเหลวสำคัญเรื่องหนึ่งของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา คือ การปฏิรูปสื่อ แม้จะมีความพยายามผลักดันการปฎิรูปสื่อ
ด้วยทัศนคติว่าสื่อคือตัวการความขัดแย้ง โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ แต่ความพยายามที่ตั้งต้นด้วยทัศนคติที่เป็นลบ
เลือกคนมาปฎิรูปสื่อแต่ไม่เข้าใจสื่อ เลือกคนที่เชื่อในอำนาจควบคุมบังคับสื่อ
ในที่สุดการปฎิรูปสื่อก็กลายเป็นปราสาททราย ละลายหายไปในพริบตา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.)
สภาการขับเคลื่อนการปฎิรูปแห่งชาติ (สปท.) จนกระทั่งถึงคณะกรรมการปฎิรูปประเทศ
ซึ่งมีนายจิรชัย มูลทองโร่ย เป็นประธาน สองชุดล้มเหลว
ในขณะที่ผลการศึกษาที่ทำไว้ในชุดคณะกรรมาธิการการปฎิรูปการสื่อสารและเทคโนโลยี
สปช.ซึ่งถือว่าเป็นผลงานด้านปฎิรูปสื่อที่ดีที่สุด ไม่ได้นำมาใช้
แต่กลับถูกบิดเบือน และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการปฎิรูปสื่อในยุค สปท.
แฟ้มบุคคลต้องบันทึกไว้ว่า ตัวการสำคัญที่ทำให้การปฎิรูปสื่อต้องสะดุดลง คือ
พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์
ประธานและรองประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน
สปท.
คนสองคนนี้ ทำทุกอย่างยกเว้นงานในหน้าที่ คือการปฎิรูปสื่อ
เมื่อมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสื่อ ซึ่งพิมพ์เขียวมาจาก
สปช.กรรมการชุดนี้ ก็เริ่มแปลงสารด้วยความคิดแบบอำนาจนิยม คือต้องมีตัวแทนอำนาจรัฐ
เข้าไปอยู่ในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับนี้ด้วย
การมีตัวแทนภาครัฐ เข้าไปกำกับดูแลเรื่องจริยธรรมสื่อ
คือผลงานการแปลงสารของกรรมาธิการชุดนี้ ถามถึงแนวคิดการปฎิรูปสื่อว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร
คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี
แปลว่าการทำงานปฎิรูปสื่อในความคิดของกรรมาธิการชุด สปท.คือทำงานสนองนายกรัฐมนตรี
ซึ่งมีทัศนคติที่เป็นลบกับสื่อมวลชน
กรรมาธิการสื่อ สปท.ยังหลงประเด็นการปฎิรูปสื่อ ไปใส่ใจเรื่องวิทยุสื่อสาร
เรื่องดาวเทียม ใช้เงินใช้งบประมาณไปดูงานในเรื่องเหล่านี้
ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับการปฎิรูปสื่อ และสุดท้ายก็สูญเปล่า ไม่ได้นำมาใช้ในงานปฎิรูปสื่อแต่อย่างใด
ตลอดระยะเวลา 1 ปี 10 เดือนในการทำงานของกรรมาธิการสื่อ
สปท.จึงเป็นความล้มเหลว เป็นความชะงักงันของการปฎิรูปสื่อ
ที่ขาดตอนจากการปฎิรูปสื่อในยุค สปช.และน่าเศร้าไปกว่านั้น พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร
ซึ่งมีความเข้าใจเฉพาะเรื่อง เอฟ 16 พูดเรื่องเอฟ 16 ในทุกเวทีเสวนาว่าด้วยการปฎิรูปสื่อ
ยังได้รับการแต่งตั้งมาเป็นกรรมการชุดสุดท้ายในการปฎิรูปสื่อด้วย
ถึงแม้จะมีความพยายามกู้สถานการณ์ กลับมาอยู่ในร่องในรอย
ของคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน แต่ก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว
คณะกรรมการชุดนี้ใช้ร่างกฎหมายใหม่ทั้งหมด เปลี่ยนหลักการใหม่
เปลี่ยนชื่อกฎหมายใหม่ โดยให้ความสำคัญกับองค์กรวิชาชีพสื่อ
แทนที่จะเป็นการใช้อำนาจรัฐ แต่ก็ได้แต่เสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเท่านั้น
การปฎิรูปสื่อ หาใช่การใช้อำนาจควบคุมบังคับสื่อไม่ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา เลือกคนมาปฎิรูปสื่อ ด้วยความคิดของบางคนโดยเฉพาะในชุด
สปท.ว่าจะต้องทำงานตอบสนองพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อทัศนคติของพล.อ.ประโยชน์เป็นเช่นนั้น
การปฎิรูปสื่อจึงหลงทิศ หลงทาง กู่ไม่กลับจนถึงวันนี้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น